- Details
- Category: ไอที-เทคโนฯ
- Published: Wednesday, 24 June 2015 22:38
- Hits: 3468
ล็อกซเล่ย์ จับมือไชน่าเทเลคอมฯ ยักษ์ใหญ่จากจีน ร่วมเสนอตัวเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของทีโอที
บมจ.ล็อกซเล่ย์ ไวร์เลส เซ็นเอ็มโอยูกับไชน่า เทเลคอมฯ ยักษ์ใหญ่จากจีน ผนึกกำลังเข้าชิงตำแหน่งพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของทีโอที เผยนำเสนอแผนงานพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมและเน็ตความเร็วสูงเรียบร้อยแล้ว
นายวสันต์ จาติกวาณิช กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท ล็อกซเล่ย์ ไวร์เลส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบมจ.ล็อกซเล่ย์ ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท ไชน่า เทเลคอม โกลบอล จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ร่วมกันเสนอตัวเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ร่วมกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเสนอโครงการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4G-LTE ซึ่งสอดคล้องกับโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2558-2562 โดยเกี่ยวข้องในส่วนของโครงข่ายโทรคมนาคม 2 โครงการ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 1 โครงการ
“บริษัทฯ มีความพร้อมเต็มที่ ที่จะเข้าไปเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ร่วมกับบมจ.ทีโอที เพราะมีพันธมิตรรายใหญ่ที่มีประสบการณ์สูงอย่างไชน่า เทเลคอมฯ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยีจากบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด อีกด้วย ซึ่งทางกลุ่มได้ดำเนินการยื่นข้อเสนอในการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของบมจ.ทีโอที” นายวสันต์ กล่าว
สำหรับการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตดังกล่าว จะเป็นการเอื้อประโยชน์รองรับโครงการภาครัฐต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เชื่อมโยงหรือ Internet of Things (IoT) ได้อีกมากมาย อาทิเช่น การตรวจวัดปริมาณน้ำ การตรวจพื้นที่ประสบภัย การเฝ้าระวังระยะไกล โครงการภาครัฐต่างๆเพื่อการศึกษาและบริการสาธารณะ ตลอดจนสามารถนำไปใช้สนับสนุนให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงเพื่อสังคม (USO)
กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ กล่าวอีกว่า “ไชน่า เทเลคอมฯ เป็นส่วนสำคัญของการร่วมมือครั้งนี้ เพราะเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ที่มีประสบการณ์รอบด้าน ได้แก่ การให้บริการ 4G, FTTx อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และดาต้า เซ็นเตอร์ มีลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศจีนหลายร้อยล้านราย (subscribers) ดังนั้น ในอนาคต บริษัทฯจึงมีแผนที่จะขยายความร่วมมือทางธุรกิจกับไชน่า เทเลคอมฯ ต่อไป
โดยจะร่วมมือกันดำเนินโครงการต่างๆ ในกิจการที่รัฐส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน เน้นบริการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การพัฒนาเครือข่ายข้อมูลเชื่อมโยงงานภาครัฐ การพัฒนาระบบคลาวด์ภาครัฐ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบูรณาการระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ Public Wi-Fi และ International Gateway ซึ่งไชน่า เทเลคอมฯสามารถนำประสบการณ์จากโครงการลักษณะเดียวกันที่ทำสำเร็จแล้วในประเทศจีนมาพัฒนาในประเทศไทยได้ในทันที”
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย