- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Thursday, 07 December 2017 23:50
- Hits: 4373
หมอหัวใจแนะนำ'ปาร์ตี้ปีใหม่แบบไหนไม่ทำร้ายหัวใจ'
เมื่อถึงช่วงเทศกาลสำคัญ โดยเฉพาะปีใหม่ที่เต็มไปด้วยการเฉลิมฉลอง การปาร์ตี้สังสรรค์ คือกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ แต่การปาร์ตี้แบบที่ช่วยดูแลสุขภาพหัวใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ควรต้องใส่ใจและเลือกให้พอดีทั้งอาหารการกินและเครื่องดื่ม เพื่อสุขภาพหัวใจแข็งแรง...ในทุกเทศกาล
นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า “การปาร์ตี้ ถ้าเป็นไปแบบพอดีเดินตามทางสายกลางย่อมดีต่อสุขภาพหัวใจ เพราะฉะนั้นการเลือกทำเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ไม่เกิดผลเสียกับร่างกาย หนึ่งในสูตรอาหารที่อยากแนะนำให้รับประทาน คือ อาหารแบบ Mediterranean Diet เพราะได้รับการยอมรับแล้วว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ” กินให้ดีแบบ Mediterranean Diet ไม่ว่าจะเป็นคนทำหรือคนทานในงานปาร์ตี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการเลือกชนิดอาหาร กำหนดปริมาณการดื่ม และออกกำลังกาย ซึ่งการปฏิบัติตามพีระมิดของ Mediterranean Diet วิธีรับประทานอาหารตามสัดส่วนแบบเมดิเตอร์เรเนียน คืออีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่าช่วยให้ลดโอกาสเกิดโรคหัวใจและทำให้สุขภาพดีมีอายุยืนยาว วิธีการรับประทานอาหารแบบ Mediterranean Diet ในแต่ละวันสามารถทำได้ไม่ยาก ตามพีระมิดด้านบนยิ่งน้อยยิ่งดีไล่ระดับลงมาพีระมิดด้านล่างยิ่งมากยิ่งดี ดังนี้
เนื้อแดง เนย ข้าวขาว ขนมปังขัดสี เส้นพาสต้า มันฝรั่ง และของหวาน ทานให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น นม ผลิตภัณฑ์นม ชีส ทานได้ 1-2 ครั้งต่อวัน ปลา อกไก่ ไข่ไก่ ทานได้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อวัน พืชตระกูลถั่ว ทานได้ 1-3 ครั้งต่อวัน ผัก ทานได้ไม่จำกัด ผลไม้ ทานได้ 2-3 ครั้งต่อวัน โดยเฉพาะบีทรูท มีสารไนตริกออกไซด์ที่ช่วยในเรื่องการขยายตัวของหลอดเลือด ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โฮลเกรน ธัญพืชที่ผ่านกระบวนการขัดสีน้อยมากหรือไม่ผ่านเลย ทานได้เกือบทุกมื้อ น้ำมันจากพืช อาทิ มะกอก คาโนลา ถั่วเหลือง ข้าวโพด ทานตะวัน ถั่วลิสง หรือพืชอื่น ๆ ทานได้เกือบทุกมื้อ นอกจากนี้สามารถทานวิตามินรวมด้วยได้ในปริมาณที่เหมาะสม และต้องควบคุมปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่สำคัญควรออกกำลังกายทุก ๆ วันและควบคุมน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่เหมาะสม
ดื่มแบบไม่ทำร้ายสุขภาพ
การดื่มแอลกอฮอล์นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อร่างกายอย่างที่ทราบกัน สำหรับคนที่ไม่เคยดื่มไม่แนะนำให้ดื่มเลยจะดีที่สุด แต่สำหรับคนที่ดื่มอยู่แล้วนั้น การดื่มที่ไม่ทำร้ายสุขภาพมากจนเกินไป คือ การดื่มมาตรฐาน(Standard Drink) ซึ่งในกรณีนี้คือ การดื่มแบบพอประมาณ(Moderate Drinking) ได้แก่
- ใน 1 สัปดาห์ จะต้องมี 2 วันที่งดดื่มแอลกอฮอล์
- ใน 1 สัปดาห์ไม่ควรดื่มเกิน 7-21 ดื่มมาตรฐาน(เฉลี่ยต่อวันไม่ควรเกิน 3 ดื่มมาตรฐาน)
- ปริมาณในแต่ละดื่มมาตรฐาน คือ ไวน์ 1 ดื่มมาตรฐาน = 140 ซีซี เบียร์ 1 ดื่มมาตรฐาน = 330 ซีซี (ประมาณ 1 กระป๋อง) สุราที่ได้จากการกลั่น (Spirit 40 ดีกรี) 1 ดื่มมาตรฐาน = 40 ซีซี (ประมาณ 1 ช็อต)
สำหรับ ประเด็นเรื่องการดื่มนั้น นพ.ชาติทนง กล่าวเพิ่มเติมว่า “ข้อเสียของการดื่มแอลกอฮอล์นั้นคือ เมื่อดื่มแล้วจะขาดการควบคุมตนเอง ทำให้ดื่มในปริมาณมากและมากเกินกว่าที่แนะนำ ซึ่งยังไม่มีการศึกษาใดๆ ที่ระบุว่า เมื่อแอลกอฮอล์เข้าไปในร่างกายแล้วจะนำออกมาโดยปราศจากผลเสีย เพราะฉะนั้นการดีทอกซ์ไม่มีผลแต่อย่างใด สิ่งที่ดีที่สุดคือการควบคุมแต่แรก และไม่ควรที่จะคิดงดดื่มแล้วมาดื่มครั้งหนึ่งในวันเดียวปริมาณมากๆ เพราะการดื่มแบบพอประมาณที่ไม่ทำร้ายสุขภาพมากนัก จะต้องดื่มแบบควบคุมปริมาณในแต่ละวัน และสำหรับคนที่ไม่เคยดื่มแอลกอฮอล์ไม่ควรดื่มอย่างเด็ดขาด เพราะแอลกอฮอล์มีแต่ผลเสียต่อสุขภาพไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ส่งผลต่อหัวใจ สมอง และอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย”
ไวน์ดีกับหัวใจจริงหรือ
ในประเด็นของการดื่มไวน์แล้วดีต่อหัวใจนั้น มีการวิจัยพบว่าในไวน์มีส่วนประกอบของสารฟลาโวนอยด์ที่ช่วยลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ลดการเสื่อมของหลอดเลือด ป้องกันการอักเสบของหลอดเลือด จึงช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้ แต่ในไวน์แต่ละชนิดมีฟลาโวนอยด์ปริมาณไม่เท่ากัน ที่สำคัญร่างกายสามารถได้รับฟลาโวนอยด์จากผักและผลไม้ต่าง ๆ เช่น แอปเปิล ฝรั่ง เป็นต้น จึงไม่จำเป็นจะต้องทานเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์แต่อย่างใด เพราะหากไม่สามารถควบคุมการดื่มแบบพอประมาณได้ย่อมทำให้เกิดผลเสียกับร่างกายมากกว่าผลดี
เลือกกิจกรรมดูแลหัวใจ
การเลือกกิจกรรมเพื่อดูแลหัวใจให้แข็งแรงนั้นไม่มีรูปแบบตายตัว แต่สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักไว้คือ กิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยและสุขภาพ กิจกรรมที่สร้างความผ่อนคลาย กิจกรรมท่ามกลางบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสมกับตนเอง จะเทศกาลไหนก็ไม่สำคัญเท่ากับการรู้จักดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงในทุกๆ วัน “เพราะโรคหัวใจไม่ได้เกิดเมื่อวาน แต่เกิดจากการสะสมความเสื่อมสภาพและพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง อายุที่เพิ่มขึ้นความเสี่ยงสะสมก็เพิ่มขึ้น ยิ่งดูแลตัวเองช้า ผลที่ได้ย่อมไม่เท่ากับคนที่ดูแลตัวเองมาตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้นควรรู้ว่าอะไรคือทางสายกลาง กินดื่มอะไรแบบไหนให้พอดี และควรหมั่นสังเกตตัวเอง หากมีอะไรผิดปกติ ลองกลับมาถามตัวเองแล้วเช็กสุขภาพกันสักนิด โดยเฉพาะถ้ามีอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ ควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจเพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โทร. 02-310-3000 หรือ โทร.1719