- Details
- Category: ศิลปวัฒนธรรม
- Published: Thursday, 02 November 2023 18:36
- Hits: 12597
'มูลนิธิอมตะ' เปิดผลรางวัลนักเขียนอมตะ ปี 2566 ชู 'โบตั๋น'ผลงานสร้างสรรค์สังคมนับ 100 เรื่อง
มูลนิธิอมตะประกาศผลรางวัล 'นักเขียนอมตะ' ประจำปี 2566 ยกย่อง 'สุภา สิริสิงห'นามปากกา 'โบตั๋น' คว้า 'นักเขียนอมตะ' ครั้งที่ 10 ประจำปี 2566 ด้วยผลงานเชิงสร้างสรรค์นับ 100 เรื่อง สะท้อนถึงปัญหาสังคม ผู้หญิง เด็กและเยาวชน เพื่อให้ตระหนักถึงสถาบันครอบครัว ที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญ ผลงานได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งได้รับการถ่ายทอดเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์
นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ (AMATA FOUNDATION)เปิดเผยว่า ผลการคัดสรร รางวัลนักเขียนอมตะ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2566 คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ นางสุภา สิริสิงห นามปากกา โบตั๋น ได้รับรางวัลนักเขียนอมตะ ประจำปี 2566 จะได้รับโล่รางวัลและเงินรางวัลจำนวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน)
ในปีนี้ มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทางด้านวรรณศิลป์ จำนวน 7 ท่าน ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ประธานกรรมการ, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี (ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์), นางชมัยภร บางคมบาง (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์), รองศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร, นางกนกวลี กันไทยราษฎร์ (พจนปกรณ์), ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา กรรมการ และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุปาณี พัดทอง กรรมการและเลขานุการ โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้
ข้อ 1 เป็นนักเขียนสัญชาติไทยและมีชีวิตอยู่ในวันที่เสนอชื่อ
ข้อ 2 มีผลงานเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องเป็นภาษาไทย
ข้อ 3 ผลงานดังกล่าวต้องมีคุณค่าสร้างสรรค์สังคมและมวลมนุษยชาติ
นางสุภา สิริสิงห หรือ โบตั๋น เป็นผู้ได้รับการยอมรับและชื่นชมยกย่องว่าเป็นนักเขียนสตรีผู้สร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่องยาวนานกว่า 60 ปี ด้วยผลงานการประพันธ์ที่ได้รับความนิยม ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น วรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน รวมทั้งงานแปล นวนิยายจำนวนมากมีผู้นำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เช่น ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด, ทองเนื้อเก้า, ตราไว้ในดวงจิต, ผลงานหลายเรื่องได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติ เช่น นวนิยายเรื่องจดหมายจากเมืองไทย (2512) ได้รับรางวัล ส.ป.อ. (สนธิสัญญาป้องกันเอเชียอาคเนย์) และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากกว่า 10 ภาษา
ผลงานที่โดดเด่นของ 'โบตั๋น' สะท้อนมุมมองปัญหาสังคมร่วมสมัย เช่น ปัญหาผู้หญิง ปัญหาเด็กและวัยรุ่น ปัญหาคนรากหญ้า โดยสื่อสาระสำคัญว่าสังคมจะจรรโลงอยู่ได้ด้วยคุณความดีที่เกิดจากการยึดมั่นในความกตัญญู การเชิดชูการทำงานและความมุมานะต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ อย่างอดทน อีกทั้ง ยังทำให้ผู้อ่านตระหนักว่าครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดที่จะกำหนดพฤติกรรมและอนาคตของเยาวชน
ทั้งนี้ มูลนิธิอมตะได้ประกาศยกย่อง 'นักเขียนอมตะ' ไปแล้ว 10 คน ได้แก่ นายศักดิชัย บำรุงพงศ์ นามปากกา 'เสนีย์ เสาวพงศ์', นายโรจ งามแม้น นามปากกา 'ปลว สีเงิน', นายโกวิท เอนกชัย นามปากกา 'เขมานันทะ', นายสมบัติ พลายน้อย นามปากกา ‘ส.พลายน้อย’, พระไพศาล วิสาโล, นายคำสิงห์ ศรีนอก นามปากกา ‘ลาว คำหอม’, นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ นามปากกา ‘พนมเทียน’, นายอาจินต์ ปัญจพรรค์ นางสุกัญญา ชลศึกษ์ นามปากกา ‘กฤษณา อโศกสิน’และนายอัศศิริ ธรรมโชติ สำหรับปี 2566 นี้ มูลนิธิอมตะ ได้ประกาศให้ ‘นางสุภา สิริสิงห’ นามปากกา ‘โบตั๋น’ได้รับรางวัล ซึ่งจะมีพิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567
รางวัล 'นักเขียนอมตะ'ก่อตั้งขึ้นโดยมูลนิธิอมตะ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมบุคคลที่ทำงานด้านวรรณกรรม บุคคลที่สร้างคุณค่าผ่านงานประพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม รางวัล 'นักเขียนอมตะ' จึงถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่เปี่ยมด้วยคุณค่า มาตรฐาน และคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ อิสระ และเชิดชูเกียรติประวัตินักเขียนไทยที่มีความสามารถให้ปรากฏ และถือเป็นกำลังใจแก่นักเขียนไทย ผู้อุทิศตน ทุ่มเท สร้างสรรค์ผลงาน ที่มีคุณค่าอันควรแก่การนำผลงานเผยแพร่สู่สากล