- Details
- Category: ไอที-เทคโนฯ
- Published: Sunday, 28 January 2018 10:29
- Hits: 2865
นักศึกษาวิศวลาดกระบัง คว้ารางวัลความปลอดภัยไซเบอร์ จากเวทีแข่งขัน KPMG Cyber Security Challenge ประเทศมาเลเซีย
บ่อยครั้งที่เราได้ยินข่าวโจรไซเบอร์แฮ็คเจาะข้อมูลสร้างความสียหายมหาศาลให้กับธุรกิจการดำเนินงานมากมาย แม้ดิจิตัลเทคโนโลยีนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิต การทำงาน การศึกษาและแพลตฟอร์มการทำธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้นมากมายได้นำมาซึ่งความสะดวกสบาย ชีวิตที่ทันสมัยและประสิทธิภาพ แต่ก็มีภัยทางไซเบอร์ตามมาด้วย ล่าสุด ในการจัดแข่งขัน KPMG Cyber Security Challenge 2017 ณ ศูนย์ CCEC (Connexion Conference & Event Centre ) เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ผลปรากฏว่า ทีม 555 พลัส จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า การแข่งขัน KPMG Cyber Security Challenge เป็นเวทีประลองทักษะและความสามารถในความปลอดภัยไซเบอร์ในด้านการตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ (Digital Forensics) การตรวจสอบช่องโหว่ของเว็บและโมบายแอพพลิเคชั่น (Mobile and Web Application Exploitation) ช่องโหว่ของระบบเครื่องข่ายและระบบปฏิบัติการ (Network and System Exploitation) การวิเคราะห์การทำงานของมัลแวร์ (Malware Analysis) การทำวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse Engineering) การเข้ารหัส (Cryptography) และการรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ (Physical Security) เพื่อวิเคราะห์และแก้ปัญหาโจทย์ต่างๆ จัดโดย เคพีเอ็มจี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมศักยภาพความสามารถของเยาวชน พัฒนาการป้องกันการแฮคข้อมูลและยกระดับความปลอดภัยทางดิจิทัล เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่มากมาย ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงคอมพิวเตอร์อีกต่อไปแล้ว บรรดาของใช้ภายในบ้านได้กลายเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้อัจฉริยะด้วยนวัตกรรมไอโอที เทคโนโลยีซึ่งช่วยให้ชีวิตของเราสามารถเชื่อมและติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะเดียวกัน เทคโนโลยียังเพิ่มอัตราความเสี่ยงในการถูกโจมตีทางไซเบอร์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทั้งยังช่วยเผยแพร่ความรู้ให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในโลกไซเบอร์อีกด้วย
อิสรา นรานิรัติศัย (ดรีม) หนุ่มนักศึกษาหัวหน้าทีมไทย ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ทีมของเราได้เข้าแข่งขันรายการ KPMG Cyber Security Challenge ที่ประเทศมาเลเซีย มีสมาชิกในทีมมี 4 คนคือ ตัวผมเอง ,นายเมธาสิทธิ์ รินทร ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ , นายธรรศ แสงสมเรือง ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ, นายกมนณพ อรุณรัตน์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และมีผศ. อัครเดช วัชระภูพงษ์ เป็นอาจารย์ผู้ควบคุมทีม ในการแข่งขันจะมีโจทย์ต่างๆ เพื่อทดสอบทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยจะเป็นโจทย์ให้ทำเรียงลำดับเป็นข้อๆ ความท้าทายอยู่ที่เมื่อได้คำตอบในข้อปัจจุบันจะเป็นเบาะแสเพื่อหาคำตอบในข้อถัดไป สำหรับเกณฑ์การตัดสินดูจากคะแนนที่ได้จากการหาคำตอบและเวลาที่ส่งคำตอบที่เร็วที่สุดในกรณีที่ได้คะแนนเท่ากัน ทีมวิศวลาดกระบัง สจล.ได้เตรียมตัวมาอย่างหนักโดยการหาโจทย์เก่าๆและโจทย์จากการแข่งขันในรายการอื่นๆมาฝึกซ้อม
ประสบการณ์ที่เราได้รับจากการไปแข่งขันครั้งนี้จะนำมาพัฒนาใช้ประโยชน์สำหรับบ้านเรา มีโอกาสได้รู้จักมืออาชีพในวงการความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้ฝึกประสบการณ์จากการแข่งขันและได้เพิ่มพูนความรู้ทางด้าน Cyber มากขึ้น และการทำงานเป็นทีมกับเพื่อนๆ ทำให้เกิดความสามัคคีในทีมเป็นอย่างมาก เพราะขั้นตอนการแข่งขันต้องช่วยกันระดมความคิด เพื่อวิเคราะห์และแก้ปัญหาโจทย์ต่างๆ ในเวลาเดียวกันยังช่วยแก้การไขรหัสแฮกข้อมูล นำมาประยุกต์ใช้ซึ่งทำให้ทราบถึงกลวิธีและจุดอ่อนของตนล่วงหน้าเพื่อหาทางป้องกันก่อนที่ผู้ประสงค์ร้ายจะกระทำการไม่ดีต่อระบบ อาชญากรรมทางไซเบอร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ในเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา การโจมตีทางระบบความปลอดภัยไซเบอร์ เกิดเป็นช่องโหว่จากความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์อยู่ในระดับสูงสุดอย่างเป็นประวัติการณ์ และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนาน
ดรีม ให้มุมมองว่า เทคโนโลยีนั้นมี 2 ด้าน ประโยชน์มากล้น แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้คอมพิวเตอร์อย่างปลอดภัย เช่น ควรตรวจสอบความปลอดภัยอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ติดตั้งหรือดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ต่างๆที่มีความเสี่ยง และรักษาความเป็นส่วนตัว ไม่ดาวน์โหลดและติดตั้งซอฟต์แวร์จากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ การตั้งรหัสผ่านต่างๆให้มีความยากต่อการเดา เพราะวิธีการของแฮ็กเกอร์จะหาจุดอ่อนหรือช่องโหว่ของระบบ จากนั้นก็จะเจาะเข้ามาใน เซิร์ฟเวอร์และเข้ามาทำความเสียหายให้กับข้อมูล
นอกจากนี้ ควรมีข้อปฏิบัติที่ดี 1.ติดตั้งซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัย 2. ตั้งค่าระบบ IT ให้มีความรัดกุม 3. สำรองข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ 4. กำหนดสิทธิของผู้ใช้ และ 5. จัดการสภาพแวดล้อมทาง IT ให้เป็นระบบปิดมากที่สุด