- Details
- Category: ไอที-เทคโนฯ
- Published: Thursday, 01 June 2023 00:25
- Hits: 1881
การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และบีซีไอ ร่วมจับมือยกระดับบริการออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (eLG on Blockchain) แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ
การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และบีซีไอ จับมือร่วมกันเปิดตัวบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนเทคโนโลยีบล็อกเชน (eLG on Blockchain) เพื่อยกระดับมาตรฐานของการให้บริการ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงกระบวนการ เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ให้แก่ผู้ใช้บริการ
นายพิพัฒน์ ชลอำไพ รองผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า ในฐานะองค์กรผู้ให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ มุ่งมั่นพัฒนาและขับเคลื่อนองค์กรด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ครอบคลุมการดำเนินงานที่สำคัญใน 4 มิติ ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่ การยกระดับมาตรฐานบริการ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงกระบวนการให้บริการในรูปแบบ Fully Digital Service เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่เหนือกว่า ผ่านการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ
สำหรับการให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ระหว่างการไฟฟ้านครหลวง กับบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง สามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเชื่อถือได้ ทั้งกระบวนการขอวางหลักประกัน การต่ออายุหนังสือค้ำประกัน รวมไปถึงการส่งคืนเมื่อหมดภาระผูกพันอีกด้วย และนอกจากข้อดีในส่วนของการให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าแล้ว ในส่วนของการไฟฟ้านครหลวงเองนั้น หนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ก็ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานในส่วนของการจัดเก็บเอกสาร และการดูแลรักษาหนังสือค้ำประกันได้เป็นอย่างมาก จากการเปลี่ยนการเก็บรักษาหนังสือค้ำประกันรูปแบบกระดาษมาอยู่บนระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด
ทั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนเทคโนโลยีบล็อกเชน กับบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา และได้เริ่มอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบางส่วน ก่อนจะขยายให้ครอบคลุมอย่างต่อเนื่องต่อไป
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เข้าร่วมแสดงความยินดีภายในงานดังกล่าว เปิดเผยว่า บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือของภาคธนาคาร โดยมีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในภาคธนาคารรวมถึงภาคธุรกิจ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการ โดย “บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Letter of Guarantee” ซึ่งถือเป็นบริการแรกของบีซีไอนั้น ได้ผ่านการทดสอบนวัตกรรมใน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นระบบงานแรกที่นำบล็อกเชนมาใช้กับการจัดการหนังสือค้ำประกัน โดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภาคธุรกิจ แต่รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายภายใต้แผนยุทธศาสตร์ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ตอบรับกับความท้าทายท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ต้องเตรียมรับมือหรือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศมีพัฒนาการและปรับตัวได้อย่างเท่าทัน
นายกึกก้อง รักเผ่าพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บริการ eLG on Blockchain มีธนาคารต่างๆ ร่วมให้บริการบนแพลตฟอร์มแล้ว มากกว่า 19 ธนาคาร และในขณะเดียวกัน ในด้านของผู้รับหนังสือค้ำประกันเอง ก็ได้รับความไว้วางใจจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน มากกว่า 170 หน่วยงาน จนปัจจุบัน มีจำนวนหนังสือค้ำประกันบนแพลตฟอร์มแล้วมากกว่า 150,000 รายการ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนครอบคลุมจำนวนหนังสือค้ำประกัน มากกว่าร้อยละ 80 ของประเทศได้ ภายใน 5 ปีนี้
การเข้าร่วมใช้บริการของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในครั้งนี้ จะสามารถช่วยลดต้นทุนในการจัดการเอกสารและการดูแลข้อมูล ตลอดจนลดขั้นตอนในการทำงาน ภายใต้ความปลอดภัยระดับสากล สามารถตรวจสอบเอกสารได้อย่างรวดเร็วผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 100% ก้าวสู่การเป็นองค์กร Digital Utility ได้อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันทั้งการไฟฟ้านครหลวงและบีซีไอมีแผนความร่วมมือการเพื่อผลักดันการให้บริการออกหนังสือค้ำประกัน eLG on Blockchain ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ สามารถใช้บริการได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านธนาคารพันธมิตรทั้ง 19 ธนาคาร
นายสิริวัฒน์ เกียรติเจริญสิน ผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากความสำเร็จของบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบล็อกเชนแล้ว ทางบริษัทกำลังศึกษาการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนต่อยอดไปยัง use case อื่นๆ เพื่อพัฒนาบริการใหม่ นอกจากภาคการเงินอีกด้วย เช่น บริการหนังสือรับรองทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบล็อกเชน หรือ eBC (Electronic Bank Confirmation on Blockchain) ที่ผู้สอบบัญชี จะได้รับข้อมูลสินทรัพย์ ภาระผูกพัน และธุรกรรมทางการเงินที่บริษัทต่างๆ มีกับธนาคาร สำหรับการตรวจบัญชี โดยสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยบริการนี้ อาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงสถาบันทางการเงินและสำนักงานผู้ตรวจสอบบัญชีชั้นนำทั้งระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งบีซีไอคาดว่าจะพร้อมให้บริการแก่ผู้สอบบัญชีทุกท่านได้ภายในปี 2566 นี้ อย่างแน่นอน
A51270