- Details
- Category: ศิลปวัฒนธรรม
- Published: Thursday, 11 April 2024 12:13
- Hits: 9962
ยูโอบี ประเทศไทย ร่วมกับ BACC เปิดโครงการ Audience Building สร้างผู้นำชมอาสาเชื่อมโยงผู้ชมสู่โลกศิลปะ พัฒนาระบบนิเวศศิลป์ไทยอย่างยั่งยืน
เพราะ “ผู้ชม” ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนวงการศิลปะ การสร้างกลุ่มผู้ชมที่มีความรู้ความเข้าใจในงานศิลปะ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างสุนทรียภาพเชิงลึกในการชมงานศิลปะแล้ว ยังมีส่วนสนับสนุนให้วงการศิลปะของประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ในฐานะผู้นำสนับสนุนศิลปะในเอเชีย ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) จัดโครงการ “Audience Building: BACC x UOB Volunteer Docent” เพื่อพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครผู้นำชมงานศิลปะในรูปแบบ “เพื่อนพาเพื่อนชม” โดยมุ่งเชื่อมโยงให้เข้าถึงความหมายและมุมมองของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน ผ่านการนำชมจากอาสาสมัครที่ผ่านการอบรม เพื่อ ยกระดับประสบการณ์การชมงานศิลปะ สร้างการมีส่วนร่วม และกระตุ้นการต่อยอดความคิดจากสารที่ศิลปินต้องการสื่อผ่านผลงาน
นางสาวธรรัตน โอฬารหาญกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “เราเชื่อว่าความยั่งยืนของวงการศิลปะ ต้องอาศัยความแข็งแกร่งทั้งฝั่งศิลปินผู้สร้างสรรค์และฝั่งผู้ชมที่เข้าถึงคุณค่าของงานศิลปะผ่านมุมมองของศิลปิน โครงการ “Audience Building: BACC x UOB Volunteer Docent” มุ่งสร้างประสบการณ์การชมงานศิลปะที่ลึกซึ้งและสร้างความหมาย กระตุ้นให้ผู้ชมขยายขอบเขตความคิดจากสารที่ศิลปินต้องการถ่ายทอดผ่านผลงาน นำไปสู่การเห็นคุณค่าของศิลปะและทำให้ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันมากขึ้น การขยายฐานผู้ชมที่ชื่นชอบศิลปะยังเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินพากเพียรสร้างสรรค์ผลงาน และส่งผลดีต่อการจำหน่ายผลงานศิลปะและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อันเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศศิลป์ที่ช่วยหนุนเสริมให้วงการศิลปะไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว”
สร้าง “ผู้นำชม” ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวศิลปะอย่างมีชีวิตชีวา
โลกศิลปะเต็มไปด้วยความคิดและเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ภายใต้สีสันและรูปทรง ผู้ชมเปรียบเสมือนนักเดินทางที่พร้อมผจญภัยในโลกแห่งศิลปะ แต่การเดินทางจะสนุกและมีความหมายยิ่งขึ้น เมื่อมี “ผู้นำชม” ที่มีความรู้และความเข้าใจคอยให้ข้อมูลและชี้ชวนให้สำรวจ โครงการ Audience Building: BACC x UOB Volunteer Docent จึงมุ่งสร้างผู้นำชมที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวศิลปะได้อย่างมีชีวิตชีวา ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการที่พัฒนาทั้งความรู้ด้านศิลปะและทักษะการสื่อสาร โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ มาถ่ายทอดเคล็ดลับการนำชมที่ดี ได้แก่ อาจารย์อนิวัฒน์ ทองสีดา อาจารย์สอนครูศิลปะ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, คุณกานต์ หงษ์ทอง Storyteller เจ้าของเพจห้องเรียนนักเล่าเรื่อง 2018, คุณเมธาวี กิตติอาภรณ์พล นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ ฝ่ายกิจกรรมการศึกษา หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร และ คุณศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ Artistic Director ของการประชุมนานาชาติทางศิลปะการแสดงแห่งกรุงเทพมหานคร (BIPAM) และนักแสดงมากความสามารถ
เพราะโลกของศิลปะไม่มีการจำกัด วัย เพศ และการศึกษา โครงการในครั้งที่ผ่านมาจึงได้รับการตอบรับจากอาสาสมัครที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา คนทำงาน และผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุ คุณบรรลือศักดิ์ แซ่ตั้ง หรือคุณนิก อาสาสมัครวัยเกษียณ อดีตครูแนะแนวและสอนคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า “โครงการนี้ดี มีประโยชน์มากๆ ครับ ช่วยให้คนได้สัมผัสศิลปะและขยายแวดวงศิลปะให้กว้างขึ้น ผมชอบงานศิลปะ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้มาหอศิลปกรุงเทพฯ และคิดว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้และได้แบ่งปันความรู้ประสบการณ์กับคนอื่นๆ”
พรรณธิชา กฤตยากรนุพงศ์ หรือคุณเนส นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หนึ่งในผู้นำชมอาสาที่ได้รับประกาศนียบัตรจากโครงการนี้ กล่าวว่า “งานนำชมไม่ใช่เรื่องยาก แต่เป็นโอกาสที่ดีในการฝึกปฏิบัติจริง โดยนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะทักษะการเล่าเรื่อง (Storytelling) ซึ่งช่วยให้การนำชมน่าสนใจ สร้างความเข้าใจด้วยเนื้อหาที่เหมาะกับกลุ่มผู้ชม และเน้นการสร้าง Engagement กับผู้ชมโดยเฉพาะนิทรรศการ Interactive Art ที่ต้องการให้ผู้ชมร่วมสัมผัสประสบการณ์ หากไม่มีการนำชม ผู้ชมอาจจะไม่กล้าเข้าไปมีส่วนร่วมหรือไม่เข้าใจผลงาน การนำชมจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความเข้าใจในงานศิลปะ และทำให้ผู้ชมเพลิดเพลินกับนิทรรศการมากขึ้น”
โครงการ “Audience Building: BACC x UOB Volunteer Docent” จะจัดอบรมผู้นำชมอาสาสมัครอีกครั้งในเดือนเมษายน และมิถุนายนนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถต่อยอดเป็นอาสาสมัครนำชมนิทรรศการที่หอศิลปกรุงเทพฯ ระหว่างวันพฤหัส – อาทิตย์ ตลอดระยะเวลาโครงการ ผู้ปฏิบัติหน้าที่นำชมนิทรรศการวันละ 5 ชั่วโมง รวมไม่น้อยกว่า 6 วัน หรือ 30 ชั่วโมง จะได้รับประกาศนียบัตรจากหอศิลปกรุงเทพฯ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายการศึกษา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โทร 0 2214 6630 ต่อ 519 หรือส่งอีเมลไปที่ [email protected]
4414