- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Thursday, 14 May 2015 15:49
- Hits: 3015
ยกเครื่อง รพ.รัฐ สู้ รพ.เอกชน ถ่วงดุล'ค่ายา-รักษา'
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ ไปแก้ปัญหากรณีมีผู้ร้องเรียนเรื่องสถานพยาบาลเอกชนเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงจนเกินไป ทำให้ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ใส่เกียร์เดินหน้า เตรียมหารือร่วมกระทรวงพาณิชย์และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อสางปัญหา
เกิดเป็นคำถามว่า การแก้ปัญหาโรงพยาบาล (รพ.) เอกชนเรียกเก็บค่ารักษาแพง โดยใช้กฎหมายมาควบคุมนั้นจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้วหรือไม่
ขณะที่ รพ.เอกชนบางกลุ่มรู้สึกว่า เป็นการลิดรอนสิทธิมากเกินไป เนื่องจากเป็นบริการทางเลือกที่ต้นทุนการบริการแตกต่างจาก รพ.รัฐ ไม่มีงบประมาณจากภาครัฐเข้าช่วยเหลือ
แต่อีกกลุ่มมองว่า จำเป็นต้องควบคุม เพราะหากไม่มีมาตรฐานค่าบริการ หรือราคากลางที่ชัดเจน ถือเป็นการเอาเปรียบประชาชน
'นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา'ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เห็นว่า การคุมราคาของ รพ.เอกชนไม่ให้สูงจนเกินไปเป็นสิ่งที่ต้องทำ รัฐบาลก็ควรยกระดับ รพ.ภาครัฐ ซึ่งเป็น รพ.ส่วนใหญ่ของประเทศให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะการบริการให้เทียบเท่าเอกชนด้วย หาก รพ.รัฐบาลดีจริง ไม่มีปัญหาเรื่องการรอคิวนาน ลดความแออัดได้ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากไปใช้บริการเอกชนที่มีราคาแพง แต่ทุกวันนี้ยังมีกลุ่มหนึ่งที่พอจะเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเอกชนก็ยอมจ่ายค่ารักษาเอง เพราะเลือกกับการไม่ต้องรอคิวนาน ดังนั้น หากรัฐบาลสนับสนุน รพ.ภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ ทั้งเตียงนอน บุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพการบริการให้ดีขึ้น แน่นอนว่าประชาชนจะไปใช้บริการ รพ.เอกชนน้อยลง
'นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์' กรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ธุรกิจ รพ.เอกชนมีตั้งแต่ขนาด 5 ดาว ลดหลั่นกันลงมาจนถึงระดับโพลีคลินิก เจ้าของจะมีหลายกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นแพทย์ เมื่อแพทย์เริ่มทำธุรกิจ ทุกอย่างก็ต้องเป็นธุรกิจ บางคนอาจจะไม่ได้ทำหน้าที่ในการรักษาคนไข้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของราคายานั้นเทียบรวมกับ รพ.เอกชนด้วยกันเอง และของรัฐที่มีระดับตั้งแต่โรงเรียนแพทย์ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน มาจนถึง รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล ค่ายาตั้งต้นจากบริษัทยาอาจจะมาเท่ากัน แต่ รพ.เอกชนต้องมีการลงทุนเพิ่ม เช่น บางแห่งต้องกู้เงินมาซื้อ ประกอบกับต้องจ้างบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญในอัตราสูงมาให้บริการ
ตรงนี้จึงถูกบวกเข้ามาเป็นต้นทุนด้วย ทำให้ราคาขายไม่เท่ากันในแต่ละ รพ.
"วันนี้ประเทศไทยกำลังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ต้องการเงินเข้าประเทศค่อนข้างมาก และรายได้จำนวนมหาศาลที่มาจากการท่องเที่ยวร่วมกับการรักษาพยาบาลในประเทศ (Medical Tourism) ดังนั้นเมื่อประเทศยังต้องการเงินจากตรงนี้ จะไปสกัดกั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม แต่ในเรื่องของราคายา ค่ารักษาที่แพงนั้นก็ต้องเป็นไปอย่างสมเหตุผล สอดคล้องกับต้นทุน ไม่ใช่ไปโกงประชาชน ส่วนตัวเห็นว่าการทำงาน การขอความร่วมมือกับ รพ.เอกชนควรมุ่งในเรื่องของความเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตว่าไม่ควรเอาเรื่องค่าใช้จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนโรคภัยต่างๆ อาการเจ็บป่วยที่สามารถรอได้ก็ขอให้ประชาชนไปรักษาตามสิทธิที่ตัวเองมีอยู่ ในขณะเดียวกันภาครัฐต้องเพิ่มการลงทุนใน รพ.ของรัฐให้มากกว่านี้ พัฒนาตัวเองให้มาเทียบเท่า รพ.เอกชน วันนี้งบที่ให้ก็น้อย ทำให้ รพ.ต้องรัดเข็มขัด รัฐต้องลงทุนใน รพ.ของรัฐให้มากกว่านี้ ปรับปรุงทัศนียภาพของ รพ.ให้รื่นรมย์เหมือนเอกชนด้วย"นพ.เจตน์กล่าว
ในการพัฒนา รพ.ภาครัฐนั้น ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการแบ่งการบริหาร รพ.ต่างๆ ออกเป็นเขตสุขภาพ มีทั้งหมด 12 เขตสุขภาพ จะแบ่งออกเป็นเครือข่าย รพ. มีการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันในการทำงาน และมีการเปิดช่องทางกรณีผู้ป่วยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมารักษา รพ.จังหวัด ลดปัญหาความแออัด โดยให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หากมีเคสฉุกเฉิน หรือเคสรุนแรงจึงจะส่งต่อมายัง รพ.ระดับจังหวัดแทน ขณะเดียวกันยังเน้นการทำงานเชิงรุก จัด'ทีมหมอครอบครัว'เพื่อดูแลแต่ละครัวเรือนโดยเฉพาะ ให้เป็นหมอที่ปรึกษาประจำครอบครัวนั่นเอง
'นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์' รมช.สธ. กล่าวว่า รพ.เอกชนแม้จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการรับบริการ แต่ รพ.สังกัดภาครัฐก็เป็นอีกทางเลือก จึงต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ที่ผ่านมาก็ดำเนินการมาตลอด แต่การพัฒนา ณ หน่วยบริการอย่างเดียวเพื่อตั้งรับคงไม่ได้ จำเป็นต้องทำงานเชิงรุก
ที่ผ่านมาได้เดินหน้าจัดตั้ง 'ทีมหมอครอบครัว' ขึ้น เพื่อดูแลถึงครอบครัว อาศัยทีมหมอสหวิชาชีพจาก รพ.ขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยง มี รพช. และ รพ.สต. ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำงานลงพื้นที่ดูแลสุขภาพประชาชน ถือเป็นการป้องกันโรคที่สำคัญ ดีกว่าเจ็บป่วยและเข้า รพ.เพียงอย่างเดียว
ดังนั้น นอกจากจะพัฒนา รพ.รัฐเพื่อให้บริการประชาชนดียิ่งขึ้นแล้ว การทำงานเชิงรุกโดยอาศัยทีมหมอครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในพื้นที่ กทม.จะมีทีมหมอครอบครัวเข้ามาดำเนินการด้วย เพื่อให้คนกรุงมีสุขภาพที่ดี ไม่จำเป็นต้องไม่เข้า รพ.
"ล่าสุดในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้จะมีการหารือร่วมกับ กทม. และคลินิกเอกชนในการทำงานเป็นทีมหมอครอบครัวสำหรับคนกรุง โดยจะประชุมรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนหน่วยบริการที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้แทนคลินิกเอกชนที่สมัครใจ รพ.ภูมิพลฯ รพ.ศิริราช สำนักอนามัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานสถานพยาบาลประกอบโรคศิลปะ โรงพยาบาลใน กทม. ฯลฯ เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับคุณภาพการบริการ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนมากขึ้น" นพ.สมศักดิ์กล่าว
โดยคลินิกเอกชนดังกล่าว คือ คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นคลินิกที่ขึ้นทะเบียนในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีจำนวน 150 แห่งทั่วกรุงเทพฯ
ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จ่ายเงินตามค่าหัวอัตราหัวละ 1,000 กว่าบาทต่อคนต่อปี ทางผู้บริหาร สธ.และ สปสช.จึงมีความคิดว่า การจัดทีมหมอครอบครัวสำหรับคนกรุงเทพฯจะต้องดึงคลินิกชุมชนอบอุ่นมาเข้าร่วม เพราะถือเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้านที่สุด เนื่องจากกรุงเทพฯไม่มี รพช.หรือ รพ.สต. โดยคลินิกชุมชนอบอุ่นมีจำนวน 150 แห่ง จะให้ดูแลหมู่บ้านจัดสรรแห่งละ 2 หมู่บ้าน รวมจะดูแล 300 หมู่บ้าน ซึ่งคลินิกเหล่านี้มีทะเบียนกลุ่มประชากรเป้าหมายที่ต้องดูแลอยู่แล้ว มีเบอร์โทรศัพท์ให้ประชาชนติดต่อสื่อสาร เรียกว่าป่วยไข้โทรหาหมอครอบครัวได้
ขณะเดียวกันต้องลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้าน โดยจะมีพี่เลี้ยงเป็น รพ.ขนาดใหญ่ 5 แห่งของกรมการแพทย์ เป็นที่รับส่งต่อกรณีผู้ป่วยหนักนั่นเอง
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวจะเดินหน้าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 เป็นต้นไป ส่วนจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ค่ายา รพ.เอกชนลงไปได้แค่ไหน ต้องคอยจับตาดู ดูว่าแนวทางพัฒนา รพ.รัฐ จะช่วยบรรเทาค่ายาค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชนได้อย่างไร
ค่ารักษาที่รพ.เอกชน
บทนำมติชน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้หยิบยกเรื่องค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนขึ้นมาเป็นประเด็นให้แก้ไข ทางกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรจะเข้าไปดูแลทั้งปัญหาค่าบริการ และปัญหาอื่นๆ หากมี เพื่อจะได้จัดวางมาตรการและสร้างมาตรฐานที่ลดปัญหาความรู้สึกเอาเปรียบ หรือวางมาตรการที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็นธรรมและเท่าเทียม ซึ่งล่าสุด นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้นัดหารือเป็นการภายในกระทรวงสาธารณสุขกันไปแล้ว คงต้องรอความคืบหน้าด้านอื่นที่จะดำเนินการออกมาเป็นรูปธรรมต่อไป
ขณะที่ทางแพทยสภา โดย พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการได้แยกแยะหมวดหลักๆ ในการเก็บค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนว่ามีประมาณ 3 หมวด คือ 1.ค่าธรรมเนียมบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหมอและผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ 2.ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ยา เวชภัณฑ์ต่างๆ และ 3.ค่าบริการต่างๆ ของสถานพยาบาล ซึ่งแต่ละแห่งจะบริการที่แตกต่างกันไป ส่วนสมาคมโรงพยาบาลเอกชนยังไม่มีความเคลื่อนไหว โดยมีกระแสข่าวว่า สมาคมมีมติไม่ให้สมาชิกของสมาคมให้ความเห็นในเรื่องนี้ จึงยังไม่สามารถสรุปความจำเป็นหรือข้อโต้แย้งในคำร้องเรียนเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงได้
เรื่องความเห็นแตกต่างระหว่างภาคเอกชน คือ โรงพยาบาลกับภาคประชาชน คือผู้ไปใช้บริการนั้น เป็นเรื่องธรรมดา เพราะโรงพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจที่หวังผลกำไร ส่วนประชาชนก็คาดหวังว่าจะได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุด โดยไม่เดือดร้อนค่าใช้จ่าย ซึ่งความเห็นต่างเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอด แต่ก็ไม่ควรจะให้ความรู้สึกดังกล่าวติดค้างสั่งสมอยู่ในสังคม ภาครัฐและหน่วยงานที่อยู่ในฐานะคนกลางน่าจะเข้าไปช่วยลดความรู้สึกเช่นนั้น ทั้งการเพิ่มความเชื่อมั่นในการให้บริการจากภาครัฐ การตั้งกฎเกณฑ์ที่โรงพยาบาลเอกชนต้องรับผู้ป่วยและให้การรักษา เช่น กรณีฉุกเฉิน การแจ้งค่ารักษาพยาบาลโดยละเอียด รวมไปถึงการควบคุม หากเกิดการค้ากำไรเกินควร เป็นต้น รวมทั้งหมั่นสร้างความเข้าใจระหว่างโรงพยาบาลเอกชนกับประชาชนอยู่เสมอ ซึ่งหากทำได้เช่นนี้ย่อมทำให้ธุรกิจอยู่ร่วมกับประชาชนได้ แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ ต้องรอดูฝีมือของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าท้ายที่สุดผลลัพธ์จะออกมาเช่นไร