- Details
- Category: อาชีวะ
- Published: Wednesday, 07 October 2020 17:09
- Hits: 1728
อาชีวะ ยกกำลัง 2 'ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง อาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศ'
นายกรัฐมนตรีเปิดงาน 'อาชีวศึกษายกกำลังสอง' ย้ำโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ต้องปรับตัว วิธีคิด ผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องความต้องการตลาดงาน เป็นคนดี รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ วอนทุกคนให้รวมพลังเดินหน้าพัฒนาประเทศ ด้าน รมว.ศธ.เผยความพร้อมพัฒนากำลังคนอาชีวะ ด้วยศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (HCEC) พร้อมจัดหลักสูตรอาชีวะเฉพาะทาง ‘1 เอกชน ต่อ 1 วิทยาลัย’ ใน 7 สายงานหลัก เดินหน้าร่วมมือกับภาคเอกชนจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศอาชีวศึกษาให้ครบ 50 แห่ง ภายในปีนี้ และครบ 100 แห่งทั่วประเทศ ภายในปี 2564 เพื่อยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาไทยสู่มาตรฐานสากล
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงาน “อาชีวศึกษายกกำลังสอง” โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวแสดงความพร้อมการขับเคลื่อนสู่มิติใหม่อาชีวศึกษาไทย ณ ห้องประชุมปทุมมาศ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า อาชีวะถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศ เพราะบุคคลเหล่านี้ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการทุกประเภท ทั้งครู และนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา จำเป็นต้องพัฒนาตนเอง รวมทั้งองค์กรให้ก้าวไกล อีกทั้งเยาวชนเป็นอนาคตสำคัญของประเทศ
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลจึงได้กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ มีลำดับเวลาจนครบ 20 ปี แต่การกำหนดยุทธศาสตร์ไม่ได้หมายถึงเรื่องการสืบทอดอำนาจใด ๆ ทั้งสิ้น
วันนี้ โลกเปลี่ยนไปมาก เทคโนโลยีต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องปรับวิธีคิดใหม่ สมองต้องทันสมัย ต้องปรับตัว ปรับหลักคิดและวิสัยทัศน์อย่างสร้างสรรค์ ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ ต้องผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน พร้อมทั้งมีความรู้ความเข้าใจ เป็นคนดี รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปอีกว่า หากมองแบบเข้าข้างตัวเอง ถือว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่สุดในอาเซียน สิ่งเหล่านี้จะหายไปถ้าประเทศเรามีความวุ่นวาย ขาดเสถียรภาพ ดังนั้นทำอย่างไรจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศให้มากที่สุด ใช้ทรัพยากรมนุษย์ให้คุ้มค่าที่สุด แก้ปัญหาทุจริต และอุปสรรคต่าง ๆ
วันนี้ ต้องร่วมกันเดินหน้า โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 คนในประเทศต้องมีความรัก ความสามัคคี และร่วมมือกัน ขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่กำจัดอุปสรรคและสร้างโอกาสใหม่ ๆ ไม่ว่าเราทำอะไร ทั่วโลกก็รับรู้ เช่นเดียวกันโลกทำอะไรเราก็รับรู้ จึงขอให้ทำในสิ่งดี ๆ ให้คนทั่วโลกรักประเทศไทย รักขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมไทย รักรอยยิ้ม รักอาหาร รักสิ่งแวดล้อมของไทย สิ่งที่ดีมีอยู่แล้วอย่าไปทำลาย อย่าทำให้โอกาสเป็นวิกฤติ ถึงแม้จะมีวิกฤตโควิด-19 แต่เราต้องเอามาเป็นโอกาส ในการลดการแพร่ระบาด มีบุคลากรทางการแพทย์พร้อม และเตรียมความพร้อมในการดูแลประเทศ ถ้าไม่ระมัดระวังก็อาจจะกลับไปแพร่ระบาดได้ ทั้งที่เราป้องกันมาได้ไกลแล้ว ต่อจากนี้ก็จะดีขึ้นตามลำดับ
มีคนบอกว่าเข้ามาประเทศไทยไม่เคยตกงาน ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ อยากมาใช้ชีวิตในประเทศไทย แต่ก็อยากทำงานต่างประเทศเพราะเงินเดือนสูง ดังนั้นทำอย่างไรให้เงินเดือนสูงขึ้น จึงต้องทำในกรอบใหญ่ของประเทศเพื่อเดินหน้า รัฐบาลพยายามคิดแบบนี้ ถ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาษีอะไรต่าง ๆ ผลประโยชน์ รวมทั้งความเจริญ ทุกอย่างจะกลับไปที่ประชาชน
“สิ่งสำคัญคือกระบวนความคิด ไม่มีอะไรที่จะทำวันนี้ เสร็จพรุ่งนี้ หรือพูดเพียงปากเปล่าแล้วงานเสร็จ ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับระเบียบ กติกา กฎหมาย บ้านเรากว่าจะทำได้ก็ผ่านเวลามาหลายปี ดังนั้น สิ่งที่พูดว่าจะให้ปรับเปลี่ยนในวันนี้พรุ่งนี้มันทำไม่ได้ เรามีทั้งทรัพยากรธรรมชาติและบุคลากรมนุษย์ ต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรถึงจะเกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้ดีที่สุด คุ้มค่าประหยัด มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริต เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อประเทศของเรา เราต้องรวมพลังในการเดินหน้าร่วมกับรัฐบาล ไม่เช่นนั้นจะไม่ทันการณ์” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ภายหลังพิธีเปิด นายกรัฐมนตรีได้ชมนิทรรศการอาชีวะยกกำลังสอง กลุ่มวิชาชีพภายใต้ความร่วมมือ ณ ห้องประชุมปทุมมาศ อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ อาทิ ปิโตรเคมี (Petrochemical), เทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Technology), หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics), เกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming), อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industry), อุตสาหกรรมระบบราง (Railway Industry) และยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automotive) และธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality Industry) และทดลองขับรถยนต์ไฟฟ้า ELECTRIC VEHICLE (EV) อีกด้วย
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันอาชีวศึกษา จำเป็นต้อง ‘ปลดล็อก’ จากการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมที่ไม่ตอบโจทย์การทำงาน ก่อให้เกิดปัญหาช่องว่างทางทักษะที่ไม่เพียงพอต่อการทำงานจริง พร้อม ‘ปรับปลี่ยน’เพื่อเชื่อมโยงความรู้ ทักษะที่จำเป็นให้สอดคล้องเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ และ ‘เปิดกว้าง’ ด้วยการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและภาคเอกขน ในการเตรีมความพร้อมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนกำลังคนในทุกมิติสู่ความเป็นเลิศในแต่ละด้าน เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน ที่ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมต้องการ ตลอดจนเป็นการเพิ่มพูนทักษะกับมืออาชีพในสถานที่จริง เพื่อให้ได้ศักยภาพแรงงานที่ตรงกับความต้องการ และมีความเป็นเลิศอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ศธ.มีความพร้อมในการสร้างกลไกขับเคลื่อนอาชีวศึกษายกกำลังสอง ด้วยศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center: HCEC) ของอาชีวศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนาทุนมนุษย์สู่ความเป็นเลิศอย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นหลักสูตรอาชีวศึกษาเฉพาะทาง แบบ 1 เอกชน ต่อ 1 วิทยาลัย ใน 7 สายงานหลัก ได้แก่
- ปิโตรเคมี (Petrochemical)
- เทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Technology)
- หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics)
- เกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming)
- อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industry)
- อุตสาหกรรมระบบราง (Railway Industry) และยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automotive)
- ธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality Industry)
ซึ่งได้รับความร่วมมือในการช่วยกันพัฒนาและยกระดับการจัดการอาชีวศึกษาจากสถานประกอบการชั้นนำ 32 แห่ง และตั้งเป้าหมายจะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศอาชีวศึกษาให้ครบ 50 แห่ง ภายในปี 2563 และครบ 100 แห่งทั่วประเทศ ภายในปี 2564
การจัดงานครั้งนี้ มีผู้บริหาร ศธ.เข้าร่วม อาทิ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ., นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษา รมว.ศธ., นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร เลขานุการ รมว.ศธ., นายอำนาจ วิชยานุวัติ รักษาการเลขาธิการสภาการศึกษา, นายสุเทพ แก่งสันเทียะ รักษาการเลขาธิการ กอศ., นายอัมพร พินะสา รักษาการเลขาธิการ กพฐ., นายสุทิน แก้วพนา รักษาการรองปลัด ศธ. ตลอดจนผู้บริหารสถานประกอบการชั้นนำของประเทศ และสื่อมวลชน
ศธ. เร่งยกระดับอาชีวศึกษาไทยสู่ความเป็นเลิศ
กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศพร้อมขับเคลื่อนอาชีวศึกษายกกำลังสอง 'สู่มิติใหม่อาชีวศึกษาไทย' มุ่งผลิตและพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ด้วยศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center: HCEC) เพื่อยกระดับศักยภาพกำลังคนอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของประเทศ พร้อมโชว์ศักยภาพกระแสตอบรับ จากผู้ประกอบการชั้นนำระดับประเทศและระดับโลก โดยเข้ามาช่วยพัฒนาหลักสูตร แบบ 1 เอกชนต่อ 1 วิทยาลัย ใน 7 สายงานหลัก รวม 32 แห่ง ตั้งเป้าจัดตั้งศูนย์ HCEC อาชีวศึกษา 50 แห่ง สิ้นปี 2563 และครบ 100 แห่ง ในปี 2564
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศความพร้อมในการสร้างกลไกขับเคลื่อนอาชีวศึกษายกกำลังสอง ด้วยศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center: HCEC) ของอาชีวศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) สู่ความเป็นเลิศและยั่งยืน สอดคล้องกับแผนงานการปฏิรูปการศึกษายกกําลังสอง โดยมุ่งเน้นให้กระบวนการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งจำเป็นต้อง ‘ปลดล็อก’ จากการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมที่ไม่ตอบโจทย์การทำงาน ที่ก่อให้เกิด Skill Gap หรือปัญหาช่องว่างทางทักษะที่ไม่เพียงพอต่อการทำงานจริง โดยต้อง ‘ปรับเปลี่ยน’ เชื่อมโยงความรู้และทักษะที่จำเป็น และสอดคล้องเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ และ “เปิดกว้าง” ด้วยการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการเตรียมความพร้อมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนกำลังคนในทุกมิติสู่ความเป็นเลิศในแต่ละด้าน เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน ที่ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมต้องการ ตลอดจนเป็นการเพิ่มพูนทักษะกับมืออาชีพในสถานที่จริง เพื่อให้ได้ศักยภาพแรงงานที่ตรงกับความต้องการ และมีความเป็นเลิศอย่างแท้จริง
โดยที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาได้มอบหมายนโยบาย ในการสนับสนุนให้สถาบันอาชีวศึกษาผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ ตามความเป็นเลิศของสถานศึกษา และตามบริบทของพื้นที่ โดยต้องสอดคล้องกับความต้องการด้านแรงงานของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานภาคเอกชน สถานประกอบการ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและตั้งศูนย์ HCEC อาชีวศึกษา ให้เป็นอาชีวศึกษาเฉพาะทางตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ เพื่อบริหารจัดการการเรียนรู้ตามแนวทาง Constructionism, Project Based Learning Authentic Assessment ผ่านองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนการเพิ่มพูนทักษะประสบการณ์จากการเรียนในสถานที่จริง หรือสถานการณ์จริง เพื่อยกระดับความสามารถของผู้เรียน และผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษา ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทั้ง Hard Skills ทักษะความเชี่ยวชาญที่ทำงานได้ทันที และมี Soft Skills ทักษะด้านความคิดและอารมณ์ ที่สอดคล้องกับโลกของการทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต
ทั้งนี้ สถาบันอาชีวศึกษาได้รับการสนับสนุนจากสถานประกอบการชั้นนำทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก ตลอดจนภาคเอกชนจากสาขาอาชีพต่างๆ ในการผลิตและพัฒนากำลังคน ในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นหลักสูตรอาชีวศึกษาเฉพาะทาง แบบ 1 เอกชน ต่อ 1 วิทยาลัย ใน 7 สายงานหลัก ได้แก่ ปิโตรเคมี (Petrochemical), เทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Technology), หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics), เกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming), อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industry), อุตสาหกรรมระบบราง (Railway Industry) และยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automotive), และ ธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality Industry) ซึ่งในขณะนี้ ได้รับความร่วมมือในการช่วยกันพัฒนาและยกระดับการจัดการอาชีวศึกษาจากสถานประกอบการชั้นนำ แล้วกว่า 32 แห่ง และตั้งเป้าหมายจะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศอาชีวศึกษา ให้ครบ 50 แห่งในสิ้นปี 2563 และในปี 2564 ครบ 100 แห่งทั่วประเทศ
“ศูนย์ HCEC อาชีวศึกษา มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนานักเรียนอาชีวะ บุคลากรทางการศึกษา และครู ให้เข้ามาใช้ในการ Up-skills และ Re-skills โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา เพื่อทำให้วิทยาลัยมุ่งสู่ความเป็นเลิศ จะสามารถสร้างฐานทุนมนุษย์ (Human Capital) ที่มีศักยภาพ สามารถเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และมีทักษะชีวิตที่พร้อมปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 นี้ได้อย่างแข็งแกร่ง มั่นคง และยั่งยืน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็จะได้กำลังคนที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการ เมื่อภาคอุตสาหกรรมแข็งแกร่ง ประเทศไทย จะมีศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ