- Details
- Category: อาชีวะ
- Published: Friday, 18 September 2020 18:32
- Hits: 2144
สอศ.ขับเคลื่อน 'เศรษฐกิจพอเพียง' ขยายผลสู่ชุมชน ภายใต้โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ รองเลขาธิการคณะกรรมการการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตแบบพออยู่พอกิน พึ่งพาตนเองได้ด้วยการทำการเกษตรแบบธรรมชาติ ลด ละ เลิก การใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง โดยมอบนโยบายให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีและวิทยาลัยประมง ทั่วประเทศดำเนินการ ต่อมาได้ขยายผลไปยังวิทยาลัยการอาชีพและวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ วิทยาลัยประเภทอื่นๆ สังกัด สอศ.
ปัจจุบันมีวิทยาลัยทีเข้าร่วมโครงการชีววิถีฯ จำนวน 111 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการส่งเสริมการดำเนินงานใน 4 เรื่อง ได้แก่ การเพาะปลูก การปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์น้ำ และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพแทนการใช้สารเคมี ทำให้สามารถลดต้นทุนจากการใช้สารเคมี สามารถดำรงชีวิตร่วมกับธรรมชาติ เพื่อผลผลิตที่ได้รับจะเป็นผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารพิษ ผู้บริโภคปลอดภัย เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและเกิดความยั่งยืนกับสังคม
รองเลขาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินโครงการในปี 2564 จะนำนโยบายของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาในวิทยาลัยเกษตรและวิทยาลัยประมง สังกัด สอศ. เพื่อการมีงานทำ พัฒนาสถานศึกษาให้เป็นผู้นำด้านการเกษตรและประมง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรให้กับเยาวชน เกษตรกรและชุมชน ยกระดับและพัฒนาการเรียนการสอนไปสู่ Digital Farming โดยการนําวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเกษตรให้มากขึ้น การบริหารจัดการน้ำ ดิน ปุ๋ยและป่าไม้ การใช้เทคโนโลยีเพื่อศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ การสร้างการเรียนรู้แบบใหม่เพื่อนําข้อมูลมาวิเคราะห์ วางแผนในการทํางานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตรและประมง สร้างนวัตกรรมตามความต้องการของพื้นที่ชุมชน ภูมิภาคหรือประเทศ
รวมทั้งการเป็นผู้ประกอบการ จึงจําเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย สถานประกอบการและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนดังนั้น การทำงานในทุกมิติก็สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันได้โดยมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน โครงการชีววิถีฯ ที่ กฟผ ร่วมมือกับ สอศ. เป็นระยะเวลา 17 ปี ได้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และแปลงสาธิตตามรูปแบบโครงการชีววิถีฯ ในสถานศึกษาต่าง ๆ ของ สอศ. ส่งผลให้มีการขยายผลสู่ชุมชนได้มากกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ และยังเป็นการขยายผลสู่นักเรียน คณาจารย์ และราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงสถานศึกษา รวมทั้งยังมีการสร้างงานวิจัยร่วมกันมากกว่า 100 ชิ้นงาน
การประกวดผลการดำเนินงานโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีผลการดำเนินงานชนะเลิศระดับประเทศทั้ง 8 ประเภทดังนี้ ประเภทที่ 1 การดำเนินงานภายในวิทยาลัยดีเด่น รูปแบบศูนย์การเรียนรู้ ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร และรูปแบบแปลงสาธิต ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพพนมทวน
ประเภทที่ 2 ครู บุคลากรทางการศึกษา นำไปใช้และขยายผลดีเด่น ได้แก่ นางธนพร แสนบุตร วิทยาลัยเกษตรแลพเทคโนโลยีมหาสารคาม ประเภทที่ 3 นักเรียน นักศึกษาปัจจุบันนำไปใช้และขยายผลดีเด่น ได้แก่นายจารุศักดิ์ พึ่งป่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี ประเภทที่ 4 ราษฎรที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัย และใช้ได้ผลดีเด่น ได้แก่ นางรัชนี จุลใส วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร ประเภทที่ 5 ชุมชนที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัย และใช้ได้ผลดีเด่น ได้แก่ บ้านนาเจริญ หมู่ 13 ตำบลจำปาโมง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี ประเภทที่ 6 โรงเรียนที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัย และใช้ได้ผลดีเด่น ได้แก่ โรงเรียนชลธีพฤกษาราม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร ประเภทที่ 7 การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ในโครงการชีววิถีฯ ดีเด่น ได้แก่ สมาร์ทการ์เด้นเฮ้าส์ วิทยาลัยการอาชีพสมเด็จเจ้าพะโคะ ประเภทที่ 8 งานวิจัยและนวัตกรรมในโครงการชีววิถีฯ ดีเด่น ได้แก่ การศึกษาการใช้ซูปเปอร์โบกาฉิในสูตรอาหารต่อสมรรถภาพการเจริญเติบโตของไก่พื้นเมืองลูกผสม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด
ด้านนายนำพล โพธิวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม กฟผ. ในฐานะที่กำกับดูแลโครงการชีววิถีฯ กล่าวว่า “ในปี 2564-2565 กฟผ. และ สอศ. มีแผนการขับเคลื่อนโครงการชีววิถีร่วมกันตามแนววิถีใหม่เพื่อยกระดับการดำเนินงาน โดยจะมุ่งเน้นการต่อยอดชุมชนที่ได้รับการขยายผลจากทั้ง 2 หน่วยงานและมีความพร้อม เพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินกิจกรรมสู่รูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม ปัจจุบัน มีกิจกรรมต่างๆ ของโครงการชีววิถีฯ ที่ดำเนินการในครัวเรือน ล้วนเป็นกระบวนการที่ปลอดสารเคมีอย่างสิ้นเชิงในทุกกิจกรรม ทั้งทางด้านการเกษตร การประมง การปศุสัตว์ และ การจัดการสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น กฟผ. จึงมีแนวคิดที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ปลอดสารเคมีมาเป็นจุดขาย โดยมุ่งเน้นไปที่การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ สู่กระบวนการจำหน่ายอย่างเป็นรูปธรรม ในลักษณะของการรวมกลุ่มระดับชุมชนและใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์เป็นแหล่งผลิต โดยจะใช้มาตรฐานผักอินทรีย์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศคือ Oganic Thailand มาเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อน
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมแผนงานที่จะจัดตั้งศูนย์ฝึกปฏิบัติการโครงการชีววิถีฯ 4 ภาค ภายในปี 2564 โดยให้ครอบคลุมทั้ง ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยใช้สถานศึกษาของ สอศ. ที่มีความพร้อม เป็นพื้นที่ศูนย์ฝึกฯ และในปี 2565 ยังได้เตรียมที่จะจัดตั้ง “สถาบันชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ร่วมกัน เพื่อบูรณาการและต่อยอดองค์ความรู้ที่ทั้ง 2 หน่วยงานได้ดำเนินการร่วมกัน จัดทำเป็นหลักสูตร ตำราเรียน และ การฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในที่สุด
นางฤดีมาส ปางพุฒิพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ กฟผ. กล่าวขอบคุณ สอศ.ที่ได้เล็งเห็นประโยชน์ของประเทศชาติ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยสนับสนุนการดำเนินโครงการชีววิถีฯ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจ ให้กับ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน เกษตรกรและผู้สนใจอาชีพด้านการเกษตร สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีการคิดค้น นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ และงานวิจัยที่เกี่ยวกับชีววิถีฯ รวมถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญ ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ