- Details
- Category: ไอที-เทคโนฯ
- Published: Friday, 22 November 2019 18:25
- Hits: 626
เอ็นไอเอ เร่งอัพสปีดนวัตกรรมไทย แชร์ไกด์ไลน์ตามรอยกลุ่ม ‘นอร์ดิก’
พร้อมโชว์โมเดลเทคโนโลยีที่ต้องก้าวตาม หนุนความยั่งยืนเป็นตัวแปรสำคัญ
• เอ็นไอเอสานความสัมพันธ์ไทย-ฟินแลนด์ จัดงาน FUSE@Bangkok เปิดมุมมองสร้างสรรค์นวัตกรรมแบบนอร์ดิก พร้อมเดินหน้าสานต่อความร่วมมือพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ – ศักยภาพเทคโนโลยี
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จับมือพันธมิตร ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ และหอการค้าไทย – ฟินแลนด์ จัดสัมมนาเชิงวิชาการด้านนวัตกรรม Fuse@Bangkok เพื่อสร้างประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างไทยและฟินแลนด์ เผยฟินแลนด์และกลุ่มประเทศนอร์ดิกเป็นต้นแบบการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับประเทศไทยหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของเทคโนโลยีชีวภาพ วิธีการเก็บและบริหารจัดการฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสร้างความยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าไว้ในอนาคตไทยและฟินแลนด์จะมีความร่วมมือทางด้านการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มเติม เช่น การส่งเสริมสตาร์ทอัพระหว่างไทยและกลุ่มประเทศนอร์ดิก การแลกเปลี่ยนบุคลากรของไทยและฟินแลนด์ ฯลฯ
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA ได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย หอการค้าไทย – ฟินแลนด์ และบริษัท Renesans Consulting จำกัด จัดงาน Fuse@Bangkok ซึ่งเป็นงานสัมมนาเชิงวิชาการด้านนวัตกรรม ที่ได้รับเกียรติจากผู้บรรยายที่มีชื่อเสียงจากในประเทศไทยและต่างประเทศ ทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน เช่น สถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์, KONE, SCG, NOKIA, AIT, และ VALMET มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการสร้างสรรค์นวัตกรรมในไทย และฟินแลนด์ ทั้งในมุมองของภาครัฐและภาคเอกชน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อการสร้างผู้นำนวัตกรรมยุคใหม่ การขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน การสร้างวัฒนธรรมด้านนวัตกรรม การพัฒนาศักยภาพเพื่อนวัตกรรมในอนาคต และนวัตกรรมในภาครัฐและสถาบันอีกด้วย ทั้งนี้ ตั้งเป้าไว้ว่าในอนาคตไทยและฟินแลนด์จะมีความร่วมมือทางด้านการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มเติม เช่น การส่งเสริมสตาร์ทอัพระหว่างไทยและกลุ่มประเทศนอร์ดิก การพัฒนานวัตกรรมในองค์กรภาครัฐ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนบุคลากรของไทยและฟินแลนด์ เป็นต้น
“สำหรับกิจกรรมดังกล่าว NIA ได้เรียนรู้ถึงแนวทางการพัฒนานวัตกรรมแบบ “นอร์ดิก” ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพและใช้ในกลุ่มสาธารณรัฐฟินแลนด์ ราชอาณาจักรนอร์เวย์ ประเทศสวีเดน ราชอาณาจักรเดนมาร์ค และประเทศไอซ์แลนด์ โดยเทคโนโลยี และนวัตกรรมส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ กลุ่มประเทศนอร์ดิกยังถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีอิทธิพลในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกโดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่เคยเกิดขึ้น เช่น ระบบภาษา C++ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกปัจจุบันและเป็นรากฐานสำหรับระบบต่างๆ เกือบทุกอย่างในโลกเทคโนโลยี เช่น เซิร์ฟเวอร์โทรศัพท์มือถือ เราเตอร์ (Router) ฐานข้อมูล (Database) ระบบ Linux ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดของฟรีซอฟต์แวร์ หรือแม้แต่กระทั่งเครื่องมือสื่อสารยอดนิยมอย่าง NOKIA ก็ถือกำเนิดขึ้นในภูมิภาคนี้เช่นเดียวกัน”
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยสามารถหยิบยกการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบนอร์ดิกมาเป็นต้นแบบได้ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของเทคโนโลยีชีวภาพให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อทำให้สังคมและเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างสมดุล ส่วนต่อมาคือการเรียนรู้วิธีการเก็บข้อมูล (BIG DATA) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและนำมาใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาเกี่ยวกับนวัตกรรมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสารโทรคมนาคมที่กำลังจะทวีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศในปีถัดไป การมุ่งเน้นเทคโนโลยีที่สร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่มล้ำสังคม เช่น การบริการรักษาพยาบาล การศึกษา การจัดระบบบำเหน็จบำนาญ การดูแลผู้พิการและผู้สูงอายุ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ตั้งแต่การจัดการเรื่องของเสีย การนำกลับมาใช้ใหม่ การจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ
นางซาตู ซุยก์การี-เคลฟเวน (H.E. Mrs. Satu Suikkari-Kleven) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีขีดความสามารถทางนวัตกรรมในระดับสูง ได้รับการจัดอันดับจาก Bloomberg Innovation Index ให้อยู่ในลำดับที่ 3 ของประเทศที่มีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมของโลกประจำปี 2019 และอยู่ในอันดับ 6 ของดัชนีนวัตกรรมระดับโลก (Global Innovation Index 2019: GII 2019) ซึ่งจัดโดยองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก เนื่องจากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมจากรัฐบาล และหน่วยงานเอกชนต่างๆ อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศแล้ว ยังสามารถช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างชัดเจน จึงทำให้ชาวฟินแลนด์ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาด้านนวัตกรรมต่อไปเพื่อความยั่งยืนในอนาคต และฟินแลนด์มีความยินดีเป็นอย่างมากที่จะสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพระหว่างไทยและฟินแลนด์ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น”
ด้านศาสตราจารย์อาลฟ์ เรห์น (Prof. Alf Rehn) ศาสตราจารย์และนักเขียนที่มีชื่อเสียงชาวฟินแลนด์ กล่าวว่า “ประเทศฟินแลนด์ใช้เงินลงทุนพัฒนาด้านนวัตกรรมโดยรวมมากกว่า 3,000 ล้านยูโร ในขณะที่องค์กรและบริษัทส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้เงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการพัฒนา และการลงทุนด้านนวัตกรรมในบางครั้งก็สร้างนวัตกรรมที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เช่น บริษัทแห่งหนึ่งผลิต magic socks ถุงเท้าที่จะมีสัญญาณการแจ้งเตือนแก่ผู้สวมใส่ว่าถุงเท้ายังคงอยู่ในสภาพดีหรือไม่ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ไม่ได้มีประโยชน์มากพอต่อสังคม เป็นการใช้เงินลงทุนไปแต่ได้ประโยชน์กลับมาเพียงเล็กน้อย เราจึงต้องคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าเพียงพอไม่ใช่นวัตกรรมตื้นเขิน (shallow innovation) ประเทศกลุ่มนอร์ดิกเป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากรรวมกันน้อยกว่าประเทศไทยเสียอีก เราจึงต้องคิดวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบุคคลที่มีให้คุ้มค่าที่สุด หัวใจของการสร้างนวัตกรรมในกลุ่มนอร์ดิกไม่ได้เกิดจากใช้ทักษะด้านองค์ความรู้/ความสามารถเชิงเทคโนโลยีในมิติของ Hard skills เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากมิติด้าน Soft skills ด้วย เช่น ความเชื่อใจ (trust) ความโปร่งใส (transparency) และ ความร่วมมือร่วมใจ (togetherness) เพื่อจะช่วยสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมได้
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand
AO11509
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web