- Details
- Category: ศิลปวัฒนธรรม
- Published: Saturday, 06 February 2016 17:28
- Hits: 5800
วธ.ชง ครม. 5 ยุทธศาสตร์ ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์
บ้านเมือง : พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (ปี 2560-2564) ระยะเวลา 5 ปี ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงการต่างประเทศ ตลอดจนคณะผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ในการจัดทำยุทธศาสตร์ ซึ่งบอร์ดภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติได้เห็นชอบแล้ว ตอนนี้แผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์ได้จัดทำแล้วเสร็จแล้วและ วธ. กำลังนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ
พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ ดังกล่าว เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยให้เป็นอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งระบบ อาทิ การผลิต การถ่ายทำการตลาด การพัฒนากฎหมาย การปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนส่งเสริมอุตสาหกรรม
ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ให้เป็นสื่อสำคัญในการบ่มเพาะความคิด และพฤติกรรมของเยาวชนและประชาชนรวมถึงเป็นสื่อในการเผยแพร่ภาพลักษณ์ วัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวของประเทศ โดยยุทธศาสตร์ฯ ที่จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบนั้นเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องเป็นระยะที่ 3 โดยได้บูรณาการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2552 โดยมี 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยให้เป็นมืออาชีพยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมและพัฒนาตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทย ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของงานภาพยนตร์และวีดิทัศน์
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมความร่วมมือในการลงทุนระหว่างประเทศ รวมธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย และยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยคาดว่าจะส่งผลให้มูลค่ารวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของประเทศไทยเติบโตต่อเนื่องไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปีและประชาชนมีจิตสำนึก เคารพและปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของผลงานภาพยนตร์และวีดิทัศน์เพิ่มมากขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ทั้งนี้ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมภาพยนตร์และ วีดิทัศน์ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาประสบความสำเร็จมาอย่างดี ในปี 2552 มีมูลค่าของอุตสาหกรรม (ไม่รวมรายได้จากธุรกิจแวดล้อม) 56,168 ล้านบาท ปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 77,512 ล้านบาท และในปี 2557 มีมูลค่ารายได้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในประเทศไทย เฉพาะส่วนการดำเนินธุรกิจทั่วไป 57,700 ล้านบาท ขณะที่ผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พบว่ามูลค่ารายได้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (รวมเกมออนไลน์ ธุรกิจเพลงภาพยนตร์ออนไลน์บริการที่เกี่ยวข้อง หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-books) และ แอพพลิเคชั่น) ประมาณ 342,300 ล้านบาท รวมมูลค่าของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในประเทศไทยประจำปี 2557 ประมาณ 400,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การจัดทำยุทธศาสตร์ครั้งนี้ได้นำข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายให้ วธ. ปรับมาตรฐานภาพยนตร์ละคร ฯลฯ ให้ทัดเทียมต่างประเทศในเรื่องสาระ เรื่องสร้างค่านิยมคนไทยใหม่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ความรักชาติ ให้ลดลักษณะสร้างความขัดแย้งสังคมไม่มีคุณธรรมทะเลาะเบาะแว้ง ฯลฯ ให้ประเทศไทยคนไทยมีความภาคภูมิใจโดยต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติค่านิยมโดยเร็ว โดยให้ดูแนวทางของประเทศเกาหลีและญี่ปุ่นว่าเขาทำภาพยนตร์ละครอย่างไร รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัฒนธรรมไทย และการผลักดันเพื่อเผยแพร่ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ ภาพยนตร์ชุด ไปยังตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น มาพิจารณากำหนดกลยุทธ์/มาตรการไว้ในยุทธศาสตร์ด้วย