- Details
- Category: ศิลปวัฒนธรรม
- Published: Wednesday, 07 September 2022 19:43
- Hits: 1527
ชูงานช่างท้องถิ่นเป็นรากแก้วของภูมิปัญญาไทย หนุนพัฒนาความรู้ด้านศิลปะควบคู่งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมเยาวชน คนในพื้นที่ร่วมสืบสานอัตลักษณ์ท้องถิ่น
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดรายการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ในรายการ Future Talk by NXPO ครั้งที่ 13 ในประเด็น “ภูมิปัญญาและงานช่างท้องถิ่น “ตาน้ำ” ของวัฒนธรรมไทย” โดยรายการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร. สิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน และผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ธัชชา ผศ.ดร. ชวลิต ขาวเขียว อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และนายสักก์สีห์ พลสันติกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดน่าน มาร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช.
ดร. กาญจนา กล่าวว่า ประเทศไทยมีรากฐานทางอารยธรรม ทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ที่สืบสานตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ ซึ่งทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ถือเป็นตาน้ำหรือเป็นต้นน้ำที่สำคัญที่จะนำไปสู่โอกาสในการทำงานและการสร้างการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ริเริ่มการจัดตั้งวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ธัชชา ขึ้นมา ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาบุคลากรทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ นำไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติ โดยโครงสร้างของธัชชา ประกอบด้วย สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา, สถาบันโลกคดีศึกษา, สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง, สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น
ด้าน ดร. สิริกร กล่าวว่า สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นก่อตั้งก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยกว่า 165 คน ทำงานกับเครือข่ายพื้นที่ไม่น้อยกว่า 90 แห่ง และยังผลักดันให้เกิดผู้สืบสานงานช่างศิลป์ ผ่านการฝึกอบรมไม่ต่ำกว่า 200 คน ด้วยหลักสูตร 47 หลักสูตร เกิดบทเรียนออนไลน์ 8 เรื่อง และยังสามารถสานต่อลมหายใจองค์ความรู้ที่กำลังจะสูญหายไปไม่ต่ำกว่า 5 สาขา และมีเครือข่าย 17 มหาวิทยาลัย 12 วิทยาลัยชุมชน ในพื้นที่ 23 จังหวัดครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งการทำงานร่วมกับเครือข่ายในกระทรวงต่างๆ รวมถึงวิทยาลัยชุมชน ทำให้เห็นแนวทางการต่อยอดเพิ่มมูลค่าและสร้างความเข้มแข็งให้กับงานช่างศิลป์ท้องถิ่น โดยเฉพาะการนำเอาความรู้ทางด้านศิลปะมาผนวกกับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีมูลค่าสูงขึ้น มีความร่วมสมัยมากขึ้น เช่น การศึกษาวิจัยว่าวัสดุใดที่คงทนต่อการนำมาผลิต การหาแนวทางย้อมสีธรรมชาติให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะตอบโจทย์การต่อยอดทางศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นแล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้มากขึ้นจากเดิมเป็นเท่าตัว ถือเป็นการรักษารากแก้วของภูมิปัญญาไทย ให้คงอัตลักษณ์ของชาติไว้ต่อไป
ดร. สิริกร กล่าวต่อว่า การดำเนินการ 2 ปีต่อจากนี้ เชื่อว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น สิ่งที่ทำมาแล้วบรรลุเป้าหมายก็จะเดินหน้าทำต่อไปให้เข้มแข็งขึ้น ขยายพื้นที่ไปในจังหวัดอื่นๆ ให้งานวิจัยเกิดผลอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยต้องมีการอบรม สร้างความเข้าใจคู่ขนานกันไป ทั้งในกลุ่มประชาชน บุคคลทั่วไป ช่างศิลป์ หรือกลุ่มเด็ก เยาวชน ที่มีแนวคิดจัดทำหลักสูตรนอกระบบรองรับ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ยังได้จัดทำระบบ อีเลิร์นนิ่ง (e-learning) เพื่อสอนให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้การวาดลวดลายงานช่างศิลป์ในหลายประเภทด้วย ดร. สิริกร ยังได้เน้นย้ำว่า หากทำแบบนี้ต่อไป จะเห็นผลการสืบสานต่อยอดงานช่างศิลป์ท้องถิ่น ทำให้รากแก้วของแผ่นดินมีความแข็งแรงมากขึ้น และจะส่งผลไปถึงระบบช่างศิลป์ท้องถิ่นของประเทศได้ในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการหรือประชาชนที่สนใจว่าสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นได้ทำอะไรในพื้นที่ใดบ้าง สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.thaiartisan.org
ผศ.ดร. ชวลิต กล่าวว่า ได้ทำงานอยู่ในส่วนของสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ซึ่งสอดรับกับงานของสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น กล่าวคือ เป็นการศึกษารากเหง้าทางภูมิปัญญาตัวตนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความหลากหลาย นำไปสู่ความมั่งคั่งในด้านงานศิลปะ และแนวทางการสืบทอดดีเอ็นเอช่างศิลป์ท้องถิ่น ที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง เป็นภูมิปัญญาที่ไม่ด้อยไปกว่าใครในโลก หากได้มีการยกระดับผลิตภัณฑ์ การออกแบบให้คงทน และสวยงามก็จะสามารถไปต่อได้ไกล แต่ก็ต้องอาศัยการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง จริงใจ และต่อเนื่อง
ดร. ชวลิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการสร้างคนผ่านการจัดทำหลักสูตร ที่เห็นได้ชัดคือหลักสูตรการจัดการทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันผู้ที่สนใจเรียนในด้านนี้น้อยลง เปลี่ยนไปสนใจหลักสูตรในระยะสั้น มหาวิทยาลัยจึงต้องมองถึงการทำหลักสูตรระยะสั้นสำหรับคนกลุ่มนี้ โดยเน้นประเด็นสำคัญ ในการนำองค์ความรู้มาถ่ายทอด แต่ให้สามารถเก็บสะสมผลการเรียนไว้ในธนาคารหน่วยกิต (credit bank) สามารถรวบรวมไว้ขอเป็นใบประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรได้ ดร. ชวลิต ยังได้ชี้ให้เห็นว่า การผลักดันงานช่างศิลป์ท้องถิ่นในสถาบันอุดมศึกษานั้น มหาวิทยาลัยควรมองหา 3 สิ่ง คือ 1) ความรู้ ทั้งจากมหาวิทยาลัย และจากชุมชน จากพื้นที่ 2) จินตนาการ การใส่ความคิดสร้างสรรค์เพิ่มเติมเข้าไป และ 3) การสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับคนในชุมชน เด็ก เยาวชน ผู้ประกอบการ เชื่อว่า ถ้าทุกภาคส่วนเดินหน้าไปด้วยกันจะเกิดพลังในการขับเคลื่อนคุณค่าของต้นน้ำทางศิลปวัฒนธรรมต่อไปได้
นายสักก์สีห์ กล่าวว่า จังหวัดน่านมีวิทยาลัยชุมชน ที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพียงแห่งเดียวที่ทำงานเป็นหลักทางด้านศิลปวัฒนธรรมโดยตรง สิ่งที่เรียนรู้ได้จากกลไกการทำงาน จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน พบว่า การมุ่งเป้าทำงานสำเร็จ ประกอบด้วยความร่วมมือ 5 ส่วน หรือ เบญจภาคี คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน ภาควิชาการ และที่สำคัญคือภาคประชาสังคม ที่ต้องมีการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันในพื้นที่
“ทุกเมืองต้องการสเปซหรือพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึงตัวตนหรือเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างให้เกิดแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนหรือคนในชุมชน ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นเราแทบไม่ต้องลงทุนสร้าง เพราะเรามีพื้นที่อยู่แล้ว เช่น วัด ที่สามารถเป็นศูนย์เรียนรู้ได้ หรือบ้านของช่างศิลป์ท้องถิ่นเอง ที่สามารถผูกโยงเข้ากับโรงเรียน ทำให้นักเรียนได้ซึมซับสัมผัสพื้นที่จริง เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนนอกห้องเรียน สร้างแรงบันดาลใจในการสืบสานต่อยอดงานในพื้นที่ สิ่งที่สำคัญในการทำเรื่ององค์ความรู้ในพื้นที่มากกว่ารายได้หรือผลิตภัณฑ์ ถ้าเราสามารถเพิ่มสเปซเหล่านี้ได้ จะทำให้องค์ความรู้เป็นส่วนหนึ่งในการกล่อมเกลาคนในพื้นที่ด้วยศิลปะ การมีศิลปะอยู่ในจิตใจของผู้คนทำให้บ้านเมืองเป็นเมืองแห่งความสุข น่าอยู่ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจตามมาอีกมากมาย อีกทั้งยังเป็นหนึ่งเป้าหมายปลายทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นได้อีกด้วย” นายสักก์สีห์ กล่าว
ดร. กาญจนา ยังได้กล่าวถึงบทบาทของ สอวช. ที่ได้มีโอกาสทำงานกับทีมธัชชา รวมถึงสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ที่ถือเป็นรากฐานสำคัญ ที่ต้องทำให้เกิดความมั่นคง ซึ่ง กระทรวง อว. เห็นความสำคัญในการสืบสานภูมิปัญญางานช่างท้องถิ่น ซึ่งเปรียบเสมือนตาน้ำสำคัญของวัฒนธรรมไทย ต้องมีการเชื่อมโยงการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ไม่ให้ตาน้ำนี้เหือดแห้ง และคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจให้กับชุมชนและสังคมต่อไป
นอกจากนี้ สอวช. ยังได้มีการทำบันทึกตกลงความร่วมมือร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม ให้ความสำคัญในมิติของนวัตกรรมทางวัฒนธรรม (cultural innovation) นำเอาระบบนวัตกรรมเข้ามาเชื่อมโยงกับระบบด้านวัฒนธรรม ทั้งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย หรือการทำแผนที่ทางวัฒนธรรม (cultural map) ในด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง เป็นการทำงานและการบูรณาการในด้านข้อมูลร่วมกัน และเชื่อมโยงลงไปถึงในระดับพื้นที่ด้วย
A9282