- Details
- Category: ศิลปวัฒนธรรม
- Published: Thursday, 25 February 2021 19:05
- Hits: 4180
เปิดคำประกาศเกียรติคุณ ประวัติ 12 ศิลปินแห่งชาติ 2563
กระทรวงวัฒธรรมเผยแพร่คำประกาศเกียรติคุณและประวัติศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2563 สาขาทัศนศิลป์ จำนวน 4 คน สาขาวรรณศิลป์ จำนวน 2 คน และสาขาศิลปะการแสดง จำนวน 6 คน รวม 12 คน
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และรองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2563 ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พร้อมเผยแพร่คำประกาศเกียรติคุณและประวัติศิลปินแห่งชาติ 2563 ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 12 คน
ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2563
ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 ที่จังหวัดลพบุรี ปัจจุบันอายุ 84 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การอำนวยการสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Mr.Corrado Feroci) เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท กรุงเทพมหานคร ต่อมาได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเพาะช่าง กรุงเทพฯ จากนั้นได้ลาศึกษาต่อปริญญามหาบัณฑิตทางทัศนศิลป์ ณ สถาบันศิลปะโอติส มหานครลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อสำเร็จการศึกษาได้กลับมาสอนที่วิทยาลัยเพาะช่าง จากนั้น จึงได้โอนย้ายไปสอนที่ภาควิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานด้านทัศนศิลป์ จิตรกรรม และประติมากรรม ไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทั้งนักสะสมชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมถึงสถาบันศิลปะทั้งของรัฐและเอกชน ด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการศึกษา ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร สร้างสรรค์ผลงานทางด้านวิชาการทัศนศิลป์ สำหรับการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาที่สำคัญ ได้แก่ ตำราศิลปะตะวันตก ตำราศิลปะตะวันออก ตำราสุนทรียศาสตร์ และอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการศึกษาทางด้านทัศนศิลป์ รวมทั้งได้เขียนบทความเกี่ยวกับศิลปะและทัศนศิลป์ให้กับสำนักพิมพ์ชั้นนำไว้เป็นจำนวนมาก
ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจรเป็นผู้ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจทางด้านทัศนศิลป์ โดยเคยได้ดำรงตำแหน่งประธานชมรมแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย นายกสมาคมศิลปกรรมไทย เป็นคณะกรรมการตัดสินงานประกวดศิลปกรรม และการประกวดศิลปกรรมที่จัดขึ้นโดยภาคเอกชน อีกทั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาตำแหน่งทางด้านวิชาการสาขาทัศนศิลป์ ได้รับการยกย่องให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งทางวิชาการอื่นๆ อีกมากมาย
ตลอดชีวิตการสร้างสรรค์ผลงานและการรับราชการอันยาวนานของศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร แสดงให้เห็นถึงความรัก ความผูกพัน และความปรารถนาดีต่อวงการศิลปะ นับเป็นตัวอย่างให้แก่บุคคลรุ่นหลังในแวดวงศิลปะให้มีความรัก ความผูกพัน ความศรัทธาต่อวิชาชีพ สามารถกล่าวได้ว่าศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร เป็นผู้มีคุณสมบัติเป็นที่ประจักษ์ทั้งทางด้านการศึกษาและวงการศิลปะ
ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2563
นายอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม-สื่อผสม) พุทธศักราช 2563
นายอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2498 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันอายุ 65 ปี เริ่มศึกษาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาศิลปบัณฑิตและระดับปริญญา ศิลปมหาบัณฑิต สาขาจิตรกรรม จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อมาได้รับทุนการศึกษาต่อที่สถาบันศิลปแห่งเมืองคราคูฟ ณ ประเทศโปแลนด์
ในปี พ.ศ. 2527 นายอำมฤทธิ์ สร้างชื่อเสียงจากจิตรกรรมชุด “เงาสะท้อน” ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 30 ผลงานชุดนี้เป็นศิลปะนามธรรมเหมือนจริง ซึ่งจุดเปลี่ยนการทำงานครั้งสำคัญเมื่อนายอำมฤทธิ์สร้างงานชุด “จิตรกรรมสื่อผสม” จากวัสดุสำเร็จรูปทับซ้อนในจิตรกรรม อีกทั้งในปี พ.ศ. 2534 นายอำมฤทธิ์ได้ร่วมงานโครงการศิลปะและสิ่งแวดล้อมกับศิลปินไรเนอร์วิเทิลบอนด์ ชาวเยอรมันผู้มีชื่อระดับโลก นายอำมฤทธิ์ได้เริ่มนำวัสดุจากธรรมชาติมาสื่อความหมายใหม่ และต่อมาได้หันเห ความสนใจมุ่งมั่นทำงานศิลปะเชิงความคิด โดยการใช้สื่อใหม่ๆ เช่น ภาพถ่าย วีดิโอ แสงสีจากไฟฟ้า เป็นต้น การใช้สื่อใหม่กับวัสดุธรรมชาติสื่อความหมายได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในผลงานชุด “เป็นทราย” และชุด “ความทุกข์” เนื่องจากศิลปินสนใจคำสอนของท่านพุทธทาส และเป็นการค้นพบแนวใหม่ ศิลปะกับสื่อทางจิตวิญญาณ
นายอำมฤทธิ์ เป็นอาจารย์สอนศิลปะ และศิลปินผู้อุทิศตนใช้สื่อศิลปะสร้างประโยชน์เพื่อสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศมากว่า 20 ปี ในการเสนอแนวคิดพื้นที่กับกาลเวลาในสภาวะของการเปลี่ยนผ่านในสังคมปัจจุบัน นายอำมฤทธิ์จึงได้รับเชิญให้ร่วมแสดงงานครั้งสำคัญระดับโลก เช่น เวนิส เบียนลาเล่ และประเทศต่างๆ มากว่า 40 ปี จนเป็นที่ประจักษ์ชัด และยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะศิลปินผู้อุทิศตนเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างแท้จริง
นายอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม-สื่อผสม) พุทธศักราช 2563
นายประภากร วทานยกุล
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) พุทธศักราช 2563
นายประภากร วทานยกุล เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2497 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 66 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาตรมหาบัณฑิตจาก The Catholic University of America, Washington D.C., U.S.A.
นายประภากร วทานยกุล มีผลงานที่สร้างชื่อเสียงคือโครงการมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม และโครงการโรงอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ยังมีผลงานในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจีน เป็นต้น
นายประภากร วทานยกุล ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากการประกวดออกแบบอาคารที่ทำการกระทรวงต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา และรางวัลอื่นๆ ที่สำคัญ อาทิ โครงการ “บ้านสวนสงบ” โครงการ “บียู ไดมอนด์” มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาปัตยกรรมดีเด่นระดับนานาชาติ The ARCASIA Awards for Architecture จากสมาคมสถาปนิกเอเชีย และได้รับยกย่องให้เป็นสถาปนิกดีเด่นด้านวิชาชีพจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นนิสิตเก่าดีเด่นจาก คณะสถาปัตยกรรมศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายประภากร วทานยกุล เป็นสถาปนิกผู้สร้างสรรค์และมีความรักในอาชีพสถาปนิก โดยมีหลักคิดในการทำงานออกแบบที่เข้าถึงในรายละเอียดของทุกๆ ส่วนของงาน มีแนวคิดว่างานสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์จะต้องเป็นการออกแบบร่วมกันของงานทุกศาสตร์ไม่แตกต่างด้วยขนาด ประเภทของงาน และต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม มีความกระตือรือร้นในงานออกแบบที่ได้ทำทุกโครงการ มีพลังที่จะสร้างสรรค์และมีความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้ที่จะก้าวเข้ามาในเส้นทางของการเป็น “ช่าง” เป็น “สถาปนิก”
นายประภากร วทานยกุล จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) พุทธศักราช 2563
นายสำเริง แดงแนวน้อย
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-แกะสลักไม้) พุทธศักราช 2563
นายสําเริง แดงแนวน้อย เกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 82 ปี จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ได้เข้าศึกษาวิชาช่างไม้ที่โรงเรียนช่างไม้วัดสระเกศ (ปัจจุบันคือวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร) จากนั้นได้ศึกษาเกี่ยวกับงานด้านช่างเขียนและงานแกะสลักไม้เพิ่มเติมจากคุณลุง ครูมงคล เหมศรี จนได้รับถ่ายทอดองค์ความรู้มาทั้งการเขียนแบบ งานไม้ งานช่างเขียน และงานแกะสลัก เริ่มเข้ารับราชการที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร พ.ศ. 2528 จนเกษียณอายุราชการ พ.ศ. 2542 ในตําแหน่งช่างประณีตศิลป์ ชั้น 3
นายสําเริง แดงแนวน้อย หรือ ปู่จิ๋ว เป็นผู้มีใจรักในการแกะสลักไม้มาตั้งแต่วัยเยาว์ โดยมีแรงบันดาลใจจากครอบครัว ซึ่งประกอบวิชาชีพงานช่างไม้ จึงได้เรียนรู้ หมั่นฝึกฝน พัฒนาทักษะด้านช่างศิลป์ หลากหลายสาขา ทั้งการเขียนลายและสร้างสรรค์ลาย ฝึกฝนเรียนรู้การแกะสลักไม้ และได้ร่วมการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีศาสดารามในการสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200ปี
นายสําเริงสร้างผลงานแกะสลักไม้ด้วยเทคนิคชั้นสูง ทั้งงานสร้างสรรค์ และงานบูรณะซ่อมแซมที่สร้างไว้ให้แผ่นดินมากมาย เป็นผู้มีทักษะโดดเด่น ในด้านการสร้างและซ่อมแซมงานโบราณชิ้นสําคัญได้อย่างงดงาม ด้วยความรู้ ความชํานาญในการศึกษาลวดลายไทยดั้งเดิม และลายอื่นๆ ซึ่งเป็นลวดลายที่นิยมใช้บนเครื่องราชูปโภค หรือเครื่องประกอบราชพิธี ที่ต้องใช้ทักษะฝีมือแกะสลักชั้นสูงที่มีความละเอียด ประณีต รวมถึงต้องใช้ความรู้ ทักษะ และความชำนาญ ตั้งแต่การดูทางของเนื้อไม้ การพัฒนาเครื่องมือ และเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับลวดลาย เข้าใจมิติของลาย เพื่อให้เกิดความพลิ้วไหว อ่อนช้อย โดยเฉพาะการเก็บรายละเอียดของลวดลาย ที่สามารถสะท้อนถึงความวิจิตรบรรจงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนและความงามทางศิลปะได้อย่างลึกซึ้ง
นอกจากนี้ ยังมีความชํานาญในการสร้างสรรค์และการขึ้นหุ่นไม้แบบโบราณ โดยเฉพาะการขึ้นหุ่นโต๊ะหมู่บูชาชนิดต่างๆ ผลงานการแกะสลักไม้ของนายสําเริง เป็นงานช่างแกะสลักไม้ที่รังสรรค์ผลงานแกะสลักได้หลากหลายประเภท ทั้งงานช่างไม้ชั้นสูง เช่น องค์ประกอบสถาปัตยกรรม เครื่องยอดมหาปราสาท วัดวาอาราม งานแกะสลักไม้ประเภทเครื่องยานพาหนะ งานแกะสลักไม้ประเภทเครื่องอุปโภค งานแกะสลักประเภทภาพและลาย รวมทั้งการพัฒนาเครื่องมือช่างแกะสลักที่เหมาะสมกับลักษณะชิ้นงานที่จะแกะสลัก ผลงานที่โดดเด่นเป็นที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต คือการได้มีส่วนร่วมอนุรักษ์ในการสร้างสรรค์ผลงานแกะสลักไม้และงานศิลปกรรมเครื่องประกอบพระราชพิธี ในพระราชพิธีพระราชทานต่างๆ ปัจจุบันนายสําเริงยังคงทุ่มเท ให้กับการช่วยปฏิบัติงาน และถ่ายทอดองค์ความรู้ แก่ช่างแกะสลักรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้วยมุ่งหมายสร้างสรรค์และสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมไทยให้ยั่งยืนต่อไป
นายสําเริง แดงแนวน้อยจึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-แกะสลักไม้) พุทธศักราช 2563
นายเอนก นาวิกมูล
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2563
นายเอนก นาวิกมูล เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2496 ที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ปัจจุบันอายุ 67 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2520
หลังจบการศึกษา นายเอนกเริ่มทำงานเป็นนักเขียนคอลัมน์ศิลปวัฒนธรรม หนังสือพิมพ์เจ้าพระยา และนิตยสารอีกหลายเล่ม จากนั้นเข้าทำงานที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด รวมระยะเวลา 23 ปี จึงได้ลาออกเพื่อเป็นนักเขียนสารคดีอาชีพ นักวิชาการอิสระ และเป็นบรรณาธิการเฉพาะกิจสำหรับหนังสือด้านศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ด้านงานสารคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยในสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ จนกระทั่งปัจจุบัน
นายเอนกสนใจเรื่องศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและเริ่มออกสืบค้นข้อมูลด้วยตนเอง ได้ความรู้และข้อมูลต่างๆ ที่นำมาเขียนงานสารคดี ซึ่งแบ่งได้เป็น 8 กลุ่มคือ เพลงพื้นบ้านและการละเล่นพื้นบ้าน ประวัติบุคคล เกร็ดประวัติศาสตร์ การถ่ายภาพและภาพถ่าย จิตรกรรมไทย ภาษาและประเพณี การเก็บของสะสม และการเดินทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สารคดีของนายเอนกเกิดจากการสังเกต ตั้งข้อสงสัย และพยายามแสวงหาคำตอบ ทั้งจากเอกสารเก่า ภาพเก่า การสัมภาษณ์ และจากประสบการณ์การเดินทาง นายเอนกเปรียบตัวเองเป็น “คนปะชุนประวัติศาสตร์” โดยตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า หรือนำเสนอข้อมูลใหม่ เพื่อให้สังคมได้รับความรู้ที่ถูกต้องที่สุด และข้อมูลที่ชัดเจนที่สุด
งานเขียนของนายเอนกอ่านง่าย ได้สาระ และความเพลิดเพลิน สำนวนภาษาราบรื่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตนและมีพลวัตเข้ากับยุคสมัย มีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ที่ก่อให้เกิดจินตนาการและอารมณ์สะเทือนใจ ยกย่องและให้ความสำคัญแก่บุคคล และแหล่งที่มาของความรู้ มีการจัดระบบภาพประกอบและคำบรรยายภาพที่ละเอียดลึกซึ้ง สะดวกแก่การอ้างอิง ผลงานได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ เป็นจำนวนมาก รวมเป็นเล่มแล้ว 201 เล่ม ผลงานเด่น อาทิ ชีวิตวัยเรียนของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ (ประดิษฐ สุขุม) ยอดนักกีฬาไทยในอเมริกา ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน รางวัลบัวหลวง พ.ศ. 2519 และได้รับยกย่องให้เป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนดีเด่น ในสมัยรัชกาลที่ 9 ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา โดยกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2562 การเผชิญโชคของนายทองคำได้รับรางวัลที่ 3 ในการประกวดหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนรางวัลบัวหลวง พ.ศ. 2521เพลงนอกศตวรรษได้รับรางวัลหนังสือสารคดีดีเด่น งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2522 และได้รับยกย่องให้เป็นวรรณกรรมประเภทสารคดียอดเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ 9 ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา โดยกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2562ประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทย ได้รับรางวัลชมเชยพิเศษ การประกวดวรรณกรรมรางวัลบัวหลวง พ.ศ. 2530 สิ่งพิมพ์คลาสสิค ได้รับรางวัลหนังสือสารคดีดีเด่น งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2534 ตำนานห้างร้านสยามได้รับรางวัลชมเชยการประกวดหนังสือดีเด่น งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2540 เป็นต้น
คุณูปการอีกอย่างหนึ่งสำหรับสังคมไทย คือ การเปิด “บ้านพิพิธภัณฑ์” เป็นที่เก็บและแสดงมรดกของชาติ เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนชาวไทยในอดีต ที่นับวันจะถูกลืมเลือนไปด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ จากการทุ่มเททำงานด้านสารคดีมายาวนานกว่า 45 ปีอย่างมีคุณภาพ นายเอนกได้รับรางวัลสำคัญระดับชาติ อาทิ รางวัล “สารคดี” เกียรติยศ จากสำนักพิมพ์สารคดี พ.ศ. 2553 รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จากกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2554 และรางวัล “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” จากบริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง (จำกัด) มหาชน พ.ศ. 2557นายเอนกได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา พ.ศ. 2552 และปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประเภททั่วไป จากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ พ.ศ. 2560
นายเอนก นาวิกมูล จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2563
นางสาวอรสม สุทธิสาคร
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2563
นางสาวอรสม สุทธิสาคร เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ที่จังหวัดจันทบุรี ปัจจุบันอายุ 63 ปี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสายปัญญา กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2518 หลังจากนั้น เริ่มงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษร ต่อมาทำงานในตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสารหลายเล่ม จนถึง พ.ศ. 2540 ยึดอาชีพนักเขียนอิสระจนถึงปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลาการสร้างผลงานประเภทสารคดีอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี มีผลงานรวม 54 เล่ม ซึ่งมีลักษณะเด่นที่การนำเสนอข้อมูลที่หนักแน่น ลุ่มลึก จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลชั้นต้นจากตัวบุคคลจริงอย่างรอบด้าน วิเคราะห์ปมปัญหาอันซับซ้อนในสังคมด้วยมุมมองหลากหลาย ทั้งจากผู้ที่ประสบปัญหาและผู้แก้ไขปัญหา นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญปัญหานั้นๆ มุมมองทางศาสนาและกฎหมาย เป็นต้น จากนั้นนำข้อมูลมาเรียงร้อยอย่างมีวรรณศิลป์ ด้วยลีลาโวหารเรียบง่าย การใช้ภาพพจน์ชวนให้ติดตามและสามารถสร้างอารมณ์สะเทือนใจ นอกจากให้สาระความรู้และตีแผ่ปัญหาสังคมที่ซับซ้อน ยังเปิดพื้นที่ให้แก่เสียงในความเงียบของคนชายขอบและคนในมุมมืด สื่อไปถึงคนส่วนใหญ่ซึ่งไม่เคยได้รับรู้มาก่อน ทำให้ผู้คนเหล่านั้นได้มีที่ยืนอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เปรียบดังสะพานเชื่อมโยงความเข้าใจระหว่างผู้คนในสังคม ผู้อ่านจึงเข้าใจรากเหง้าและที่มาของปัญหาสังคมอย่างแท้จริง โดยไม่มีอคติ นำไปสู่การตระหนักรู้ เกิดมุมมองใหม่ในการเข้าใจชีวิตและสังคม
ผลงานเด่น อาทิ สารคดีสะท้อนปัญหาผู้หญิง สนิมดอกไม้ ชีวิตจริงในมุมมืดของหญิงไทย (2539) ดอกไม้ราตรี สินค้ามีชีวิต (2545) และดอกไม้ใต้ภูเขาน้ำแข็ง (2560) สารคดีเกี่ยวกับปัญหาเด็ก ยังมีดอกไม้ในอรุณ (2541) อาชญากรเด็ก? เบ้าหลอมและเบื้องหลังมือสีขาวที่เปื้อนบาป (2543) เด็กพันธุ์ใหม่ วัยเอ็กซ์ (2544) สารคดีนำเสนอเรื่องราวของอาชญากรและชีวิตผู้ต้องขัง คุก ชีวิตในพันธนาการ (2540) มือปืน ชีวิตจริงของคนรับจ้างฆ่า (2542) นักโทษประหารหญิง (2546) ดอกไม้สีดำ ในโลกหลังกำแพง (2558) เป็นต้น
นอกจากสร้างสรรค์ผลงานเขียนที่มีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง นางสาวอรสมยังถ่ายทอดประสบการณ์ทางวรรณศิลป์ด้วยการเป็นวิทยากรและอาจารย์พิเศษสอนการเขียนสารคดีในสถาบันการศึกษา ร่วมอภิปรายประเด็นปัญหาสังคมเผยแพร่สู่สื่อสาธารณะ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโครงการฝึกอบรมเยาวชนชายในสถานฝึกอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก และสอนการเขียนเรื่องเล่าจากเรือนจำกลางบางขวาง และเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้เกิดนักเขียนหน้าใหม่และผลงานบางส่วนได้รับรางวัลจากการประกวด รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและเป็นประธานกองทุนปั้นดินให้ เป็นบุญ สร้างงานพุทธศิลป์ในเรือนจำ
นางสาวอรสมได้รับรางวัลเกียรติคุณจากการทำงาน ได้แก่ รางวัลสตรีดีเด่นในพุทธศาสนานานาชาติ จากองค์กร พุทธศาสนานานาชาติร่วมกับองค์การสหประชาชาติ พ.ศ. 2550 รางวัลกำลังใจเพื่อผู้หญิง (ด้านสื่อมวลชน) จากโครงการ “กำลังใจ” ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่รณรงค์เรื่องความรุนแรงในผู้หญิงและเด็ก จากกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานเพื่อผู้หญิง พ.ศ. 2551 รางวัลศิลปินศิลปาธร (สาขาวรรณศิลป์) จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2552 รางวัลสตรีดีเด่นด้านสื่อมวลชน (สื่อสิ่งพิมพ์) เนื่องในวันสตรีสากล จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ. 2559 รางวัลประชาบดี จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ. 2561
นางสาวอรสม สุทธิสาคร จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2563
นายประทีป สุขโสภา
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) พุทธศักราช 2563
นายประทีป สุขโสภา (ประทีป หนองปลาหมอ) เกิดวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 ที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ปัจจุบันอายุ 74 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก ประกอบอาชีพรับราชการครูจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ระดับ 8 โรงเรียนหนองปลาหมอวิทยาคม จังหวัดสุโขทัย
นายประทีป สุขโสภา เป็นผู้มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นศิลปินที่ธำรงรักษาและพัฒนาศิลปะการแสดงอย่างมุ่งมั่นและยาวนาน ด้วยสนใจใฝ่รู้ทั้งในด้านเพลงพื้นบ้าน การแสดงพื้นบ้าน ศิลปะ ดนตรี และการขับร้องทำนองไทยมาแต่เยาว์วัย ทั้งหมั่นเพียรฝึกฝนด้วยตนเองและแสวงหาศึกษาความรู้จากครูบาอาจารย์ผู้ชำนาญศิลปะการแสดงพื้นบ้านแขนงต่างๆ อย่างอ่อนน้อม เชื่อมั่น และอดทน ทั้งจากพระนักแหล่ ปราชญ์พื้นถิ่น ศิลปินพื้นบ้าน ครูดนตรีไทย ครูดนตรีสากล แม้กระทั่งคนขอทาน เริ่มฝึกร้องเพลงขอทานด้วยวิธีครูพักลักจำการร้องของวณิพกในงานลอยกระทงตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ ฝึกหัดเป่าขลุ่ยและหีบเพลงตั้งแต่เรียนระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 3 ฝึกรำพื้นบ้านจากครูสำเภา เตปันวงศ์ (วิเศษสรรค์) บุตรสาวของขุนแก่ง วิเศษสรรค์ ซึ่งเป็นพ่อเพลงที่โด่งดังสมัยนั้น
เมื่อสะสมความรู้ไว้มากและหลากหลายแล้ว ต่อมาก็เพียรพยายามฝึกฝนค้นคว้าจนแตกฉาน สามารถแสดง ถ่ายทอด และพัฒนาความรู้ความสามารถจนสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะฟื้นฟูการร้องเพลงขอทานประกอบการขยับกรับชนิดกลม (Claves) สองคู่ ขณะแสดงสามารถขับร้องทำนองต่างๆ เช่น ขับเสภา ร้องเพลงแหล่ เพลงขอทาน และเพลงพื้นบ้านอื่นๆ พร้อมกับขยับกรับประกอบจังหวะออกลีลาท่าทางสลับพลิกแพลงอย่างไพเราะและชำนาญ มีไหวพริบ ปฏิภาณ อารมณ์ขัน นำข่าวสารเหตุการณ์มาประยุกต์ใช้ในการแสดง สร้างความสนุกสนานและประทับใจแก่ผู้ชมอย่างยิ่ง จึงได้รับเชิญให้ไปแสดง สาธิต ตีกรับขับทำนอง และร้องเพลงขอทาน
ในงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่เสมอ นายประทีป สุขโสภา ได้รวบรวมนักดนตรีพื้นบ้านก่อตั้งเป็นคณะประทีป หนองปลาหมอ ขับร้องและมีเครื่องดนตรีประกอบมากขึ้น ได้แก่ ตะโพน ซออู้ ระนาดเอก ขลุ่ย ฉิ่ง ฉาบ และโหม่ง ที่สำคัญท่านสามารถผลิตกรับกลมได้เองและสามารถประพันธ์บทร้องเป็นเรื่องเป็นตอนเพื่อร้องทำนองต่างๆ อย่างไพเราะลึกซึ้ง เช่น นิทานพระมหาชนก พระรถเมรี ฯลฯ เป็นต้น ผลงานได้รับการเผยแพร่โดยแถบบันทึกเสียงและผ่านสื่อมวลชนเป็นจำนวนมาก
นายประทีป สุขโสภา ได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติในฐานะครูดีเด่นและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมหลายรางวัล อีกทั้งยังได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านศิลปะการแสดงพื้นบ้านทุกประเภทให้แก่ผู้สนใจ ทั้งนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไปมาเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี นับเป็นครูศิลปินที่อุทิศทุ่มเทให้แก่การธำรงรักษา สร้างสรรค์ และพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่ทรงคุณค่าแก่สังคมและประเทศชาติ สมดังปณิธานที่ตั้งมั่นว่า “จะอนุรักษ์ส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยจนกว่าจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต”
นายประทีป สุขโสภา จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) พุทธศักราช 2563
นายประเมษฐ์ บุณยะชัย
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ - โขน) พุทธศักราช 2563
นายประเมษฐ์ บุณยะชัย เกิดวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 ที่ตำบลบางลำพูล่าง อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี ปัจจุบันอายุ 72 ปี หลังจากสำเร็จการศึกษานาฏศิลป์ชั้นสูงจากโรงเรียนนาฏศิลป กรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2514 แล้ว ได้รับราชการเป็นครูผู้สอนนาฏศิลป์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จนเกษียณอายุราชการ ในปี พ.ศ. 2550 ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย อาจารย์ 3 ระดับ 9 ปัจจุบันเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านนาฏศิลป์ไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายประเมษฐ์ บุณยะชัย ได้รับการถ่ายทอดกระบวนท่ารำโขน ละครจากปรมาจารย์หลายท่าน เช่น ครูอร่าม อินทรนัฏ ครูทองเริ่ม มงคลนัฏ ครูลมุล ยมะคุปต์ ครูเฉลย ศุขะวนิช และท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี เป็นต้น ซึ่งระหว่างรับราชการในวิทยาลัยนาฏศิลปได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้แสดงในบทบาทต่างๆ ร่วมกับศิลปินชั้นครูหลายเรื่อง ทั้งการแสดงโขน ละครใน ละครนอก ละครพันทาง ละครร้อง ละครพูด และละครอิงประวัติศาสตร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้จัดทำบทโขน ละคร ฝึกซ้อม กำกับการแสดง ให้กับวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และสถาบันต่างๆ เป็นผู้รื้อฟื้นการแสดงต่างๆ ที่หายไปจากวงการนาฏศิลป์ อาทิ การรำเสนง กระบวนการเชิดหุ่นหลวง รื้อฟื้นการแสดงละครของวังสวนกุหลาบ การแสดงละครนอกแบบหลวง เรื่อง พระสมุท ละครใน เรื่องดาหลัง เป็นต้น ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตรวจและปรับปรุงบทการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 – 2562 เป็นผู้ประพันธ์บทขับร้องเฉลิมพระเกียรติในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – 2562 มีผลงานการแสดงโขน ในบท ตัวยักษ์ แสดงเป็นทศกัณฐ์ อินทรชิต กุมภกรรณ ฯลฯ รวมถึงการแสดงในอีกหลายบทบาททั้งตัวพระและตัวนาง ทั้งยังเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการวางองค์ประกอบที่ถูกต้องของการแสดงโขน ละคร กลวิธีการแต่งหน้า การแต่งกาย การเขียนบท รวมถึงการ เชิดหุ่นอีกด้วย บทโขนเด่นที่สร้างขึ้นใหม่ได้แก่ ตอนสืบมรรคา ตอนหอกโมกขศักดิ์
นอกจากนั้นยังมีผลงานด้านวิชาการ อาทิ หนังสือ บทความ บทสารคดี เอกสารประกอบการสอนเกี่ยวกับนาฏศิลป์ครั้งสำคัญต่างๆ ตีพิมพ์ในวารสารศิลปากร หนังสือที่ระลึกในวาระสำคัญ เช่น งานพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ หนังสือละครวังสวนกุหลาบ หนังสือเครื่องแต่งกายโขนละครในกรุงรัตนโกสินทร์ บทสารคดี ชุด โขน นาฏกรรม ล้ำค่าของไทย ให้กับหน่วยงาน และสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นผู้อุทิศตนด้านนาฏศิลป์จึงได้รับรางวัลและเกียรติคุณต่างๆ มากมาย
ปัจจุบัน นายประเมษฐ์ บุณยะชัย ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสาน ถ่ายทอด ส่งเสริมและสร้างสรรค์งานด้านนาฏศิลป์อย่างต่อเนื่อง ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมาเป็นเวลากว่า 50 ปี เป็นผู้อุทิศตนให้งานทางด้านนาฏศิลป์ ทำนุบำรุงและส่งเสริมให้ประชาชนและเยาวชนมีความภาคภูมิใจในศิลปะของไทย
นายประเมษฐ์ บุณยะชัย จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ - โขน) พุทธศักราช 2563
นายปี๊บ คงลายทอง
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช 2563
นายปี๊บ คงลายทอง เกิดวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2496 ภูมิลำเนาอยู่ธนบุรี ปัจจุบันอายุ 67 ปี ถือกำเนิดมาในครอบครัวศิลปินดนตรีไทย เป็นทายาทคนสุดท้องของครูปี่คนสำคัญ ครูเทียบ คงลายทอง และคุณแม่สว่าง เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนนาฏศิลป ปริญญาตรีจากวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตร มหาบัณฑิต (วัฒนธรรมดนตรี) จากมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2538 และได้รับปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ดนตรีไทย) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2558
การได้เกิดและเติบโตในครอบครัวของครูเทียบ คงลายทองนั้น นับว่าเป็นโชคดีมหาศาล เนื่องด้วยครูเทียบเป็นผู้ที่ได้สืบทอดองค์ความรู้ทางดนตรีจากสำนักพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) โดยเฉพาะเครื่องเป่าอย่างแตกฉาน และได้ถ่ายทอดความรู้ต่อมาให้บุตรโดยตรงนายปี๊บ คงลายทอง เริ่มต้นเรียนฆ้องวงใหญ่กับคุณครูสอน วงฆ้อง ฝึกฝนเรียนปี่พาทย์เพิ่มเติมกับครูรัศมี คงลายทอง ต่อเพลงโหมโรงเช้า โหมโรงเย็น เพลงช้าเพลงเร็ว หลังจากนั้นได้เรียนเป่าปี่กับครูเทียบ คงลายทอง และได้ฝึกเพิ่มเติมกับครูบุญช่วย โสวัตร จนมีความชำนาญมากขึ้น ต่อมาเมื่อเข้ารับราชการที่กรมศิลปากร ได้ศึกษาเพิ่มเติมจาก หม่อมหลวงสุรักษ์ สวัสดิกุล ครูทวี คงลายทอง ครูจิรัส อาจณรงค์ และรับมอบโองการไหว้ครูจากครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ
นายปี๊บได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีฝีมือในการเป่าปี่เป่าขลุ่ยได้อย่างไพเราะมีชั้นเชิงแพรวพราว เข้าใจในการถ่ายทอดอารมณ์เพลงที่ประณีต มีความมานะในการฝึกฝนอย่างยิ่ง จนสามารถบรรเลงบทเพลงสำหรับแสดงทักษะชั้นสูงของปี่และขลุ่ยโดยใช้กลวิธีในการควบคุมลม ลิ้น นิ้ว ที่เป็นเม็ดพรายต่างๆ ของสายเสนาะดุริยางค์ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อเข้าทำงานที่กรมศิลปากรจนถึงเกษียณอายุในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต ก็ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ทั้งงานราชการ งานรัฐพิธี งานพระราชพิธี งานสนองเบื้องพระยุคลบาท สถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ อีกทั้งได้ทำหน้าที่เป็นเสาหลักใน การเผยแพร่วัฒนธรรมดนตรีไทยและปฏิบัติงานรับใช้สังคมตลอดมา เป็นอาจารย์พิเศษ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยให้กับสถาบันการศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศ เป็นผู้ประกอบพิธีไหว้ครูให้กับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ร่วมงานกับวงดนตรีสำคัญหลายวง อาทิ วงบ้านปลายเนิน วงดุริยประณีต วงจุฬาวาทิต วงฟองน้ำ วงวัยหวาน ฯลฯ เผยแพร่ดนตรีไทยไปในโลกกว้าง
นอกจากนี้ ยังมีงานบันทึกเสียงสำคัญเผยแพร่ผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์เอาไว้เป็นจำนวนมาก อาทิ เพลงนำรายการจดหมายเหตุกรุงศรี เพลงเดี่ยวชั้นสูงของปี่และขลุ่ย ฯลฯยังได้ชำระและประพันธ์หนทางเพลงเดี่ยวปี่ เดี่ยวขลุ่ยที่สำคัญไว้หลายเพลง เช่น เพลงปี่ประกอบรำฉุยฉายทุกชุด เพลงแขกมอญ เพลงลมพัดชายเขา เพลงนารายณ์แปลงรูป เป็นต้น เป็นศิลปินต้นแบบให้กับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ทั้งในด้านการบรรเลงและการประพฤติปฏิบัติตนที่ดีงามอยู่ในศีลธรรม อ่อนน้อมถ่อมตัว ทั้งรักษาคุณภาพของครูและศิลปินผู้ทำหน้าที่สืบสาน ต่อยอดองค์ความรู้ด้านดนตรีไทย โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาสาธารณชน นับได้ว่านายปี๊บ คงลายทอง เป็นบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่เป็นผู้ประกอบคุณูปการอย่างยิ่งยวดแก่สังคมไทย
นายปี๊บ คงลายทอง จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช 2563
นางสุดา ชื่นบาน
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง) พุทธศักราช 2563
นางสุดา ชื่นบาน เกิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2488 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 75 ปี เริ่มต้นเรียนนาฏศิลป์ไทยและรำละครเมื่ออายุ 7 ปี ขณะเรียนอยู่ที่โรงเรียนเฉลิมสาสน์ศึกษา ได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนในการแสดงละครนอกที่กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงรำชุดต่างๆ ถวายหน้าพระที่นั่ง ณ สภากาชาดไทย กระทั่งมีโอกาสเข้าประกวดรำไทยในรายการแมวมองทางวิทยุ ท.ท.ท. ซึ่งเป็นรายการที่ทำให้ผู้จัดรายการทางโทรทัศน์เห็นฝีมือและความสามารถ จึงติดต่อให้ไปแสดงละครรำทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม เป็นประจำในยุคเริ่มแรก
นอกจากความสามารถด้านนาฏศิลป์ไทยแล้ว ยังเข้าประกวดร้องเพลงในงานต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งส่วนมากมักจะได้รับรางวัลชนะเลิศ จนกระทั่งแข่งขันชนะเลิศรางวัลแหวนเพชร ซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดสำหรับนักร้องสมัครเล่น ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมชาติ ในเพลง “มาริโก้ กำพร้า” จึงได้รับคำแนะนำจากครูนคร มงคลายน ว่าควรผันตัวเองเป็นนักร้องอาชีพได้แล้ว นางสุดาจึงเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักร้องอาชีพนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยเลือกที่จะร้องเพลงสากลเป็นหลัก เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีผู้ขับร้องมากนัก จึงเป็นที่สนใจของวงการเพลง ด้วยความวิริยะอุตสาหะในการฝึกฝนภาษา ศึกษา และแปลคำศัพท์ บวกกับความพยายามในการขับร้องให้ถูกอักขระตามต้นแบบ ในที่สุด ความเพียรพยายามนี้ ก็ส่งผลให้ชื่อของนางสุดา ชื่นบาน โดดเด่นขึ้นมาในวงการนักร้องเพลงสากลในยุคนั้น
เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงในฐานะนักร้องอาชีพ ครูสง่า อารัมภีร ได้ชักชวนให้ร้องเพลงไทยอัดแผ่นเสียงเป็นเพลงแรกคู่กับสวลี ผกาพันธ์ คือเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อเพลง “ชื่นสุข” ในปี พ.ศ. 2512 ได้ร้องเพลงลูกกรุงทำนองพื้นเมืองอีสาน แก้กับ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ในอัลบั้มชุด “ขุ่นลำโขง” ต่อด้วยเพลงชุด “ทักษิณถิ่นไทย” นอกจากนั้น ครูสง่า ยังให้โอกาสในการร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ของอัศวินภาพยนตร์ ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และเพลงของละโว้ภาพยนตร์ ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ต่อจากนั้น ก็ได้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ต่อเนื่องเรื่อยมา อาทิ เรื่อง เกาะสวาทหาดสวรรค์ แม่นาคพระนคร และร้องเพลงประกอบละครโทรทัศน์ชุด หุ่นไล่กา เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2528 นางสุดา ได้รับรางวัลกรังด์ปรีซ์ซึ่งนับเป็นรางวัลสูงสุดในการประกวดร้องเพลงของบริษัทสยามกลการ จากเพลง “ใจ” ทำให้พิศาล อัครเศรณี ติดต่อให้ไปร้องนำในภาพยนตร์เรื่อง “เพลงสุดท้าย” ซึ่งเป็นเรื่องราวของสาวประเภทสอง ทำให้เพลงนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนได้รับสมญานามว่าเป็นเพลงชาติของสาวประเภทสองมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนั้น ยังได้ร่วมงานร้องเพลงกับศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงการเพลงไทยสากล มาตลอดระยะหลายทศวรรษ อาทิ ฉันทนา กิติยพันธ์ นัดดา วิยกาญจน์ ศรีไสล สุชาติวุฒิ และวงสาว สาว สาว เป็นต้น ปัจจุบัน ยังคงร้องเพลงในโอกาสต่างๆ อีกทั้งยังมีผลงานการแสดงละคร และการเป็นครูผู้ฝึกสอนการร้องเพลงให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในเพลงไทยสากลอีกด้วย
นางสุดา ชื่นบาน จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง) พุทธศักราช 2563
นางรุ่งฤดี เพ็งเจริญ
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง) พุทธศักราช 2563
นางรุ่งฤดี เพ็งเจริญ (รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส) เกิดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2489 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 74 ปี จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนศึกษาวิทยา จากนั้น เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนดุสิตพาณิชยการ (ปัจจุบันคือ วิทยาลัยอาชีวศึกษาดุสิตพณิชยการ)ทางด้านบัญชี ในปี พ.ศ. 2508 ขณะศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 ก็สามารถสอบแข่งขันเข้าบรรจุที่แผนกดนตรีไทยสากล กรมประชาสัมพันธ์ได้ จึงตัดสินใจลาออกจากการเรียนมาบรรจุเป็นข้าราชการในอัตราลูกจ้าง และเริ่มต้นชีวิตการทำงานในฐานะนักร้องในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์และนักร้องประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์ เป็นเวลารวม 3 ปี ก่อนจะลาออกไปเป็นนักร้องอิสระในโรงแรม ห้องอาหาร และสถานบันเทิงที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ทำให้มีโอกาสได้พบกับครูเพลงหลายท่าน อาทิ ครู ป. ชื่นประโยชน์ (ศิลปินแห่งชาติ) ครูทวีพงษ์ มณีนิล ครูไพบูลย์ บุตรขัน และที่สำคัญคือ ครูพยงค์ มุกดา (ศิลปินแห่งชาติ) ผู้แต่งเพลง “เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง” ให้ขับร้อง จนชื่อเสียงของนางรุ่งฤดีโด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และบทเพลงดังกล่าวก็ได้กลายเป็นบทเพลงประจำตัวมาตราบจนปัจจุบัน
กว่าครึ่งศตววรษที่อยู่ในวงการดนตรีไทยสากล นางรุ่งฤดีมีผลงานการขับร้องและร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียง รวมทั้งสิ้นกว่า 2,000 บทเพลง เนื่องจากเป็นผู้มีน้ำเสียงไพเราะเป็นเอกลักษณ์ มีความสามารถในการสื่อถึงอารมณ์เพลง จึงถ่ายทอดผลงานออกมาได้ประทับใจผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง ทำให้หลายบทเพลงที่ขับร้องได้รับความนิยมและยังคงความเป็นอมตะมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง หลานย่าโม พัทยาลาก่อน แม่สอดสะอื้น คนหน้าเดิม สตรีที่โลกลืม และโจโจ้ซัง ฯลฯ เป็นต้น
สิ่งที่ยืนยันความสำเร็จสูงสุดในฐานะนักร้องของนางรุ่งฤดี คือการได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในปี พ.ศ. 2514 จากบทเพลง "บัวขาว" และรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ในปี พ.ศ. 2522 ถึง 2 รางวัลด้วยกัน คือประเภทนักร้องหญิงยอดนิยมจากบทเพลง "หลานย่าโม" และประเภทเพลงปลุกใจ จากบทเพลง “ชาวไทยเหมือนกัน”
ปัจจุบัน นางรุ่งฤดียังคงขับร้องเพลงเพื่องานการกุศลมากมายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อหารายได้มอบให้มูลนิธิต่างๆ ในประเทศไทย นอกจากนั้นแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการขับร้องร่วมกับเหล่าศิลปินแห่งชาติ ครูเพลง และศิลปินเพลงลูกกรุงชั้นนำ เพื่อสืบสานเพลงลูกกรุงให้ดำรงคงอยู่เป็นมรดกของประเทศสืบต่อไป
นางรุ่งฤดี เพ็งเจริญ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง) พุทธศักราช 2563
นายปง อัศวินิกุล
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้กำกับระบบเสียง – สร้างสรรค์ และบันทึกเสียงภาพยนตร์) พุทธศักราช 2563
นายปง อัศวินิกุล เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 90 ปี เริ่มศึกษาเรียนรู้งานสร้างภาพยนตร์ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2494 จากนายรัตน์ เปสตันยี ผู้ก่อตั้งหนุมานภาพยนตร์ซึ่งเป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชาการผลิตภาพยนตร์คนแรก โดยศึกษาจากประสบการณ์ตรง เป็นผู้ช่วยกล้อง ผู้บันทึกเสียง และได้บันทึกเสียงภายนตร์หลายเรื่อง ซึ่งล้วนเป็นผลงานที่ได้รับรางวัล ทำให้ได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมในขั้นตอนการผลิตภาพยนตร์ไทยมาโดยตลอด จึงเป็นแรงผลักดันที่มุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ผลงานเบื้องหลังภาพยนตร์ โดยทำหน้าที่เป็นผู้กำกับระบบเสียงภาพยนตร์ รวมถึงการบันทึกเสียง การพากย์เสียง การผสมเสียง ทั้งเสียงพูด เสียงดนตรี และเสียงประกอบภาพยนตร์ และพัฒนาทักษะสร้างสรรค์ผลงานศิลป์แขนงนี้ให้ทัดเทียมต่างประเทศ โดยสร้างห้องบันทึกเสียงที่สามารถสร้างสรรค์ทำเสียงเอฟเฟคและผสมเสียงได้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 ใช้ชื่อว่า “ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา” หรือ “ห้องปง” เพื่อสร้างสรรค์งานเสียงให้กับภาพยนตร์ไทยมาเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน
ภาพยนตร์ ถือเป็นศาสตร์และศิลป์ การตัดต่อภาพยนตร์และการผสมเสียง ถือเป็นงานที่ละเอียดอ่อนมาก กว่า 60 ปีที่ผ่านมา ชื่อนายปง อัศวินิกุล และห้องบันทึกเสียงรามอินทรา ปรากฏอยู่ในไตเติ้ลของภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง ในฐานะผู้บันทึกเสียงภาพยนตร์ รวมถึงการผสมเสียง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า นายปง เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกด้านการทำเสียงให้กับภาพยนตร์ไทย ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สร้างชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ มุ่งพัฒนาศาสตร์การบันทึกเสียงคุณภาพที่มีมาตรฐานในระดับนานาชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 ได้รับลิขสิทธิ์จากบริษัท DOLBY LABORATORIES ประเทศอังกฤษ ให้เป็นห้องบันทึกเสียงที่สามารถผสมเสียงภาพยนตร์ในระบบ DOLBY STEREO SR และใช้ชื่อ DOLBYได้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย และภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกผสมเสียงด้วยระบบนี้ คือ ภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์เสียงภาษาไทย เรื่อง “SPEED” และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากระบบ DOLBY จนถึงระบบ DOLBY Atmos ในปัจจุบันให้แก่ภาพยนตร์เกือบทุกประเทศในเอเชีย อีกทั้งได้รับความไว้วางใจจากบริษัทผู้จัดจำหน่ายของผู้สร้างภาพยนตร์ใน Hollywood ไม่ว่าจะเป็น Warner Bros. Pictures, 20th Century Fox, Walt Disney Pictures, Columbia Pictures, DreamWorks Studios และUniversalPictures ให้เป็นสตูดิโอที่ทำการบันทึกเสียงพากย์ และผสมเสียงพากย์ภาษาไทย
ในปี พ.ศ.2542 มูลนิธิหนังไทยมอบรางวัลอนุสรมงคลการเพื่อเชิดชูเกียรติเป็นปูชนียบุคคลในวงการภาพยนตร์ไทย รวมถึงได้รับรางวัลอื่นๆ ในสาขาบันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องในห้วงเวลากว่า 6 ทศวรรษ อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย (พ.ศ.2500) รักริษยา (พ.ศ.2501) บางระจัน (พ.ศ.2543) ต้มยำกุ้ง 2 (พ.ศ.2556) ฯลฯ นับเป็นการพัฒนาวงการภาพยนตร์ไทยให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนี้นายปง และทายาทเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำองค์รวมของศาสตร์และศิลป์ในการกำกับระบบเสียง ควบคุมการบันทึกเสียง และการผสมเสียงประกอบภาพยนตร์ รวมถึงการถ่ายทอดศาสตร์แขนงนี้ให้แก่คนรุ่นใหม่ และสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านภาพยนตร์ เพื่อสานต่อ และพัฒนาภาพยนตร์ไทย โดยมุ่งมั่นสร้างภาพยนตร์เพื่อสร้างความสุขให้กับคนไทยสมดั่งเจตนารมณ์
นายปง อัศวินิกุล จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้กำกับระบบเสียง – สร้างสรรค์ และบันทึกเสียงภาพยนตร์) พุทธศักราช 2563