- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Thursday, 21 September 2017 18:57
- Hits: 2888
BDMS ประชุมวิชาการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ประจำปี 2560 BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2017
'สมเด็จพระเทพฯ'เสด็จฯเปิดงานประชุมวิชาการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ประจำปี 2560 ‘BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2017’ ทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ และความคิดเห็นจากบุคลากรทางการแพทย์ กับสถาบันการแพทย์ต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้แบบหลากหลายมิติ เพื่อจะได้นำข้อมูลนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งแก่ผู้เข้าร่วมประชุมและวงการแพทย์ไทยต่อไป
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS ผนึกกำลังโรงพยาบาลในเครือ ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลเปาโล และบริษัทในกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล (Non-hospital) จัดการประชุมวิชาการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ประจำปี 2560 BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2017 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ภายใต้แนวคิด ‘Global Partnership for Excellent Healthcare Towards Thailand 4.0’ ความร่วมมือระดับสากล สู่ความเป็นเลิศด้านธุรกิจการแพทย์ในยุคไทยแลนด์ 4.0 พัฒนาประเทศด้วยการเพิ่มมูลค่าทางนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมีการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลต่างประเทศชั้นนำในแต่ละด้าน เน้นการบริการที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์(Thailand Medical Hub) โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเป็นประธานในพิธีเปิด โดยมี นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มรพ.กรุงเทพ และศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา ที่ปรึกษาฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช พร้อมด้วยทีมผู้บริหารบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) ร่วมถวายการต้อนรับ
โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพฯ ทรงกล่าวเปิดงานมีใจความตอนหนึ่งว่า “โลกของเราแม้จะวิวัฒนาก้าวหน้าไปเพียงใด แต่คนก็ยังไม่พ้นจากความเจ็บป่วยและปัญหาสุขภาพ น่ายินดีที่พัฒนาการด้านการแพทย์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกี่ยวกับการแพทย์และสุขภาพ เจริญก้าวหน้าขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิตและสุขภาพของคนเรา ดังเช่นโรคบางโรคที่เป็นแล้วรักษาไม่ได้ หรือรักษายากและมีความเสี่ยงสูง ก็สามารถรักษาให้หายขาด หรือทำให้ความร้ายแรงทุเลาลง หรือการที่สามารถแก้ไขความพิการบางประการได้ เป็นต้น ในปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน เป็นเหตุให้เกิดหลายสิ่งหลายประการที่เป็นความท้าทายทางการแพทย์ การจะรับมือกับสิ่งท้าทายทั้งหลาย ก็ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นสำคัญ บุคลากรเกี่ยวกับการแพทย์จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงพัฒนาความรู้อยู่เสมอ ให้เท่าทันวิวัฒนาการด้านการแพทย์ที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง การจัดงานประชุมทางวิชาการดังนี้ จะเป็นโอกาสให้แพทย์ และบุคลากรเกี่ยวกับการแพทย์ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ และความคิดเห็นในหมู่เพื่อนร่วมอาชีพ การที่มีผู้เข้าร่วมจากสถาบันการแพทย์ต่างประเทศ จะทำให้แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ได้หลากหลายมิติ ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมประชุม และวงการแพทย์ไทยเราต่อไป”
โดยการจัดการประชุมวิชาการฯ ในครั้งนี้ได้เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศไทยมาร่วมถ่ายทอดความรู้ ในหัวข้อการบรรยาย การสัมมนา และการฝึกปฏิบัติการ ครอบคลุมสาขาวิชาการต่าง ๆ ทางการแพทย์ ทันตกรรม เภสัชกรรม การพยาบาล งานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ โดยได้รับเกียรติจากบุคคลที่มีชื่อเสียงที่เข้าร่วมประชุมจำนวนกว่า 1,700 คน และในการประชุมยังเปิดโอกาสให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อสร้างความร่วมมือในการ ยกระดับมาตรฐานการวิจัย คุณภาพการรักษาพยาบาล การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ดีขึ้นสู่ระดับสากล
หัวข้อการบรรยายที่น่าสนใจ อาทิ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Healthcare in Thailand 4.0” โดย ศ.(คลินิก)เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง ปัจจุบันคนไทยเจ็บป่วยจากโรคที่ป้องกันได้ เป็นโรคไม่ติดต่อแต่เรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และในอนาคตอันใกล้สังคมผู้สูงอายุในอีก 20 ปีข้างหน้า 1 ใน 5 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงอายุ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่เราก็ยังมีความเหลื่อมล้ำของระบบสุขภาพ ระบบข้อมูล การเชื่อมโยงต้องการการพัฒนา และคนก็ต้องมีการปรับปรุงตนเองด้วยนวัตกรรม ยุคปัจจุบันคือ Value based Health care การดูแลสุขภาพบนพื้นฐานของคุณค่า ปรัชญาของ Health care4.0 คือ เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 คือการที่เราต้องดำรงชีวิตของเราเองด้วยความสมดุล ด้วยความพอประมาณ มีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ใช้ความรู้คู่กับคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญคือการใช้สติปัญญา ความเพียร ความขยันขันแข็ง เหล่านี้คือฐานในการเดินไปข้างหน้า เป็นปรัชญาในการดำรงชีวิต และเป็นปรัชญาในการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข
แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มรพ.กรุงเทพ ในฐานะประธานกรรมการจัดงาน กล่าวว่า “ในช่วงเวลานี้ประเทศไทยประกาศนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายที่เปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีตามนโยบายรัฐบาล ที่กำหนดให้มีการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งหนึ่งใน 10 นั้นคือ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ครบวงจร หรือ Medical Hub โดยเน้นกลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดังนั้นโรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด (มหาชน) จึงได้มีการพัฒนาส่งเสริมให้มีเครือข่ายพันธมิตรกับโรงพยาบาลชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นการยกระดับความร่วมมือ ในด้านมาตรฐานการวิจัย วิชาการทางการแพทย์ พยาบาล การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข”