- Details
- Category: ศิลปวัฒนธรรม
- Published: Thursday, 12 September 2019 20:10
- Hits: 3515
‘เนียลสัน เฮส์’ ฉลอง 150 ปี ประกาศความพร้อมจัดงานวรรณกรรมฯ
จับมือนักเขียนไทย-เทศ แลกเปลี่ยนความคิด-ยกระดับวรรณกรรมไทยสู่สากล
“สมาคมหอสมุดเนียลสัน เฮส์” ฉลองครบรอบ 150 เชิญนักประพันธ์จากนานาชาติที่ได้รับรางวัลชั้นนำต่างๆ ประกาศความพร้อมจัดเทศกาลวรรณกรรม “Neilson Hays Bangkok Literature Festival” (เทศกาลวรรณกรรม เนียลสัน เฮส์) ครั้งแรกในประเทศไทย หวังใช้เป็นเวที ส่งเสริมการอ่านหนังสือ และเพื่อสร้างโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับนักประพันธ์ชาวไทย พร้อมผลักดันวรรณกรรมไทยสู่ระดับสากล
นางสาวนลิน วนาสิน ประธานคณะกรรมการบริหาร “สมาคมหอสมุดเนียลสัน เฮส์” กล่าวว่า “สมาคมหอสมุดฯ” ฉลองครบรอบ 150 ปีในปีนี้ จึงร่วมกับ “สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย” (OCAC) มีแนวคิดจัด เทศกาลวรรณกรรม เนียลสัน เฮส์ นับว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่จัดโดยสมาคมหอสมุดเนียลสัน เฮส์ ใน วันเสาร์ ที่ 16 และวันอาทิตย์ ที่ 17 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งนอกจากจะมีการปาฐกถา และการเสวนาโดยนักเขียนแล้ว ยังจะมีกิจกรรมบันเทิงอื่นๆ เช่น ตลาดและเวิร์คชอปศิลปะและงานฝีมือ และ การฉายภาพยนตร์ เป็นต้น
“เรารู้สึกเป็นเกียรติกับการจัดงาน เทศกาลวรรณกรรม เนียลสัน เฮส์ ซึ่งเป็นงานครั้งแรกของสมาคมหอสมุดเนียลสัน เฮส์ ซึ่งจะมีนักเขียนที่มีชื่อเสียงและได้รับรางวัลกว่า 25 คน ทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งการจัดงานฯ ทั้ง 2 วัน จะจัดขึ้นที่หอสมุดเนียลสัน เฮส์ และสมาคมสโมสรอังกฤษกรุงเทพ (British Club) ขณะที่กิจกรรมพิเศษในช่วงเย็นจะจัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวังจักรพงษ์” นางสาวนลิน กล่าว
งานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนักเขียนชื่อดังทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากกว่า 25 คน ที่ได้รับรางวัลต่างๆ ระดับประเทศและภูมิภาค อาทิ National Book Award (USA), Pulitzer Prize (USA), Windham-Campbell Prize (USA), S.E.A. Write Award, Francisco Balagtas Prize by the Committee of Philippine literature, William E. Colby Award (USA), Miles Franklin Award (Australia) และ Sahitya Akademi Yuva Puraskar เป็นต้น ที่จะมาร่วมพูดคุย, ปาฐกถาเสวนา, อ่านบทกวี และสัมภาษณ์ในแง่มุมต่างๆ ด้านวรรณกรรม
รายชื่อนักเขียนที่เข้าร่วมงาน อาทิ วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล, ซะการีย์ยา อมตยา, เดือนวาด พิมวนา, พิชญา สุดบรรทัด, Melissa Lucashenko (ออสเตรเลีย), Clare Wright (ออสเตรเลีย), Qiu Xiaolong (จีน-อเมริกา), มุ่ย ภู่พกสกุล (ไทย-เยอรมนี), Raghu Karnad (อินเดีย), P. Sivakami (อินเดีย), Ma Thida (เมียนมา), Kanako Nishi (ญี่ปุ่น), Adam Johnson (อเมริกา), Mike Curato (อเมริกา), Pankaj Mishra (อังกฤษ-อินเดีย), Haresh Sharma (สิงคโปร์), Dr. Michael M Coroza (ฟิลิปปินส์), Patrick Winn (อเมริกัน / นักข่าวและนักเขียนที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย), Nisid Hajari (อินเดีย / นักข่าวและนักเขียนที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย), Darrel J. McLeod (แคนาดา), อนุสรณ์ ติปยานนท์, เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์, สฤณี อาชวานันทกุล เป็นต้น
สำหรับวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ ต้องการส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ พร้อมเสริมสร้างสัมพันธภาพเครือข่ายระหว่างนักเขียนไทยและนักเขียนในแถบภูมิภาคอาเซียนกับนักเขียนนานาชาติระดับโลก รวมทั้งส่งเสริมด้านวรรณกรรมและการอ่านของคนไทย เพื่อใช้เป็นเวทีในการแสดงออก แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิด ในรูปแบบของการปาฐกถา และการเสวนา เกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ในด้านวรรณกรรมและสารคดี เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนรุ่นใหม่ที่จะใช้เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์งานเขียนวรรณกรรมไทย โดยคาดหวังว่าจะได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเขียนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนไทย และนักวาดภาพประกอบหนังสือ รวมถึงผู้ที่สนใจในด้านวรรณกรรม
ทั้งนี้ ยังได้มีการเชิญท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายอิทธิพล คุณปลื้ม และ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงานในวันเสาร์ ที่ 16 พฤศจิกายน 2562 ในฐานะเป็นผู้ที่สนับสนุนด้านวรรณกรรมไทยและอาเซียน และดำรงตำแหน่งประธาน-คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติแก่นักเขียนทั่วภูมิภาคอาเซียน และเป็นองค์กรเพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านวรรณกรรมภาษา และหนังสือในประเทศไทย
นอกจาก สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยแล้ว เทศกาลวรรณกรรมเนียลสัน เฮส์ ยังได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรต่างๆ ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย, สถานเอกอัครราชฑูตแคนาดาประจำประเทศไทย, ห้องสมุดมูลนิธิญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย, ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงเรียนนานาชาติกรุงเทพ, Southeast Asian Writers Award (S.E.A Write Awards), สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, Bangkok Edge, สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, กลุ่มบริษัท พรีเมียร์, ธนาคารกสิกรไทย, สมาคมสโมสรอังกฤษ, สายการบินแอร์เอเชีย, เดอะไวน์ การาจ, นิตยสาร a day, โรงแรมเพนนินซูล่า กรุงเทพ,โรงแรมรอยัล ออคิด เซอราตัน กรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตาม จากสถิติการอ่านหนังสือของคนไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยในปี 2561 พบว่าคนไทยใช้เวลาในการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็น 80 นาทีต่อวัน โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ มีการอ่านหนังสือมากที่สุด หรือ 92.9% ภาคกลาง 80.4% ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 75% และภาคใต้ 74.3% ขณะที่พฤติกรรมการอ่านหนังสือผ่านทางแพลตฟอร์มหนังสือเล่ม 88% และอ่านหนังสือในแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ 75.8% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน สะท้อนให้เห็นว่าหนังสือยังคงมีอยู่ (ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park)
AO09232
Click Donate Support Web