- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Tuesday, 10 November 2015 14:55
- Hits: 4674
ความหวังหญิงไทยรักษา'มะเร็งเต้านม'ได้ผลมากขึ้นผลข้างเคียงน้อยลง
ในสหรัฐอเมริกา มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งอันดับสองในผู้หญิง แต่ละปีพบผู้ป่วยใหม่กว่า 230,000 ราย สำหรับประเทศไทยมะเร็งเต้านม คือ สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย และพบว่า 1 ใน 10 ของหญิงไทยต้องเผชิญกับมะเร็งเต้านมสักครั้งหนึ่งในชีวิต
จากการทุ่มเทของวงการแพทย์ทั่วโลกเพื่อวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ในแต่ละปีจึงมีข้อมูลใหม่มากมายที่จะช่วยให้เราเข้าใจสาเหตุ รู้วิธีป้องกัน และมีหนทางใหม่ในการรักษา ซึ่งได้ผลมากขึ้น และมีผลข้างเคียงที่เป็นพิษน้อยลง
ต้นปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา ประกาศทุ่มทุ่น 215 ล้านเหรียญ เพื่อเร่งรัดความคืบหน้าการวิจัยด้านการแพทย์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการรักษาทางการแพทย์และการให้ยาในปริมาณที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแบบจำเพาะต่อบุคคล โดยใช้ข้อมูลดีเอ็นเอของคนไข้เป็นตัวบ่งบอกข้อมูลต่างๆ ในร่างกาย เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัย และการจ่ายยา ประกาศของประธานาธิบดีโอบามา หมายถึง การแพทย์ส่วนบุคคลต่อทุกปัญหาสุขภาพ รวมถึงมะเร็ง
รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ แพทย์ประจำหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลว่า “มะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อนนักวิจัยต้องเข้าใจลึกซึ้งถึงพันธุศาสตร์ของมะเร็ง ด้วยความรู้เหล่านี้การขจัดมะเร็งด้วยวิธีเดิมอัน ได้แก่ ฉายรังสี ผ่าตัด และเคมีบำบัด ได้ค่อยๆ นำเทคโนโลยีแบบจำเพาะมุ่งเป้ามาใช้ โดยการรักษาแบบมุ่งเป้าเริ่มได้รับความนิยมตั้งแต่ปลาย 1990 จนถึงต้นยุค 2000 เช่น การใช้ยาเพื่อยับยั้งหลอดเลือดเลี้ยงมะเร็ง แต่ต่อมานักวิจัยพบว่า การรักษาแบบมุ่งเพียงเป้าหมายเดียว ไม่ได้เหมาะสำหรับผู้ป่วยทุกคน เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีปัจจัยแวดล้อมของโรคมะเร็งต่างกัน พูดอีกอย่างคือ ผู้ป่วยแต่ละคนมีหลายเป้าหมายที่ต้องจัดการ”
แนวคิดในการวิเคราะห์เนื้องอกของผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อกำหนดการให้ยาที่ทำงานได้ดีที่สุด จึงเป็นก้าวใหม่ทางการแพทย์ที่มีความเป็นไปได้ในการพิชิตมะเร็ง ปัจจุบันวงการแพทย์ได้ยกระดับความจำเพาะให้เป็นการรักษาที่มีศักยภาพพร้อมไปกับการลดผลข้างเคียงที่เป็นพิษให้น้อยลง โดยเมื่อเป็นมะเร็ง การแพทย์ส่วนบุคคลสามารถใช้รูปแบบที่หลากหลายเพื่อจัดการ ได้แก่ ทดสอบเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยเพื่อหาการรักษาที่เหมาะสม ทดสอบทางพันธุศาสตร์เพื่อตัดสินใจว่าผู้ป่วยสามารถใช้ยาที่จำเพาะเจาะจงได้หรือไม่ เมื่อสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ชัดเจนว่าผู้ป่วยจะมีการตอบสนองต่อยาอย่างไร ก็ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรับยาที่เหมาะสมมากขึ้น ประสิทธิภาพการรักษาก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่าย ย่นระยะเวลาในการดูแลสุขภาพ รวมถึงลดอาการข้างเคียงที่เกิดจากยา
นอกจากนี้ การแพทย์ส่วนบุคคลยังสามารถจัดการก่อนเป็นมะเร็งในกลุ่มเสี่ยง โดยทดสอบทางพันธุศาสตร์เพื่อตรวจสอบว่า มีโอกาสการกลายพันธุ์ของเซลล์แล้วพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้หรือไม่ ถ้าพบก็จัดการเสียก่อนเป็นมะเร็ง
ในด้านการดูแลผู้ป่วย ปัจจัยด้านโภชนาการเป็นเรื่องสำคัญ ดร.กมล ไชยสิทธิ์ นักกำหนดอาหารที่ปรึกษาในหลายโรงพยาบาลชั้นนำ ได้อธิบายว่า “ผู้ป่วยควรได้รับการกำหนดอาหารให้ตรงกับความจำเป็นของร่างกายแต่ละคน ควรต้องเรียนรู้ปัจจัยด้านอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพ อาทิ ทำไมน้ำตาลเป็นอาหารเลี้ยงมะเร็ง แล้วผู้ป่วยจะทำอย่างไร ผักผลไม้ต่างๆ วิตามิน เกลือแร่ สมุนไพร กรดไขมัน สารสกัดจากอาหาร อะไรบ้างที่จะช่วยผู้ป่วยมะเร็งได้จริงๆ นอกจากนี้ ทำอย่างไรให้อาหารเป็นพิษกับมะเร็ง แต่เป็นมิตรกับผู้ป่วย
ขอเชิญประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมให้ความรู้ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เรื่อง "พิชิตมะเร็งด้วยนวัตกรรม" (Innovations in CANCER Treatment) ในวันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน 2558 เริ่มเวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้องสยามมกุฎราชกุมาร อาคารเฉลิมพระบารมี 50ปี ซ.ศูนย์วิจัย (เพชรบุรี 47) ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ กทม. จัดโดยชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย! สำรองที่นั่ง 200 ท่านแรก รับฟรี! คู่มือดูแลผู้ป่วยมะเร็ง โทร. 0-2664-0078 หรือ Email : [email protected] รายละเอียดเพิ่มเติม www.siamca.com