- Details
- Category: ไอที-เทคโนฯ
- Published: Tuesday, 24 May 2016 14:16
- Hits: 1978
ระดมสมองนักวิชาการทุกแขนง พัฒนามาตรฐานสมรรถนะสำหรับผู้ใช้ไอทีรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล
ระดมสมองเปิดการประชุมโครงการจัดทำมาตรฐานสมรรถนะสำหรับผู้ใช้ไอที(Digital Literacy) เร่งจัดทำมาตรฐานสมรรถนะด้านไอซีที ให้ครอบคลุมและรองรับกับผู้ใช้งานไอทีทั่วไป เพื่อยกระดับมาตรฐานสมรรถนะด้านการใช้ไอทีของกำลังคนทุกสาขาอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
พ.อ.ดร.อรรถสิทธิ์ หัสถีธรรม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในปัจจุบันการทำงานไม่ว่าจะอยู่ในสาขาใดจำเป็นต้องใช้ทักษะและความเชี่ยวชาญในหลายด้านไปพร้อมกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการเรียนรู้ การปฏิบัติงานจริง การฝึกฝน โดยผู้ประกอบการในหลากหลายอาชีพล้วนต้องมีศักยภาพในการพัฒนาขีดความสามารถการทำงานด้านต่าง ๆ ทั้งในหน้าที่ของตน และการนำความรู้ ทักษะ และความสามารถมาประยุกต์ใช้ซึ่งเรียกว่า ‘สมรรถนะ’ โดยในปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้นการจัดโครงการจัดทำมาตรฐานสมรรถนะสำหรับผู้ใช้ไอที (Digital Literacy) เพื่อเป็นการพัฒนาสมรรถนะของกำลังคนให้รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีความสำคัญโดยต้องยกระดับมาตรฐานสมรรถนะด้านการใช้ไอทีของกำลังคนทุกสาขาอาชีพให้ได้ อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งต้องส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชน สถานศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพให้มีความพร้อมทุกด้านในการรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด และพร้อมที่จะก้าวสู่ตลาดAEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า โครงการจัดทำมาตรฐานสมรรถนะสำหรับผู้ใช้ไอที (Digital Literacy)เพื่อพัฒนาสมรรถนะของกำลังคนรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นการระดมสมองในทุกภาคส่วน ให้มาร่วมกันจัดทำมาตรฐานสมรรถนะสำหรับผู้ใช้ไอที (Digital Literacy) มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำมาตรฐานสมรรถนะด้านไอซีที ให้ครอบคลุมและรองรับกับผู้ใช้งานไอทีทั่วไป นอกเหนือจากที่สถาบันได้จัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพไปแล้วในกลุ่มอาชีพ และเพื่อยกระดับมาตรฐานสมรรถนะด้านการใช้ไอทีของกำลังคนทุกสาขาอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
ด้านศาสตราจารย์ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคราม กล่าวว่า ในปัจจุบันศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม และด้านการศึกษา ซึ่งด้านการศึกษานั้นเราจะเห็นได้จากการค้นหาเริ่มง่ายและเร็วขึ้น ยกตัวอย่างสมัยก่อนเวลาเราจะดูว่าต้นไม้มีสารเคมีอะไรบ้าง เราต้องใช้เวลาถึง 3 ปี ในการสำรวจ แต่ทุกวันนี้มีใบไม้เพียงไม่กี่ใบก็สามารถหาได้แล้วว่ามีสารเคมีอะไรบ้าง และจะเป็นลักษณะของความรู้ที่สามารถค้นคว้าได้เอง ซึ่งต่อเนื่องมาถึงยุคดิจิทัลในปัจจุบันที่วิถีชีวิตของผู้คนเริ่มเปลี่ยนหันมาสนใจเทคโนโลยีกันมากขึ้นจึงไม่แปลกที่ตอนนี้เรื่องไอทีจึงกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว
โดยทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และประชาชนทุกภาคส่วนในสังคม ต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต และเกิดการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ บนพื้นฐานของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเชื่อมโยงคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย เข้าด้วยกัน