กลายเป็นกระแสส่งต่อในโซเชียลมีเดีย เมื่อกลุ่มเฟซบุ๊ก Art historian ที่คุยเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะ มีผู้นำภาพพระปรางค์ยุคต้นอยุธยาของวัดเขารักษ์ จ.กาญจนบุรี ที่บูรณะอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการมาเผยแพร่ ก่อนจะแชร์ต่อๆ กันไป
โดยระบุว่าบูรณะอย่างไม่ถูกวิธีคือต่อเติมแท่งคอนกรีตเสริมเหล็กโดยรอบ เพื่อเตรียมสร้างครอบพระปรางค์องค์เก่า ทำให้เห็นเป็นโครงซีเมนต์แท่งหุ้มทับพระปรางค์ ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เนื่องจากเป็นห่วงว่าการบูรณะครั้งนี้จะเกิดความเสียหายขึ้นกับพระปรางค์เก่าแก่ และวัดยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
จึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของวัด พร้อมถามหาผู้ดูแลโดยตรงก็คือ สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี
ผู้สื่อข่าว "มติชน" จึงลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของ พระปรางค์ยุคต้นกรุงศรีอยุธยาที่วัดเขารักษ์ หมู่ 1 บ้านดอนแสลบ ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ทันที พบว่าพระปรางค์ถูกต่อเติมจริง แต่ไม่พบการดำเนินการก่อสร้างใดๆ คล้ายหยุดดำเนินการไว้ชั่วคราว เนื่องจากพบอุปกรณ์ถูกทิ้งไว้รอบบริเวณ
พระครูกาญจนคีรีรักษ์ เจ้าอาวาสวัดเขารักษ์บอกว่า ทางวัดบูรณะจริงเนื่องจากพระปรางค์มีสภาพทรุดเอียง วัดและชาวบ้านเป็นห่วงว่าพระปรางค์อาจล้มลงจึงร่วมกันบริจาคเงินเพื่อบูรณะ เริ่มตั้งแต่ปี 2553 แต่ได้หยุดการดำเนินงานใน 2555 เนื่องจากงบประมาณได้นำไปสร้างโรงเรียนจึงไม่เพียงต่อการนำมาบูรณะ อีกทั้งเมื่อปลายปี 2557 สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ยับยั้งการบูรณะ ด้วยเหตุผลว่าไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
"การบูรณะพระปรางค์เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยพระครูกาญจนประทีป เจ้าอาวาสองค์ก่อน สืบเนื่องมาถึงเมื่ออาตมาขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาสได้สานต่อ เหตุที่บูรณะเนื่องจากพระปรางค์ทรุดเอียงเพิ่มมากขึ้นทุกปี เกรงว่าจะล้มลงเหมือนโบราณสถานอื่นๆ" เจ้าอาวาสวัดเขารักษ์บอก และว่า เหตุใดที่ไม่แจ้งกรมศิลป์ก่อนบูรณะ เนื่องจากไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องแจ้ง อย่างไรก็ตาม ทางกรมศิลป์เคยมาขอขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ทางวัดไม่ยินยอม เพราะหากขึ้นทะเบียนแล้ว เมื่อจะซ่อมแซมหรือทำอะไรต้องแจ้งกรมศิลป์ก่อนไม่สามารถทำเองได้ จึงห่วงว่าจะล่าช้าและพังลง
เจ้าอาวาสวัดเขารักษ์บอกว่า พระปรางค์องค์นี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ดังนั้นไม่อาจยอมให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นได้ ส่วนตัวรู้สึกน้อยใจที่กรมศิลป์มุ่งบูรณะแต่วัดวาอารามที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่สนใจวัดเก่าย่านนี้ทั้งที่เป็นวัดเก่าเหมือนกัน
ขณะสนทนากับเจ้าอาวาสวัดเขารักษ์อยู่นั้น ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี นำโดย นายวิเศษ เพชรประดับ ผู้อำนวยการสำนักฯ และ นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 2 เดินทางมาที่วัดเพื่อพูดคุยกับวัดและชาวบ้าน มีนายเอกชัย เอี่ยมระยับ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี เข้าร่วมหารือ รวมถึงตัวแทนชาวบ้านกว่า 10 ราย อาทิ นายสุชาติ มากมาย ผู้ใหญ่บ้านดอนทวีทรัพย์ หมู่ 19 และ นายนิพน แซ่เสี่ยง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11 เป็นต้น
โดยนายวิเศษบอกว่า ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโบราณสถานตามวัดต่างๆ ในพื้นที่เป็นประจำ เมื่อพบว่าทางวัดมีการบูรณะผิดวิธี ได้ทำเรื่องยับยั้งตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 และทำหนังสือแจ้งอธิบดีกรมศิลปากรเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา
ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขึ้นทะเบียน พระปรางค์วัดเขารักษ์เป็นโบราณสถาน สำหรับการดำเนินการต่อไปคือ ต้องรื้อถอนส่วนต่อเติมออกทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างเร็วที่สุดในเดือนตุลาคม จากนั้นจึงเริ่มการบูรณะโดยเร่งเสริมความมั่นคง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการทรุดเอียง แล้วอาจปรับภูมิทัศน์โดยรอบ เพื่อส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยว" นายวิเศษกล่าว และว่า ทางสำนักฯเข้าใจในเจตนาที่ดีของทางวัดที่มีความเป็นห่วงพระปรางค์ว่าจะล้มลง แต่การบูรณะที่ถูกต้องจะต้องคงไว้ซึ่งสภาพเดิมให้มากที่สุด ไม่ใช่การต่อเติมหรือสร้างครอบ กรมศิลปากรไม่ได้นิ่งนอนใจ จะเร่งดำเนินการอนุรักษ์อย่างถูกหลักวิชาการให้เร็วที่สุด จะคุยทำความเข้าใจกับวัดและชาวบ้าน เพื่อหารือทางออกร่วมกัน
บรรยากาศการหารือเป็นไปอย่างคึกคัก ชาวบ้านได้สอบถามข้อสงสัยและแสดงความคิดเห็นมากมาย อาทิ นางศศิพรรณ บุรกูล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 20 บอกว่าชาวบ้านอยากขอความมั่นใจว่า หากบูรณะพระปรางค์แล้วจะไม่รื้อถอนสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคเงินสร้างขึ้น อาทิ วิหารที่อยู่ทางด้านหน้าของปรางค์
ชาวบ้านบางรายสอบถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้างครอบปรางค์ตามความตั้งใจเดิม เพราะเห็นตัวอย่างจากเจดีย์ยุทธหัตถี ซึ่งได้รับการชี้แจงว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น เพราะปรางค์ที่วัดเขารักษ์ยังมีโครงสร้างที่สมบูรณ์ ต่างจากเจดีย์ยุทธหัตถีซึ่งเหลือเพียงซากเท่านั้น
ท้ายที่สุดการเจรจาได้ข้อสรุปร่วมกันที่จะรื้อถอนส่วนต่อเติมที่บูรณะเอาไว้ออก เพื่อที่จะสามารถประเมินค่าใช้จ่ายในการบูรณะตามหลักวิชาการได้ ซึ่งจะดำเนินการได้อย่างเร็วที่สุดในเดือนตุลาคม 2558 รวมถึงจะปรับภูมิทัศน์โดยรอบเพื่อส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ในการเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ทั้งนี้ขั้นตอนทั้งหมดจะนำมาปรึกษาชาวบ้านและทางวัดก่อนทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจกับทุกฝ่ายในการดำเนินงาน
ทั้งนี้จากการสืบค้นรายงานการสำรวจข้อมูลวัฒนธรรมสมัยโบราณในลุ่มน้ำทวน (จ.กาญจนบุรี)-จระเข้สามพัน (จ.สุพรรณบุรี) ที่สนับสนุนโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) พบว่า เขารักษ์ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ต.ดอนแสลบ อยู่ไม่ห่างจากรางหวายซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำจระเข้สามพัน ห่างจากตัวเมืองอู่ทองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 17 กิโลเมตร มีโบราณสถานเก่าแก่ที่สำคัญมากใน จ.กาญจนบุรี คือ พระปรางค์และกลุ่มศาสนสถานบนยอดเขารักษ์ ทางวัดได้บูรณะเมื่อ พ.ศ.2532 โดยมีลักษณะสถาปัตยกรรมดังนี้
พระปรางค์ประธานมีขนาดใหญ่กว่า 15 เมตร ตั้งอยู่บนยอดเขารักษ์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ อยู่ในผังเพิ่มมุมไม้ยี่สิบแปด มีมุมประธานขนาดใหญ่ ไม่มีบันไดทางขึ้น ฐานเป็นฐานบัวลูกฟักขนาดใหญ่ซ้อนกัน 3 ฐาน รองรับเรือนธาตุ ซึ่งประดับจระนำซุ้มลด 2 ชั้นทุกด้าน ภายในจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นศิลปกรรมสมัยปัจจุบัน ส่วนยอดเป็นชั้นวิมานซ้อนขึ้นไป ประดับด้วยกลีบขนุนและบันแถลง ซึ่งไม่มีลวดลายปูนปั้นประดับ มีสิ่งที่น่าสังเกตขึ้นพระปรางค์องค์นี้ไม่มีชั้นเชิงบาตร และไม่มีประติมากรรมแบก โดยแทนที่เชิงบาตรด้วยจระนำซุ้มลดชั้นที่สอง ซึ่งยื่นเลยส่วนเรือนธาตุขึ้นไปตั้งอยู่ในส่วนยอด แทนที่ตำแหน่งของบันแถลง และยอดของซุ้มลดยังยื่นล้ำขอบหน้ากระดานชั้นล่างของช่องวิมานชั้นถัดขึ้นไปอีกด้วย ส่วนของประติมากรรมแบกถูกแทนที่ด้วยกลีบขนุน
จากลักษณะทางสถาปัตยกรรม พบว่าพระปรางค์บนยอดเขารักษ์มีลักษณะบางประการใกล้เคียงกับพระปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนต้น เช่น การมีมุมประธานขนาดใหญ่ การใช้ฐานบัวลูกฟักขนาดใหญ่ เค้าโครงขององค์ปรางค์ที่อ้วนป้อม แต่ปลายยอดรวบเข้าค่อนข้างแหลม แต่มีลักษณะแบบท้องถิ่น ซึ่งพบร่วมกันกับปรางค์ในเขตจังหวัดกาญจนบุรีและพื้นที่อำเภอพนมทวน เช่น การไม่มีประติมากรรมแบกที่เชิงบาตร และการสร้างปรางค์องค์เดียว ไม่มีปรางค์บริวาร ลักษณะเช่นนี้พบที่พระปรางค์พระธาตุศาลาขาวและวัดขุนแผน เป็นต้น
ปัจจุบันพระปรางค์บนยอดเขารักษ์ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน แต่ทางวัดได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยการทาสีแดงทั่วทั้งองค์ สามารถมองเห็นได้แต่ไกล
สำหรับการเจรจาเรื่องบูรณะสำเร็จลงได้ด้วยดี ต้องชื่นชมสำนักฯสุพรรณ ที่เร่งเข้าไปทำความเข้าใจกับทางวัดและชาวบ้าน
แต่ปัญหาลักษณะนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่อาจจะเกิดขึ้นกับวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องหาทางกระจายความรู้ สร้างความเข้าใจ และหาทางแก้ไขร่วมกัน!!