- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Wednesday, 10 May 2017 21:09
- Hits: 13538
ภาครัฐและภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร ผนึกพลังร่วมกับภาคเอกชนชั้นแนวหน้าของไทย สร้างสรรค์โครงการ ‘อีกนิดพิชิตเอดส์ : AIDS-Almost Zero’ ตั้งเป้ายุติเอดส์ในไทยภายในปี 2573
การทำงานเพื่อยุติเอดส์ในนามโครงการ 'อีกนิดพิชิตเอดส์'หรือ AIDS-Almost Zero ครั้งนี้ นับเป็น มิติใหม่ด้านสาธารณสุขที่สำคัญของไทยและถือเป็นครั้งแรกที่ภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กรได้จับมือร่วมกับภาคธุรกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาและยุติการแพร่ระบาดของการติดเชื้อเอชไอวี โดยมอบหมายให้มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรกลางในการระดมทุนผ่านโครงการ'อีกนิดพิชิตเอดส์'หรือ 'AIDS-Almost Zero' เพื่อดำเนินการตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นเพื่อยุติเอดส์ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือในอีก 14 ปีข้างหน้า โดยวางแผนที่จะลดปริมาณผู้ติดเชื้อเอชไอวี รายใหม่และผู้เสียชีวิตจากเอดส์ รวมทั้งสร้างอุดมคติใหม่ให้สังคมไม่เกิดการรังเกียจ กีดกัน และเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ดังเช่นที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ในอดีตมีสาเหตุหลักมาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานบริการทั้งหญิงและชาย กลุ่มชายเที่ยวหญิงบริการ กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด หญิงตั้งครรภ์ และแพร่ระบาดไปสู่ทารกแรกคลอด หรือแม้กระทั่งกลุ่มทหารกองประจำการ โดยในปี พ.ศ. 2534-2536 ได้เกิดการแพร่ระบาดของเอดส์รุนแรงที่สุดในประเทศไทย มีสถิติผู้ติดเชื้อฯ รายใหม่ ประมาณปีละ 1 แสนถึง 1.5 แสนคน และมีผู้ที่เสียชีวิตจากเอดส์ปีละกว่า 6 หมื่นคน นับจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลได้มีมาตรการและนโยบาย ควบคุม ป้องกัน ดูแลรักษา และการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ โดยมีภาคประชาสังคมพยายามแสวงหาแหล่งทุนทั้งจากในและต่างประเทศมาทำงาน เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเอชไอวี ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเอดส์จนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ แต่การแก้ไขปัญหาการติดเชื้อฯนั้น จะต้องทำไปทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อไปสู่เป้าหมายในการยุติเอดส์ของประเทศไทยตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบงานด้านกระทรวงสาธารณสุขและประธานในพิธีเปิดโครงการฯ กล่าวว่า ปัญหาเอดส์หรือการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ โดยยังไม่มีประเทศใดในโลกที่จะสามารถแก้ไขให้หมดไปได้ วันนี้จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกภาคส่วนในประเทศไทยจะได้มาร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ในการดูแล ป้องกัน แก้ไข รักษาและช่วยกันยุติเอดส์ให้ได้ภายใน 14 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับความช่วยเหลือทั้งทางด้านวิชาการและงบประมาณเพื่อการทำงานป้องกันเอดส์ โดยความร่วมมือจากโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) กองทุนโลก (Global Fund) และองค์กรระหว่างประเทศหน่วยงานอื่นๆ ที่สนับสนุนให้ประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีและกระบวนการทำงานในรูปแบบใหม่ ๆ มีความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหาเอดส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความยั่งยืนได้ดียิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ ต้องอาศัยภาคประชาสังคมให้เข้ามาช่วยเติมเต็มการทำงานของภาครัฐ โดยมีมูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรกลางในการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมหน่วยงานอื่นๆ เพื่อระดมสรรพกำลัง ทำงานเชิงป้องกัน เพื่อให้เข้าถึงผู้ที่ยังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีให้เข้าสู่ระบบการรักษา
ด้านนายมีชัย วีระไวทยะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและตัวแทนภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนโครงการในครั้งนี้ เปิดเผยถึงภาพรวมและการดำเนินการโรคเอดส์ในไทยว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ประเทศไทยพบการติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 21 ปีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มประชากรที่มีการติดเชื้อเอชไอวีสูงและไม่ลดลง ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด และกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย นอกจากนี้ การมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มคนมีอายุน้อยก็มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงรูปแบบการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีมีการเปลี่ยนแปลงไป ในปี 2554 ประมาณ 1ใน 3 ของผู้ติดเชื้อฯได้รับเชื้อฯ จากคู่นอน หลังจากสถานการณ์เอดส์แพร่ระบาดอย่างรุนแรงทางรัฐบาลได้มีการกำหนดมาตรการและนโยบายควบคุม ป้องกัน และดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เริ่มต้นจากสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน ได้ประกาศนโยบายให้เอดส์เป็นวาระแห่งชาติ โดยเพิ่มมาตรการดูแลรักษาและรณรงค์ให้ความรู้ป้องกันเอดส์ ใช้งบประมาณประเทศในการดำเนินงานด้านเอดส์ และสนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคม จึงเกิดการริเริ่มรณรงค์ป้องกันและรักษาเรื่องเอดส์อย่างจริงจังเรื่อยมา ทั้งด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ตลอดจนกระทรวงสาธารณสุขมีการดำเนินงานป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก รวมถึงมีนโยบายเพิ่มการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ให้ครอบคลุม ทำให้ผู้ป่วยเอดส์ได้รับยาต้านไวรัสเพิ่มขึ้น ล่าสุดเมื่อปี 2557 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ติเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข ลดความเลื่อมล้ำของสังคม รวมถึงการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของภาครัฐอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นอกจากนี้ยังประกาศให้การยุติปัญหาเอดส์เป็นวาระแห่งชาติ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด 2.ระดมการทำงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น และ3.เพิ่มงบประมาณด้านเอดส์ในปี 2558-2562
“โดยจากการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ที่ได้ทุ่มเทงบประมาณ วางนโยบายและมาตรการในการทำงานทั้งด้านการวิจัย รักษา ป้องกัน ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน รวมถึงภาคประชาสังคม อาทิ มูลนิธิ องค์กรชุมชน เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานเชิงรุกกับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงบริการรักษา ซึ่งประชาสังคมพยายามแสวงหาแหล่งทุนทั้งจากในและนอกประเทศมาใช้ในการทำงาน เพื่อนำไปในใช้ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ จึงทำให้เกิดความสำเร็จร่วมกับภาครัฐหลายประการ
รวมถึงเกิดนโยบายสำคัญที่ร่วมผลักดันขับเคลื่อนโดยความร่วมมือของภาครัฐ และภาคประชาสังคม ทั้งโครงการ
ถุงยางอนามัย 100% สามารถลดการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี จากปีละประมาณ 2 แสนราย เหลือเพียงปีละ 1.5 หมื่นราย ทั้งยังสามารถช่วยให้สถานการณ์การติดเชื้อฯ ผ่านทางเพศสัมพันธ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง”นายมีชัย วีระไวทยะ อธิบายเพิ่มเติม
สำหรับ ไทยถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการปัญหาเรื่องโรคเอดส์ โดยเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ไทยได้รับการรับรองจากองค์กรอนามัยโลก ให้เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการลดอัตราการติดเชื้อฯ จากแม่สู่ลูก ต่ำกว่า 2% ถือเป็นประเทศแรกของเอเชีย และเป็นลำดับที่ 2 ของโลก อย่างไรก็ตาม เอดส์ยังไม่หายไปจากสังคมไทย จากสถิติในปี 2559 พบว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่จำนวนถึง 427,800 คน มีผู้เสียชีวิตจำนวน 15,500 ราย และมีผู้ติดเชื้อฯใหม่จำนวน 6,300 คน ทั้งนี้จากการร่วมมือของภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชน ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ถือว่าไทยประสบความสำเร็จทั้งด้านป้องกัน ซึ่งทำให้ไทยมีโอกาสที่จะยุติเอดส์ลงได้ ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ การยุติเอดส์มีความเป็นไปได้อย่างอย่างแน่นอน หากรัฐบาลและทุกภาคส่วนร่วมลงทุน โดยใช้มาตรการที่มีประสิทธิผลดังกล่าวควบคู่กับมาตรการป้องกันเดิมที่มีอยู่ แต่ในปัจจุบัน งบประมาณของไทยในการแก้ไขปัญหาเอดส์มุ่งเน้นในการรักษาในระบบบริการเป็นหลัก และไม่เพียงพอกับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้น ภาคประชาสังคมจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานป้องกันเอชไอวี/เอดส์ โดยส่วนใหญ่อาศัยงบประมาณจากต่างประเทศ จากแผนที่วางไว้ในการยุติปัญหาเอดส์และไม่ให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่อีกภายในปี 2573 ภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร ได้จับมือ จัดตั้งโครงการ ‘อีกนิดพิชิตเอดส์ หรือ AIDS-Almost Zero’ เพื่อร่วมกันผลักดันการทำงานด้านการป้องกันเอชไอวี/เอดส์ให้มีความต่อเนื่องยิ่งขึ้น
ด้านนายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ ผู้แทนคณะกรรมการโครงการอีกนิดพิชิตเอดส์ กล่าวเพิ่มเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานในโครงการอีกนิดพิชิตเอดส์ ว่า มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย จะรับหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการดูแลโครงการ รวมทั้งแต่งตั้งบุคลากรในการตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงาน ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายในการระดมทุนจำนวน 50 ล้านบาทในปีแรก และเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป ปีละ 100-200 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินงานป้องกันเอชไอวี/เอดส์ในกลุ่มประชากรต่าง ๆ ด้วยวิธีการที่สอดคล้องและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายโครงการฯ และบริหารจัดการให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม โดยการจัดสรรสู่องค์กรภาคประชาสังคมที่มีศักยภาพในการทำงาน และนำเสนอโครงการทำงานด้านเอดส์ ตามมาตรฐานและเป้าหมายในการพิชิตเอดส์ ให้เกิดผลได้จริง สามารถวัดและตรวจสอบข้อมูล ทั้งยังมีความโปร่งใส โดยหน้าที่หลักๆ ที่โครงการจะดำเนินงาน อาทิ เสริมการป้องกันและตรวจนรักษาอย่างรวดเร็วและทันท่วงที ในกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง เสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี สำหรับจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูง สนับสนุนการป้องกันเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มเยาวชนที่อยู่ในภาวะเสี่ยง , ให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี หรือได้รับกระทบจากเอดส์
สำหรับ การทำงานเพื่อยุติเอดส์ในประเทศไทยโครงการ 'อีกนิด...พิชิตเอดส์' หรือ'AIDS-Almost Zero’ นั้น คือ การรวมตัวของภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจที่มีหัวใจช่วยเหลือสังคม ในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญระดับชาติครั้งนี้โดยการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการจาก UNAIDS และได้มอบหมายให้มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรแกนกลางในการระดมทุน เพื่อจัดสรรสู่องค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) ในการดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ลดผลกระทบและเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคม ตามมาตรฐานและเป้าหมายในการพิชิตเอดส์ ตามมาตรฐาน ‘เกิดผลจริง วัดได้ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้’ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับนานาชาติและนำมาปรับใช้กับการทำงานโดยกลไกภายในประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนผู้ที่สนใจร่วมเป็นหนึ่งพลังในการยุติเอดส์และการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี ในไทย สามารถร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญร่วมกัน ด้วยการบริจาคเงินได้ที่ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด เลขที่บัญชี 319-295473-1 และธนาคารกรุงเทพฯ สาขา ซอยอารีย์ เลขที่บัญชี 127-499778-0 ชื่อบัญชี : AIDS ALMOST ZERO เพื่อมูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย หรือติดตามข่าวสาร-ข้อมูลโครงการเพิ่มเติมได้ที่ www.aidsalmostzero.org หรือ facebook.com/AIDSALMOSTZERO