- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Friday, 25 July 2014 15:52
- Hits: 3662
วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8640 ข่าวสดรายวัน
เงี่ยงปลาตำตาย เชื้อร้าย! แบคทีเรียกินเนื้อคน เหตุสลด-ญาตินายแบงก์ เลือกปลาทับทิม-ทิ่มนิ้ว ก่อนลามเข้ากระแสเลือด อธิบดียืนยัน-พิษรุนแรง เสียชีวิตภายใน 48 ชั่วโมง
ญาติผู้จัดการแบงก์เลือกซื้อปลาทับทิม โดนเงี่ยงปลาตำนิ้ว เชื้อลามเข้ากระแสเลือดถึงตาย ตะลึงแพทย์ตรวจพบเชื้อ"แบคทีเรียกินเนื้อคน'สาเหตุทำให้เสียชีวิต เผยผู้ตายหลังถูกเงี่ยงตำ เป็นแผลบวมอักเสบ ต้องไปหาหมอร.พ. สุดท้ายอาการหนัก กล้ามเนื้อเน่า นำเลือดไปตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย ตระกูล 'แอโรโมแนส'ส่วนใหญ่พบตามตัวปลา ก้าง เงี่ยง ซอกเหงือก หากเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะไปทำลายกล้ามเนื้อและเส้นเลือด อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้พิษรุนแรง หากผู้รับเชื้อมีภูมิต้านทานไม่ดี ถึงขั้นเสียชีวิตภายใน 48 ช.ม. แนะนำวิธีป้องกัน หากโดนเงี่ยงตำให้รีบบีบเลือดออก ล้างด้วยน้ำสะอาด แอลกอฮอล์เช็ด ถ้าปวดให้รีบพบแพทย์ด่วน
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีการแชร์ หรือส่งข้อมูลกันในสังคมโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก มีเนื้อหาเตือนภัยโรคที่มาจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอันตรายมาก เรียกว่า "แบคทีเรียกินเนื้อคน" หากเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยล่าสุดมีผู้ได้รับเชื้อและเสียชีวิตแล้ว สร้างความตื่นตระหนกให้แก่โลกสังคมออนไลน์เป็นอย่างยิ่ง
จากการตรวจสอบหาต้นตอที่มาของข่าวดังกล่าว พบว่ามาจากแอพพลิเคชั่นไลน์ กลุ่มของผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย โดยระบุถึงที่มาของเหตุการณ์ว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา มีญาติของผู้จัดการเขตธนาคาร ไปเลือกซื้อปลาทับทิมมาทำอาหารกินที่บ้านกับลูกๆ ขณะเลือกปลาถูกก้างปลาตำที่หัวแม่มือ ก็ไม่ได้สนใจ คิดว่าเจ็บเล็กน้อย ตกกลางคืนแผลที่นิ้วอักเสบ ปวดมาก ต่อมาเช้าวันอาทิตย์ที่ 20 ก.ค. ไป ร.พ.นนทเวช หมอผ่าทำแผลและให้ยามากิน ถึงบ้านมีอาการมึนงง และเซจนล้มไปถูกบันได
ข้อความในไลน์ระบุต่อว่า วันจันทร์ที่ 21 ก.ค. ไป ร.พ.นนทเวช ให้หมอล้างแผลนิ้วมือ แล้วกลับบ้าน กลางคืนปวดขามาก เริ่มบวม เวลาประมาณ 03.00 น. เช้าวันอังคารที่ 22 ก.ค. ไป ร.พ.นนทเวช เนื่องจากขาเริ่มบวมมากขึ้น และมีเม็ดรอบๆ ขา 2 ข้าง ช่วงบ่ายหมอนำเข้าห้องผ่าตัดน่องขาขวา ปรากฏว่าเนื้อกล้ามเนื้อเน่าแล้ว ผู้ป่วยฟื้นมายังมีสติดีในตอนเย็น แต่หมอยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ ต่อมาวันที่ 23 ก.ค. เวลา 03.00 น. หมอโทรศัพท์แจ้งลูกสาวว่า พ่อเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อในกระแสโลหิต จากการได้รับเชื้อ "แบคทีเรียกินเนื้อคน" จากก้างปลาที่ตำนิ้วหัวแม่มือ โดยรายละเอียดเชื้อโรคชนิดนี้ หาได้ในเว็บไซต์กูเกิ้ล และขอฝากให้พวกเราระมัดระวังในการเลือกซื้ออาหารด้วย
จากเหตุการณ์ดังกล่าว นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าน่าจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกชื่อ แอนแอโรบิกแบคทีเรีย (Anaerobic Bacteria) และแอโรโมแนสแบคทีเรีย (Aeromonas Bacteria) แต่โอกาสที่จะได้รับเชื้อทั้ง 2 กลุ่มนี้มีน้อย นอกจากคนที่มีภูมิต้านทานไม่ดี เชื้อแบคทีเรียทั้ง 2 ตัว เป็นเชื้อที่ไม่ต้องอาศัยออกซิเจน เป็นแบคทีเรียที่รุนแรงมากกว่าแบคทีเรียชนิดอื่นหลายเท่า เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อ และลามไปถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้ผู้รับเชื้อช็อกเสียชีวิตในเวลา 48 ชั่วโมง ส่วนบุคคลที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อ คือคนที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ที่สำคัญเสี่ยงกับบุคคลที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เพราะหากเป็นแผล เชื้อจะลามมากกว่าบุคคลทั่วไป
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นกับญาติผู้จัดการธนาคารนั้น เชื่อว่าปลาอาจมีเชื้อ 2 กลุ่มนี้ และเชื้อจะอยู่ตามลำตัว ก้างปลา เงี่ยง และซอกเหงือก หากโดนก้างปลาตำ ร่างกายจะได้รับเชื้อ และเกิดอาการดังกล่าว แพทย์อาจต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อไม่ให้พิษลาม ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุด หากไม่มั่นใจว่าโดนพิษจากแบคทีเรียทั้ง 2 กลุ่มนี้หรือไม่ หลังจากลุยน้ำสกปรก หรือเลือกซื้ออาหารที่เป็นสัตว์น้ำต่างๆ ควรล้างมือ ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดทันที หรือหากโดนก้างปลาตำ และมีเลือดออก ควรบีบเลือดให้ออกมากที่สุด ใช้แอลกอฮอล์ล้างแผล จะช่วยฆ่าเชื้อได้ในชั่วโมงเร่งด่วน หากกลับมาถึงบ้านแล้วมีอาการแผลบวม เป็นไข้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร่งด่วน
ด้าน นพ.เกรียงไกร จีระแพทย์ รองผอ.ร.พ.นนทเวช ร่วมชี้แจงว่าในช่วงที่ผู้ป่วยมาถึงร.พ. มีอาการเจ็บปวดบริเวณนิ้วมือที่ถูกเงี่ยงตำ แต่ยังไม่มีอาการบวม หรืออักเสบ แพทย์ที่ตรวจรักษาได้ทำตามหลักการที่ควรจะต้องทำ ในกรณีที่แผลเป็นแผลตำลึก ในหลักการจะมีความอันตรายมากกว่าแผลที่เป็นแผลถลอก ฉีกขาด หรือแผลเปิด เนื่องจากแผลตำลึกเชื้อโรคจะเข้าไปในชั้นใต้ผิวหนังลึกกว่า และมีโอกาสสะสมและแพร่ขยายตัวมากขึ้น แพทย์รักษาตามระบบ คือเปิดปากแผลให้กว้างและกรีดเป็นรูปกากบาท เพื่อนำเชื้อโรค หรือสิ่งของสกปรกเศษที่อาจคาอยู่ในบาดแผลออกให้หมด คาดหวังว่าจะเปิดและไม่เป็นที่แหล่งซ่องสุมเชื้อโรค แพทย์ได้ฉีดยากันบาดทะยักและให้ยาฆ่าเชื้อ แนะนำให้ผู้ป่วยกลับมาเพื่อดูแลเรื่องบาดแผลในวันรุ่งขึ้น
รองผอ.ร.พ.นนทเวชกล่าวว่า ส่วนกรณีที่เสียชีวิต อาจเกิดจากการแพร่กระจายเชื้อ เนื่องจากเชื้อจะแพร่ไปตามชั้นลึกของแขน ขา และนิ้วมือของคนเรา อาจเกิดการแพร่กระจายของเชื้อก่อนที่คนไข้จะมารักษาตัวที่ร.พ. จากการตรวจสอบของแพทย์ผู้รักษายังไม่มีอาการชัดเจน แต่เชื้อกลุ่มนี้ เป็นเชื้อที่มีการแพร่ขยายและปล่อยสารพิษเข้าสู่ร่างกายด้วยธรรมชาติของมันค่อนข้างจะรวดเร็ว และอาจซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้แพร่กระจายทั่วตัว แม้จะเปิดบาดแผลและให้ยาก็ตาม
นพ.เกรียงไกรกล่าวต่อว่า เชื้อแบคทีเรีย ดังกล่าว เคยพบในผู้ป่วยที่เกิดแผลอักเสบของเท้า และเกิดจากน้ำสกปรก จำนวน 3 รายในช่วงน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา และหลังจากผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วม เจอผู้ป่วยบ้างประปราย ส่วนประเด็นของผู้ป่วยรายล่าสุด คณะแพทย์ตรวจสอบและคิดว่าน่าจะเกิดการกระจายเข้ากระแสเลือด และเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย จากสถิติของการแพทย์ หากเป็นลักษณะการ กระจายของพิษ มักจะแทรกตามกล้ามเนื้อ ตามพังผืด จะทำให้การใช้ยาฆ่าเชื้อได้น้อย เพราะมีเลือดน้อย
"ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ที่ถูกเงี่ยงปลาตำ หรืออยู่กับน้ำสกปรก และถูกเชื้อเข้าสู่ร่างกายนั้น ก่อนเข้าพบแพทย์ควรปฏิบัติ ดังนี้ ขอย้ำว่าแผลตำนั้นอันตรายกว่าแผลที่เป็นรอยขีดข่วน และแผลที่ตำลึก ต้องบีบเลือดออก ล้างด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก และควรใช้น้ำยาแอลกอฮอลล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอื่นๆ เช็ดทำความสะอาด และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับยาเพิ่มเติม" นพ.เกรียงไกรกล่าว
ส่วน นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าในสิ่งแวดล้อมมีแบคทีเรียหลายชนิดที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่บาดแผล ติดเชื้อในกล้ามเนื้อ ทำลายเนื้อเยื่อ และลุกลาม โดยเฉพาะกรณีที่เป็นบาดแผลลึก ทำให้มีไข้สูง ปวดบริเวณที่เป็นแผล หากรักษาไม่ถูกต้องอาจจะทำให้เสียชีวิตประมาณ 5-7 วัน แต่การเรียกว่าแบคทีเรียกินเนื้อคน ก็น่าจะพูดเกินจริง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดได้ไม่บ่อย ในประเทศไทยมีรายงานการเสียชีวิตประปราย แต่ไม่มีการเก็บสถิติอย่างจริงจัง
"ช่วงที่เกิดสึนามิ ก็พบมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียหลายราย เหมือนกับการถูกแมงมุมสีน้ำตาลกัด แบคทีเรียมีหลายตัว อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อม น้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ แต่ยืนยันได้ว่าในสระว่ายน้ำ น้ำประปาไม่มีปัญหาเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้แน่นอน อย่างไรก็ตาม เพื่อความแน่ใจหากเกิดบาดแผลแม้เพียงเล็กๆ น้อยระหว่างที่สัมผัสกับน้ำสกปรก ก็ให้ไปพบแพทย์อย่างน้อยจะได้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก" นพ.โอภาสกล่าว
ขณะเดียวกัน นพ.เสรี หงษ์หยก อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาร่วมเปิดเผยด้วยว่าเป็นเพื่อนกับญาติผู้จัดการธนาคารที่เสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรีย พร้อมทั้งระบุว่าผู้ตายไปเลือกซื้อปลาทับทิม และโดนเงี่ยงปลาตำมือ จนรู้สึกปวด ต่อมาไปพบแพทย์ และเข้ารักษาอย่างดี โดยล้างด้วยน้ำเกลือ เมื่อกลับมาบ้านขาขัดกับบันไดทำให้กล้ามเนื้อช้ำ จึงพบแพทย์เรื่องกระดูก เอกซเรย์และให้ยามากิน หลังจากนั้นผู้ตายโทรศัพท์มาบอกว่าขาบวมและเขียว จึงแนะให้ผู้ตายไปตรวจที่ร.พ.อีกครั้ง เพราะเกรงว่าเส้นเลือดอุดตัน จึงประสานให้รุ่นน้องช่วยรักษา ผลปรากฏเส้นเลือดตีบผิดปกติ จึงรีบผ่าตัด เพราะกลัวว่าเส้นเลือดจะอุดตันขา บริเวณด้านนอกหน้าแข้ง บวม เขียว และเย็น
นพ.เสรีกล่าวต่อว่า บริเวณที่ผู้ตายมีอาการขาบวมอยู่ด้านนอกหน้าแข้ง มีอาการเขียว บวม เมื่อตรวจดูพบกล้ามเนื้อฉีก 1 มัด และกล้ามเนื้อขาด 2 เส้น เพราะเกิดจากขัดกับบันได เมื่อแพทย์รักษากลับมีกลิ่นเหม็นเน่า และเมื่อลองนำเชื้อไปย้อมดูเป็นสีแดง แสดงให้เห็นว่าแผลไม่ได้มาจากผิวหนัง จึงคิดว่ามาจากแผลหัวแม่มือ และเกิดการติดเชื้อเข้ากระแสเลือด พอมีแผลที่ขาทำให้เชื้อเจริญเติบโต ทำให้เกิดขาบวมผิดปกติ เมื่อลองเอาเชื้อไปเพาะ จึงทราบว่าเป็นเชื้อที่รุนแรงมาก อยู่ได้ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย แล้วก็น้ำเค็ม เชื้อจะผลิตเอนไซม์ไปย่อยเม็ดเลือดก็ได้ กล้ามเนื้อก็ได้ ส่วนใหญ่อยู่ที่สัตว์ประเภทปลา ทำให้ปลาเป็นโรค และเมื่อมาติดเชื้อเข้าสู่คนจากทางเดินอาหาร จะส่งผลให้เกิดอาการท้องเสีย อหิวาตกโรค หรือแบบบิดก็ได้
"สำหรับรายนี้เกิดแผลที่หัวแม่มือ และเมื่อมีแผลที่ขาซึ่งช้ำ และเลือดออกจำนวนมาก ยิ่งทำให้เชื้อเจริญเติบโตได้ไว เพราะจะซึมเข้าสู่กระแสเลือด โดยคนไข้ตอนที่มาก็มีความดันผิดปกติ และเกล็ดเลือดต่ำ กระทั่งเสียชีวิตด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด" เพื่อนผู้เสียชีวิตกล่าว
อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่าเป็นเพื่อนกับผู้ตายมาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา ทราบเรื่องจากครอบครัวของเขา และหลังจากนำเลือดไปย้อมเชื้อ พบเชื้อแบคทีเรียตระกูล แอโรโมแนส ซึ่งเชื้อนี้เป็นสาเหตุทำให้ปลาป่วย โดยกลุ่มนี้มีเชื้อย่อย 8 ตัว ที่ทำให้เกิดโรคในคนได้ ส่วนใหญ่แบคทีเรียชนิดนี้จะทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย และอหิวาตกโรค หรือเกิดอาการบิด ทำให้ขับถ่ายเป็นมูกเลือด ส่วนน้อยที่จะเกิดทางแผล แต่กรณีถูกเงี่ยงปลาตำที่หัวแม่มือ และเข้ากระแสเลือดทันที เชื้อจะเข้าไปผลิตเอนไซม์ทำให้กล้ามเนื้อสลายและเส้นเลือดแตก ส่งผลให้เกิดการแข็งตัวของเลือดจนเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิต ประกอบกับมีแผลที่กล้ามเนื้อเข่า จึงเป็นอาหารของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เชื้อกระจายตัวเร็วขึ้น เหตุการณ์นี้เกิดได้กับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานไม่ดี