- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Tuesday, 23 June 2015 13:09
- Hits: 3672
สธ.ห้าม 227 รพ. ปัดรักษาเมอร์ส
สธ.สั่ง 227 ร.พ.เอกชน-คลินิก ห้ามปฏิเสธรับรักษาคนไข้ ผู้ป่วยเฝ้าระวังโรคเมอร์ส ไม่งั้นมีความผิดทั้งจำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่น แฉมีร.พ.เอกชน 2 แห่งปัดรับรักษาคนไข้ แถมไล่ขึ้นแท็กซี่ไปร.พ.รัฐ เตรียมลงพื้นที่สุ่มตรวจร.พ.เอกชน-คลินิก แนะเช็กที่มา-ประวัติผู้ป่วยก่อนรับรักษา จากนั้นระดมถกเหล่าทัพ-บัวแก้ว ร่วมควบคุมความเสี่ยง-วางแผนป้องกัน ยันมีชายชาวโอมานติดเชื้อแค่คนเดียว ยังกักญาติเฝ้าระวังอีก 14 วันด้วย ชี้สถานการณ์ในไทย ดีขึ้นแล้ว ด้านรมว.การท่องเที่ยวฯถกบริษัททัวร์เข้มคนร่วมพิธีฮัจญ์ เชียงใหม่ก็ยันไม่มีติดเชื้อ สสจ.ยังเฝ้าดูอาการสาวบุรีรัมย์ เกาหลีใต้ตายเพิ่มอีก 2
วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8973 ข่าวสดรายวัน
ตรวจเข้ม - เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องสแกนตรวจวัดอุณหภูมิ ตรวจเข้มนักท่องเที่ยวที่ เดินทางมาถึงท่าอากาศยานสมุย จ.สุราษฎร์ฯตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคเมอร์ส เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.
สธ.ถกเหล่าทัพคุม'เมอร์ส'
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคเมอร์สว่า ยังยืนยันมีผู้ป่วย 1 รายเช่นเดิม คือ ชายชาวโอมาน ซึ่งอาการโดยรวมถือว่าดีขึ้น แต่ต้องติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ป่วยมีโรคหัวใจเป็นโรคประจำตัว ส่วนญาติของผู้ป่วยทั้ง 3 คน แม้ผลตรวจเชื้อเป็นลบ แต่ถือเป็นผู้เสี่ยงสูง ยังต้องเฝ้าระวังให้ครบ 14 วัน สำหรับผู้สัมผัสโรคล่าสุดมี 163 ราย เนื่องจากมี 13 รายเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว ซึ่งกลุ่มนี้จะติดตามโรคให้ครบ 14 วันเช่นกัน และไม่พบมีผู้ใดมีอาการป่วย โดยเฉพาะ ผู้สัมผัสสองแถวหน้าหลัง ไม่มีผู้ใดป่วย ซึ่งจากที่พบผู้ป่วยวันแรก นับเป็นเวลา 7 วัน ทำให้ถือว่าสถานการณ์ในประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ดี อยู่ในจุดที่ควบคุมโรคได้ ความเสี่ยงไม่ต่ำ แต่ไม่สูงมาก ประกอบกับสถานการณ์ของประเทศเกาหลีดีขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ความน่าเป็นห่วงลดลง
นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า การประชุมวันนี้ได้เชิญตัวแทนจาก 3 เหล่าทัพ กระทรวงการต่างประเทศ และกทม. ร่วมหารือ โดยจะร่วมมือกันควบคุมความเสี่ยง และสื่อสารต่อประชาชนให้มีความเข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะการรับมือในอนาคตได้หารือกับกองทัพ เพื่อสร้างมาตรการรับมือร่วมกัน ในกรณีที่พบผู้ป่วยและต้องสังเกตอาการ เพราะหากพบผู้ป่วย 1 คน คาดว่าจะมีผู้สัมผัสอย่างน้อย 50 คน ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการที่ต้องวางแผนร่วมกันไว้ก่อน เพราะเมื่อต้องเฝ้าระวังต้องทำเป็นเวลา 14 วัน นอกจากนี้จะประสานกับกระทรวงต่างประเทศและโรงพยาบาลเอกชน เพื่อสร้างมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงการนำโรคติดต่ออันตรายเข้าประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางของผู้ป่วยจากแถบประเทศพื้นที่เสี่ยง ซึ่งยังต้องมีการหารือกันระดับนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป
สั่งร.พ.เอกชนเช็กที่มาผู้ป่วย
"ปัจจุบันการเดินทางเข้ามารักษาโรคในประเทศไทยเป็นไปตามหลักเสรี แต่ในอนาคตอาจต้องมีมาตรการใหม่ๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในกรณีการระบาดของโรคติดต่ออันตราย ซึ่งแต่ละปีมีผู้ป่วยจากประเทศต่างๆ เดินทางเข้ามารักษาตัว 1.4 ล้านครั้ง ส่วนใหญ่มารักษาในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งอาจประสานระหว่างประเทศต้นทางและโรงพยาบาลปลายทาง โดยขอความร่วมมือคัดกรองผู้ป่วยก่อนด้วย ส่วนการจัดงานประชุมและคอนเสิร์ต พบว่าหน่วยงานภาคเอกชนมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการป้องกันโรค แม้ประเทศไทยมีนโยบายเปิดเสรี การทำอะไรก็ต้องไม่ให้กระทบเศรษฐกิจ ซึ่งการป้องกันโรคมีหลายระดับ ขณะนี้ต้องทำเรื่องเร่งด่วนก่อนและต้องหารือกันต่อไป"นพ.วชิระกล่าว
นพ.วชิระกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์โดยรวมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 21 มิ.ย. มี ผู้อยู่ในเกณฑ์สอบสวนโรคเดินทางเข้ามาประเทศไทยรวม 53 ราย ในจำนวนนี้มาจากเกาหลีใต้ 32 ราย ตะวันออกกลาง 21 ราย ทุกรายผลตรวจเป็นลบ ส่วนรอบ 24 ชั่วโมง มีผู้ที่อยู่ในกระบวนการสอบสวนโรค 9 ราย กลับจากเกาหลีใต้ 5 ราย และตะวันออกกลาง 4 ราย ซึ่งอาการโดยทั่วไปไม่น่าเป็นห่วง ทั้งนี้ จะพยายามทำความเข้าใจภาคเอกชน โดยเฉพาะคลินิก หากสอบถามพบว่าผู้ป่วยเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เบื้องต้นให้ใช้หน้ากากอนามัยป้องกันโรคก่อน หากเห็นว่าผู้ป่วยอาการไม่ดีให้แจ้งหมายเลข 1442 เพื่อให้ส่งรถรับผู้ป่วยได้ทันที เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเสี่ยงสัมผัสโรคกับผู้อื่นเพิ่ม
กักญาติโอมานเฝ้าระวัง 14 วัน
นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สธ.ได้หารือกับ โรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ว่าต่อไปจะให้โรงพยาบาลเอกชนประสานกับเอเยนซี่ ที่จะนำ ผู้ป่วยมารักษาโรคต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศที่มีการระบาดของเมอร์ส อย่างประเทศทางตะวันออกกลาง ให้ตรวจหาโรคเมอร์สในผู้ที่จะมารักษาโรคต่างๆ ในไทยก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนที่ส่งมารักษาโรคต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งกรณีนี้โรงพยาบาลเอกชนก็เห็นด้วยกับสธ. ส่วนกรณี ผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาด้วยตัวเองโดยไม่ผ่านเอเยนซี่ จะให้โรงพยาบาลเอกชนดูประวัติของผู้เข้ามา หากมาจากประเทศตะวันออกกลาง ให้ส่งสารคัดหลั่งตรวจหาเชื้อทุกราย เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยชายชาวโอมาน แม้อาการจะดีขึ้น แต่จากอาการเดิม ที่เป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าอาการจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะโดยปกติโรคเมอร์ส เมื่อเกิดกับผู้ที่เป็นโรคประจำตัวและกลุ่มผู้สูงอายุ จะทำให้เกิดอาการหนักขึ้น ทำให้ยังต้องติดตามดูอาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังต้องตรวจเชื้อ อีก 2 ครั้ง และให้ผลเป็นลบต่อเนื่อง จึงจะถือว่าพ้นระยะการแพร่โรคได้ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยในการเก็บเชื้อตรวจซ้ำต่อไป ส่วนญาติที่เดินทางมาด้วยกันยังต้องอยู่ในระบบเฝ้าระวังจนครบ 14 วัน หรือจะครบวันที่ 2 ก.ค.นี้
ห้าม'ร.พ.-คลินิก'ปัดรักษา
ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธานประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ 127 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัดกลาโหม สังกัดตำรวจ และคลินิกในพื้นที่กลุ่มเสี่ยงที่ชาวต่างชาติมาใช้บริการจำนวนมาก 100 แห่ง เพื่อเตรียมแผนรับมือป้องกัน และแนวทางปฏิบัติในการส่งต่อผู้ป่วยโรคเมอร์ส
นต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ในส่วนโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกต่างๆ จะเน้นในเรื่องการทำความเข้าใจโรค ลักษณะอาการ เข้าข่ายต้องสงสัยและเดินทางมาจากประเทศต้องสงสัย ต้องไม่ปล่อยผ่านคนไข้ จากนั้นค่อยส่งต่อให้โรงพยาบาลของรัฐ แต่หากมี โรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิกปฏิเสธคนไข้ จะถือว่ามีความผิด เพราะโรคเมอร์สถือเป็นโรคที่สธ.ประกาศให้เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยอยากให้ ทุกโรงพยาบาลดำเนินแนวทางการควบคุมโรคเมอร์สตามที่สธ.กำหนด เช่น การซักประวัติการเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ โดยเฉพาะผู้มีอาการไอ ไข้ มีน้ำมูก ต้องเช็กอย่างละเอียด การติดป้ายที่มีข้อความประชาสัมพันธ์ว่า กลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงขอให้แจ้ง ให้แพทย์ทราบ โดยจะติดป้ายหน้าประตูโรงพยาบาลทุกทางเข้าออกอย่างชัดเจน และให้จัดทำหน่วยคัดกรองแบบวันสต๊อปเซอร์วิส เพื่อให้แยกกลุ่มเสี่ยงออกจากผู้ป่วยทั่วไป และให้สื่อสารเกี่ยวกับการติดต่อของโรคเมอร์ส เพื่อให้ประชาชนรับทราบ
"เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอกชน 2 แห่ง เมื่อทราบว่าผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและมารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น แต่กลับปฏิเสธไม่ให้ผู้ป่วยเข้ารับรักษาและเรียกแท็กซี่ให้ โดยให้มาที่สถาบันบำราศนราดูรแทน ซึ่งลักษณะนี้ทำไม่ได้ ถือว่าผิดหลักมาตรฐานของสถานพยาบาลในเรื่องการส่งต่อ และปฏิเสธผู้ป่วย" นต.นพ.บุญเรืองกล่าว
นต.นพ.บุญเรืองกล่าวว่า สำหรับการปฏิเสธผู้ป่วยนั้นจะมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผิดต่อพ.ร.บ.ควบคุมโรค .... โดยมีความผิดจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากร้ายแรงสุดอาจถึงขั้นสั่งปิดโรงพยาบาลแห่งนั้นได้ โดยเร็วๆ นี้จะมีการสุ่มตรวจสถานพยาบาลเอกชนและคลินิก เพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดเคสนี้ซ้ำอีก เบื้องต้นได้ว่ากล่าวตักเตือน เจ้าหน้าที่ดังกล่าวไปแล้ว
เชียงใหม่ยันไม่มีติดเชื้อ
วันเดียวกัน นพ.ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวพบผู้ป่วยโรคเมอร์สในจังหวัดว่า ในช่วงเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมา มีผู้เข้าข่ายต้องสอบสวนโรค 4 ราย เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเบื้องต้น พบมีอาการไข้ จึงเข้าข่ายต้องสอบสวนโรคและเก็บเชื้อส่งตรวจ โดยพบว่า 3 ใน 4 ราย ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการชี้ชัดว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ธรรมดา แต่อีก 1 ราย ที่เหลือไม่พบว่าเป็นเชื้ออะไร และไม่ใช่เชื้อเมอร์สด้วย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มาตรการเฝ้าระวังเป็นไปอย่างเข้มงวด จึงต้องใช้มาตรการเฝ้าระวังและดูอาการของผู้ป่วยควบคู่ไปด้วย เบื้องต้นพบว่าผู้ป่วยอาการไม่ได้อยู่ในขั้นร้ายแรงหรืออาการหนัก เนื่องจากยังเป็นคนหนุ่มแข็งแรง แต่เนื่องจากหาเชื้อไม่พบ จึงต้องยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังเท่านั้นเอง
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้มีการเก็บเชื้อผู้ที่เข้าข่ายต้องสงสัยส่งตรวจอย่าง ต่อเนื่อง โดยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาพบมีการตรวจวิเคราะห์เชื้อ 120 ราย แต่ปีนี้มีการ ส่งเชื้อตรวจแล้ว 146 ราย และเนื่องจากประเทศเกาหลีใต้ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงด้วย จึงทำให้มีการส่งเชื้อตรวจวิเคราะห์เพิ่มขึ้นจากทุกจังหวัด จากเดิมการส่งเชื้อตรวจจะอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากมีประชาชนเดินทางมาจากพื้นที่ตะวันออกกลางจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มแต่อย่างใด
ถกทัวร์เข้มคนร่วมพิธีฮัจญ์
ขณะที่นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า เตรียมคุย กับผู้ประกอบการทัวร์ 6 แห่ง ที่นำชาวมุสลิม ที่มีความประสงค์จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์นับหมื่นคน และพิธีอุมเราะห์กว่า 6 พันคน ที่ประเทศซาอุดี อาระเบียซึ่งเป็นหนึ่ง ในประเทศที่มีการระบาดของโรคเมอร์ส โดยจะประสานให้กระทรวงสาธารณสุขมาร่วมหารือ เพื่อให้คำแนะนำในการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง พร้อมเตรียมหารือกับโรงแรมและรีสอร์ตทั่วประเทศให้เฝ้าระวังผู้ติดเชื้อ เมอร์ส หากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้าพักโรงแรม จะมีข้อสังเกตผู้ติดเชื้อตามที่กระทรวงสาธารณสุข อาทิ มีไข้ มีไอ หากพบข้อสงสัยก็ให้โทร.1669 เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุข มารับไปดูแล
ด้านนายวิทวัส ศรีวิหค รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า หลังจากมีการ แพร่ระบาดของโรคเมอร์ส กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานกับสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด แม้ผู้ติดเชื้อ รายแรกจะมีอาการดีขึ้น แต่กระทรวงต่างประเทศยังคงประสานให้หน่วยงานต่างประเทศ โดยเฉพาะสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิด และหน่วยงานภายในให้เฝ้าระวัง โดยยืนยันยังไม่ได้ออกประกาศห้ามนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเกาหลีใต้ แต่ขอให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวทุกคนติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว
ยังเฝ้าดูอาการสาวบุรีรัมย์
สำหรับ สถานการณ์ในต่างจังหวัด ที่จ.บุรีรัมย์ นพ.สมพงษ์ จรุงจิตตานุสนธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขบุรีรัมย์ กล่าวถึงการตรวจสอบหญิงสาวที่นั่งเครื่องบินข้างชายชาวโอมานที่ติดเชื้อโรคเมอร์สว่า ได้กักตัวหญิงคนดังกล่าวไว้เฝ้าระวังอาการเป็นเวลา 14 วัน เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้โดยสาร 106 คน ที่นั่งมาในเครื่องบินลำเดียวกับชายชาวโอมาน ล่าสุดผ่านไป 7 วัน แล้วก็ยังไม่พบว่าหญิงคนดังกล่าวมีไข้หรืออาการผิดปกติ แต่เจ้าหน้าที่ต้องกักตัวเฝ้าระวังอาการอีก 1 สัปดาห์ตามมาตรการควบคุมโรค หากครบ 14 วัน แล้วยังไม่พบอาการผิดปกติก็จะอนุญาตให้กลับบ้าน แต่ถ้ามีไข้หรืออาการผิดปกติ ต้องนำตัวเข้าห้องแยกโรคตามขั้นตอนต่อไป ส่วนสมาชิกในครอบครัวก็ยังคงใช้ชีวิตตามปกติ
นอกจากนี้ ยังกำชับให้สาธารณสุขอำเภอทุกอำเภอและอสม.ทุกหมู่บ้าน ลงพื้นที่แนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลป้องกันตนเอง พร้อมประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจ ไม่ให้ชาวบ้านตื่นตระหนกกับกระแสข่าวการระบาดของโรคดังกล่าว
เกาหลีใต้ตายเพิ่มอีก 2
ส่วนสถานการณ์แพร่ระบาดในต่างประเทศ เอเอฟพีรายงานว่า ในประเทศเกาหลีใต้มียอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสมรณะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 27 ราย โดยผู้เสียชีวิต 2 รายล่าสุดเป็นชายวัย 87 ปี และ 84 ปี ได้รับเชื้อระหว่างรักษาโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ซัมซุงในกรุงโซล เมื่อต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ระบุพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 3 คน คนหนึ่งติดเชื้อในโรงพยาบาลซัมซุง อีกคนได้รับเชื้อจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยคอนกุก ในกรุงโซล ส่วนคนที่สามเป็นเจ้าหน้าที่ การแพทย์ของโรงพยาบาลแดชอง ส่งผล ให้จำนวนผู้ได้รับเชื้อมีมากกว่า 172 คน
ทั้งนี้ โรงพยาบาลซัมซุงมีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเมอร์สอยู่ในความดูแลราว 80 คน ในจำนวนนี้ 14 คน อาการสาหัส อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายและอนุญาตให้กลับบ้าน ได้มากกว่า 50 คน รวมถึงผู้ปลอดเชื้อ 7 คน ที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลในช่วงสุดสัปดาห์