- Details
- Category: อาชีวะ
- Published: Saturday, 03 October 2020 21:12
- Hits: 5526
ทูตเยอรมนี ผนึกศธ.ยกระดับหลักสูตรอาชีวะ เตรียมเปิดบ้านรับเด็กไทยฝึกงาน
ทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย จับมือ กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนอาชีวะ เพื่อผลิตบุคลากรให้ตรงความต้องการตลาดแรงงาน เตรียมรับเด็กไทยไปฝึกงาน
ในช่วงปลายสัปดาห์ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมหารือแนวทางการพัฒนาการศึกษาไทยกับ นายเกออร์ก ชมิดท์ ( H.E. Mr. Georg Schmidt) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย
นายณัฏฐพล กล่าวว่า ได้หารือกับเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนากลุ่มอาชีวศึกษา โดย นายเกออร์ก ชมิดท์ ระบุว่า ฝ่ายเยอรมนียินดีให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีด้านการจัดการเรียนการสอนของอาชีวศึกษารวมทั้งการพัฒนาหลักสูตร เพื่อผลิตบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการและตลาดแรงงาน และยินดีให้การสนับสนุนการส่งผู้เรียนไปฝึกปฏิบัติงานยังประเทศเยอรมนีในอนาคต
สำหรับ เยอรมนี เป็นประเทศที่มีการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษาอย่างเข้มแข็ง และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
นายณัฏฐพล ย้ำด้วยว่า ประเทศเยอรมนีกับประเทศไทยนั้น ได้มีการพัฒนาความร่วมมือด้านอาชีวศึกษากันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ความร่วมมือกับสภาหอการค้าเยอรมันประจำประเทศไทย ในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการของเยอรมันในประเทศไทย, ความร่วมมือกับ Mercedes Benz ในการจัดการเรียนการสอนให้เด็กอาชีวะ เป็นต้น
นอกจากนี้ ท่านเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ยังให้การส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาเยอรมัน โดยสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
“ท่านเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ยินดีให้การสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนภาษาเยอรมันให้กับครู และนักเรียนในระดับต่างๆ ตลอดจนสานต่อโครงการที่ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อพัฒนาทักษะภาษาเยอรมัน ให้กับผู้เรียนได้อย่างต่อเนื่อง” นายณัฏฐพล กล่าว
ขณะเดียวกัน เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ยังพร้อมให้ความร่วมมือในการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ โดยท่านเห็นว่าการใช้ประโยชน์จากศูนย์วิทยาศาสตร์ ในการสร้างความเข้าใจและรักในการเรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็ก จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
นอกจากนี้ ยังคงให้ความร่วมมือ ในการแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาตำราเรียนประวัติศาสตร์ เพราะจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในสังคมพหุวัฒนธรรม และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นต้น
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ