- Details
- Category: ไอที-เทคโนฯ
- Published: Friday, 09 October 2020 17:16
- Hits: 2456
‘เอบีม คอนซัลติ้ง’ จับมือ ‘ออโต้ฟลีต’ สตาร์ทอัพด้าน Mobility
ขยายตลาด MaaS ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของญี่ปุ่นเผย สำนักงานใหญ่ในกรุงโตเกียว จับมือพันธมิตร “ออโต้ฟลีต” สตาร์ทอัปด้านการเดินทาง (mobility) วางเป้าหมายขยายบริการ Mobility-as-a-Service หรือ MaaS ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มุ่งผสานความรู้ของเอบีมกับโซลูชั่นล้ำสมัยของออโต้ฟลีต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจ MaaS พร้อมแก้ประเด็นปัญหาทางสังคมด้านขนส่งในหลายประเทศ นำร่องโครงการแรกกับบริการ Ride-sharing ของไมโครบัสในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจในรูปแบบดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ในญี่ปุ่น ได้ประกาศความร่วมมือทางธุรกิจกับ บริษัท ออโต้ฟลีต จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพด้านการเดินทาง (Mobility) ของอิสราเอล โดยความร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง 2 บริษัท จะทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่โปรเจ็กต์ MaaS จากการนำเสนอทางกลยุทธ์ สู่การกำหนดแผนทางธุรกิจที่เป็นจริง การนำระบบไปให้บริการ ไปจนถึงการบริหารงานเพื่อความสำเร็จ ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้จะเริ่มดำเนินการในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่บริการด้านการเดินทางขยายตัวอย่างมาก และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับความต้องการด้านการขนส่งที่เพิ่มขึ้น
กลุ่มเป้าหมายของความร่วมมือนี้ คือ กลุ่มผู้ให้บริการรถแท็กซี่ รถเช่า บริการแชร์รถ บริการเช่าซื้อ และผู้ให้บริการยานพาหนะอื่นๆ ตลอดจนหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นที่กำลังวางแผนให้บริการด้านการเดินทางรูปแบบใหม่ ขณะเดียวกันยังช่วยให้ร้านขายของชำ หรือผู้ประกอบการค้าปลีกและจัดส่งอาหารรายอื่นที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก สามารถเข้าถึงบริการครบวงจรที่ครอบคลุมทุกฟังก์ชันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ด้วยการกระจายยานพาหนะตามการคาดการณ์ความต้องการล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีการอัปเดทให้ทันเหตุการณ์ต่อเนื่องในเวลาหลังจากนั้น แพลตฟอร์มนี้ยังสามารถช่วยให้เมืองต่างๆ สามารถวางแผนและให้บริการด้านการเดินทางแบบใหม่ รวมถึงการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับโซลูชั่นการเดินทางอัจฉริยะ เช่น จุดชาร์จพลังงานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงกับระบบของสถาบันทางการแพทย์ การศึกษา และการบริหารสถาบัน ตลอดจนหน่วยงานเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมในวงกว้าง ผ่านการบริหารปริมาณการจราจรในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการขจัดความไม่เสมอภาคของระดับการเดินทางในภูมิภาคได้อีกด้วย
“เอบีมให้บริการลูกค้าต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ในหลากหลายอุตสาหกรรม ด้วยบริการให้คำปรึกษาที่ครอบคลุม ถึงการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ และการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจตามกลยุทธ์ที่ตั้งเป้าไว้ ที่ผ่านมา เอบีมประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ความรู้ และประสบการณ์ที่มี เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถสร้างบริการใหม่สู่ตลาด MaaS ซึ่งไม่ใช่แค่องค์กรในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ยังมีองค์กรของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ ความร่วมมือกับออโต้ฟลีตจะรวมเอาองค์ความรู้ของเอบีมเข้ากับโซลูชั่นขั้นสูงของออโต้ฟลีต ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดของธุรกิจ MaaS ในขณะเดียวกัน จะช่วยให้บริษัทได้มีโอกาสเต็มที่ ในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง และปัญหาการจราจรที่มีผลกระทบต่อสังคมในหลายประเทศ” นายฮิโรยูกิ ไอทานิ เจ้าหน้าที่บริหารและหัวหน้าหน่วยธุรกิจการผลิตและผู้บริโภค บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าว
โครงการเริ่มต้นนำร่องจากความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นการสนับสนุนการพิสูจน์แนวคิด (PoC) ของบริการแชร์รถไมโครบัสในพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่นำเสนอโดยบริษัท ฟิจิกซ์ อินดัสตรี จำกัด (FIGIX Industry Co. Ltd.) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจัดส่งรถแท็กซี่ที่มีส่วนสนับสนุนการเติบโตของบริษัทญี่ปุ่นหลายรายในอาเซียน โดยบริการแชร์รถไมโครบัสจะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและความรู้ของทั้ง 2 บริษัทอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างรูปแบบบริการ MaaS ที่มีประสิทธิภาพ โครงการนี้ เอบีมและออโต้ฟลีตได้ร่วมกันพัฒนาแบบจำลองความต้องการการเดินทางของประชาชนในกรุงพนมเปญ จากนั้นจึงประเมินตำแหน่งยานพาหนะ เส้นทาง และขนาดของยานพาหนะที่เหมาะสมกับผลการคาดการณ์ ด้วย PoC นี้ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะเน้นขจัดปัญหาการจราจรติดขัดที่ส่งผลกระทบต่อกรุงพนมเปญ และการให้บริการขนส่งมวลชนในพื้นที่นอกเส้นทางบริการรถประจำทาง
“Mobility-as-a-Service หรือ MaaS เป็นแนวคิดที่จะเปลี่ยนการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ไปสู่โซลูชั่นการเดินทางแบบแชร์ร่วมกันหลายรูปแบบ เช่น บริการไรด์เฮลลิ่ง บริการแชร์รถ รถขนส่งขนาดเล็ก และอื่นๆ การเดินทางรูปแบบใหม่เหล่านี้ได้รับการพัฒนานอกเหนือจากอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเข้าถึงตลาดขนส่งสาธารณะ อุตสาหกรรมไอที และหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นของประเทศต่างๆ ที่ต้องการแก้ปัญหาทางสังคม เช่น ปัญหาการจราจรติดขัด และปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้ว่าความต้องการเดินทางของผู้คนจะลดลงอย่างมากเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ยา อาหาร และของใช้ในบ้าน ก็ยังมีความต้องการให้จัดส่งเพิ่มขึ้นชัดเจน ดังนั้น โลกจึงต้องการบริการและโซลูชั่นใหม่ที่รองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม สำหรับในประเทศไทย บริษัทฯ มองเห็นศักยภาพในการเติบโตของ MaaS มากขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากไลฟ์สไตล์และทัศนคติที่มีต่อการเป็นเจ้าของทรัพย์สินกำลังเปลี่ยนไป” ฮาระทิ้งท้าย
A10223
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ