WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ เผยการพัฒนาแพทย์ไทยภายใต้กรอบการเปิดเสรีอาเซียน สร้างศักยภาพความพร้อมในการรับรองการเติบโตทางการแพทย์

   ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เตรียมความพร้อมในการเปิดเสรีอาเซียน เผยได้ร่วมจัดตั้งสมาคมทางการแพทย์ AFIM เพื่อรองรับเออีซี เชื่อมั่นมาตรฐานของอายุรแพทย์ไทยไม่ด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

    ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการพัฒนาระบบคุณภาพของอายุแพทย์ไทยเพื่อรองรับกับการเปิดเสรีอาเซียน ในปี 2558 ว่า จากคุณภาพของอายุรแพทย์ไทยในปัจจุบัน ทำให้มีการผลิตแพทย์ทั่วไปหรืออายุรแพทย์โดยเฉลี่ยประมาณ 270 คนต่อปีจากทั่วประเทศ โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ จะเป็นผู้จัดดำเนินการสอบประเมินความสามารถ โดยบอร์ดราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ทำงานร่วมกับแพทยสภา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบมาตรฐานทางการแพทย์แล้ว อายุรแพทย์ไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนเลย โดยหลังจากเปิดเสรีอาเซียนแล้ว หากจะมีการเคลื่อนย้ายไปทำงานยังประเทศอื่นๆ เชื่อว่าแพทย์ไทยสามารถไปได้แน่ แต่เราไม่มีนโยบายผลักดันให้แพทย์ไทยไปทำงานที่ประเทศอื่นเนื่องจากต้องการฝึกอบรมแพทย์ไทยขึ้นมาเพื่อให้รักษาผู้ป่วยในประเทศเป็นหลัก โดยปัจจุบันราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยมีสมาชิกแพทย์กว่า 6,000 คน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ สัดส่วนของอายุรแพทย์ที่เหมาะสม ควรจะอยู่ที่อายุรแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 5 พันคน แต่สัดส่วนอายุรแพทย์ไทยในปัจจุบันกลับอยู่ที่อายุรแพทย์ไทย 1 คน ต้องทำการรักษาประชากรมากถึง 1 หมื่นคน และแม้ในปัจจุบันจะยังไม่ได้เปิดเสรีอาเซียนอย่างเป็นทางการ แต่ประชากรจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย อย่าง ลาว กัมพูชา เมียนมาร์  ก็ข้ามมาทำการรักษาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โรคที่พบส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกัน ไม่มีปัญหาเรื่องการรักษา แต่มักมีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล

   ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันอาเซียนได้ก่อตั้งสมาคมทางการแพทย์ที่เรียกว่า ASEAN Federation of Internal  Medicine หรือใช้ชื่อย่อว่า AFIM ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ลาว และสิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นการรองรับการเปิดเสรีอาเซียนหรือ  AEC  สิ่งสำคัญที่ประชุมร่วมกันล่าสุด เป็นเรื่องของการส่งแพทย์ข้ามบอร์เดอร์ เช่น อายุรแพทย์จากที่หนึ่ง จะไปทำงานอีกที่หนึ่ง จะต้องเป็นฟรีบอร์เดอร์ ซึ่งทางไทยได้มีมาตรการเพื่อความปลอดภัยของคนไข้ของเราเอง ซึ่งมีมาตรการว่าจะมีเกณฑ์อย่างไรที่จะให้อายุรแพทย์จากประเทศอื่นๆ  เข้ามาทำงานในประเทศไทยเราถึงจะอนุมัติให้เข้ามาประกอบวิชาชีพ โดยจะแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ 1.แพทย์ต่างประเทศเดินทางเพื่อมาศึกษาต่อเพิ่มเติม  2. เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่แล้ว และมีวุฒิบัตรแล้วต้องการมาประกอบวิชาชีพในประเทศ  และ 3. มาเพื่อการเรียนการสอนหรือเพื่อศึกษาทำวิจัย  ซึ่งการโยกย้ายแพทย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน ภายหลังการเปิดเสรีในปี 2558 จะต้องรอการออกกฎโดยแพทย์สภาอีกครั้งหนึ่ง

  ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าวต่อว่า ขอยกตัวอย่างในประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีการผลิตวิชาชีพแพทย์เป็นจำนวนมาก ฉะนั้นฟิลิปปินส์ อาจจะมีนโยบายผลักดันแพทย์ออกมาทำงานข้างนอกประเทศ ในขณะนี้ประเทศสมาชิกในกลุ่ม AFIM ได้ประชุมร่วมกันว่าจะต้องตั้งเกณฑ์ในการรับแพทย์จากที่อื่น ให้มั่นใจว่าจะต้องมีศักยภาพและความรู้ความสามารถเทียบเท่ากับมาตรฐานของประเทศนั้น ๆ 

  “ขณะนี้เรามองในเรื่องของเทรนนิ่งซิสเต็ม เมื่อเปิดรับแพทย์ต่างชาติ อย่างประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าเรา ทางเรามีการเปิดอบรมระยะสั้นระหว่างราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯกับโรงพยาบาลสถาบันหลัก จำนวน13 แห่งและให้ทุนกับแพทย์ในระยะสั้น ซึ่งที่ให้ทุนอยู่แล้ว อย่างเเพทย์ชาวพม่า 3 ทุน และแพทย์ชาวลาว 3 ทุน ซึ่งดำเนินการโครงการนี้ทำมาได้ 3  ปีแล้ว แต่ในอนาคตอาจให้มาเทรนเป็นแพทย์ประจำบ้านเต็มตัว แล้วได้วุฒิบัตรจากประเทศไทยไป แต่ก็ต้องมาสอบใบประกอบโรคศิลป์ หรือ พูดภาษาไทยได้ด้วย สำหรับโดยภาพรวมในปัจจุบันโดยภาพรวมประชาชนคนไทยมีความเข้าใจในโรคต่าง ๆ น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งการใช้สื่อสารมวลชนจะช่วยได้มาก ขึ้น และทำให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจในสุขภาพของตนเอง เพราะปัจจุบันนี้มีคนที่มาอาศัยวงการแพทย์ในเรื่องของธุรกิจมาก เช่นในเรื่องของสเต็มเซลล์ จึงอยากผลักดันให้ช่วยทำความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย ”ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าว

     ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้ความสำคัญกับในเรื่องของสเต็มเซลล์ ให้มากๆ สเต็มเซลล์ คือเซลล์ เหมือนกับปมของเซลล์ เป็นความหวังของวงการแพทย์ สเต็มเซลล์สามารถเปลี่ยนเซลล์ของตัวมันเองไปเป็นเซลล์อื่นๆได้ เช่นไปเป็นเซลล์สมอง หรือเซลล์อะไร  ฉะนั้นหลาย ๆโรคที่วงการแพทย์ยังรักษาไม่ได้ดีมาก เช่น พาร์กินสัน โรคความเสื่อม ส่วนโรคมะเร็ง และโรคหัวใจ เนื่องจากอยู่ในระหว่างการวิจัย ซึ่งยังไม่ประกาศว่าคนทุกคนสามารถใช้ได้  ซึ่งโทษของการใช้ก็มี เช่น เมื่อฉีดสเต็มเซลล์ไปแล้ว กลับเป็นมะเร็ง เพราะเซลล์มันเติบโต หากคนไข้อยากเข้ามารักษา  ก็เข้ามาร่วมในโครงการงานวิจัยซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ข้อเสียคือ โรงพยาบาลเอกชนเอาไปใช้เยอะแยะและไปเก็บเงินคนไข้ และไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วมันรักษาได้ผลจริงหรือไม่ แต่ถ้าในอนาคตอีก  5-10 ปีข้างหน้า เชื่อมั่นว่ามีงานวิจัยมารองรับแน่นอน รู้ผลดี ผลเสีย เรารู้ว่าคนไข้คนไหนมาทำแล้วได้ประโยชน์ คนไหนมาทำแล้วเกิดโทษ รู้ความรู้กว้างแล้วจึงค่อยประกาศออกมาเป็นมาตรฐาน ซึ่งโรคที่เป็นมาตรฐานในการนำสเต็มเซลล์มาใช้จริงๆ ตอนนี้ คือโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยา เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายและเป็นมาตรฐานในการรักษาแบบสากล ส่วนการใช้สเต็มเซลล์เพื่อชะลอความแก่ ยังไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการ  แต่โรคที่กำลังจะกลายเป็นมาตรฐาน ที่มีงานวิจัยมารองรับเยอะๆ แต่ยังไม่ประกาศ  คือโรคข้อเข่า โรคกระดูกเสื่อม มีการใช้สเต็มเซลล์ หลายแห่งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งกำลังรอเวลาที่จะประกาศออกมาอย่างเป็นทางการในไม่ช้า

   ในปัจจุบันราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ มีโครงการที่สำคัญ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คือเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ แห่งประเทศไทย ในโครงการขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อลดการบริโภคเกลือ (โซเดียม)ในประเทศไทยและโครงการคนไทยไร้พุง  หากคนไทยปฏิบัติตัวดี ความเสี่ยงก็จะน้อยลง จะป้องกันได้ เช่น เรื่องบุหรี่ เรื่องรับประทานอาหารลดเค็ม เรื่องโรคที่ไม่ติดต่อร้ายแรง(NCD) เช่น โรคอ้วนลงพุง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ หากคนไทยรู้จักการปฏิบัติตัวไม่กินเค็ม รู้จักการลดน้ำหนัก ก็สามารถป้องกันโรคได้หลายโรค เช่น หัวใจ เบาหวาน อัมพาต ส่วนโรคที่เราป้องกันไม่ได้ แต่ว่ามีอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ คือ โรคมะเร็ง ซึ่งมีอันดับการตายอยู่อันดับต้นๆ ของเมืองไทย ก็ต้องรณรงค์ช่วยกัน แต่อาจจะรณรงค์ในเรื่องของงานวิจัย ที่จะนำไปสู่การรักษา หรือการป้องกันได้ดีขึ้น

   สำหรับ อายุรแพทย์ นั้นหมายถึง แพทย์ที่ทำหน้าที่วินิจฉัยรักษา และป้องกันโรคทางอายุรศาสตร์ ซึ่งเป็นโรคหรือความผิดปกติของระบบต่างๆในร่างกาย อาจมีความชำนาญพิเศษเฉพาะสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งต่อไปนี้ คือ โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติระบบการหายใจ, โรคไต หัวใจ และหลอดเลือด, โลหิตวิทยา, ประสาทวิทยา, เวชบำบัดวิกฤติ, มะเร็งวิทยา,โรคข้อและรูมาติสซั่ม ,โรคติดเชื้อและโรคอายุรศาสตร์เขตร้อน,โรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยา,ต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิซึม, โรคระบบทางเดินอาหาร, โรคผู้สูงอายุ, พันธุศาสตร์คลินิก ,ระบาดวิทยาคลินิก , เวชศาสตร์ป้องกันคลินิก, พิษวิทยาและเวชเภสัชวิทยาคลีนิก, โภชนาวิทยาคลินิก

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!