- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Tuesday, 06 January 2015 13:15
- Hits: 4511
วันที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8805 ข่าวสดรายวัน
สธ.โต้ลือป่วนเน็ต หมู ไก่เป็ด ยันไม่มีป่วยเอดส์ อ้างล้มตายวันละพันตัว แชร์ว่อน-ให้งดกิน6ด. ปศุสัตว์รุดตรวจ-ไม่พบ ยังเปิบได้-ไร้เชื้อระบาด
โต้ลือ - นายสมปอง ถ้ำน้อย เจ้าของร้านหมูหัน จ.นครปฐม โต้ข่าวลือเรื่องหมูติดโรคเอดส์ ว่าถ้าเป็นเรื่องจริงป่านนี้ชาวนครปฐมคงตายยกจังหวัดไปแล้ว พร้อมเตือนอย่าหลงเชื่อข่าวลือทางสังคมออนไลน์ |
ลือป่วนในเน็ต-ไลน์ โรคเอดส์หมู ระบาด ห้ามกินนาน 6 เดือน เป็ดไก่ก็ด้วย สธ.-ปศุสัตว์ยัน ไม่จริง ยังกินได้เหมือนเดิม ตรวจฟาร์ม-เขียงหมู ไม่พบการระบาด-สารเคมีตกค้าง ระบุเป็นข่าวเก่าที่ลือมานาน สั่งจนท.เฝ้าติดตามคุมเข้ม ด้านนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรชี้กระทบภาพรวม ทำยอดขายลดฮวบ
จากกรณีในสังคมออนไลน์มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคในหมู ระบุว่า "ช่วงนี้ให้งดกินหมูไก่เป็ด สัก 6 เดือน เพราะฟาร์มที่นครปฐม หมูขนร่วงและเป็นแผลพุพอง เป็นโรคเอดส์หมูไก่เป็ดตายวันละนับพันตัว เจ้าของฟาร์มบอกเอง ให้กินกุ้งปลาไปก่อน รวมทั้งลูกชิ้น ไส้กรอก ฮอตดอก ควรงดด้วย เพื่อนส่งข่าวมาบอก ข่าวด่วน..ซีพีปิดข่าวหมูไก่ติดเชื้อตัวใหม่ ห้ามกิน 6 เดือน ติดเชื้อตายใน 9 วัน พนักงานซีพีตายไปแล้ว 7 คน ระวังติดเอดส์ไม่รู้ตัว ฝากแชร์ต่อๆ กันด้วย" ผลที่ตามมาทำให้ประชาชนวิตกและหวาดกลัว จนชาวบ้านบางส่วนไม่กล้าซื้อเนื้อหมูมารับประทาน
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีมีการส่งต่อข้อมูลทางไลน์พบหมูติดเชื้อและไม่สามารถนำมารับประทานได้นั้น ยืนยันไม่เป็นความจริง ซึ่งโรคที่เกิดในหมูพบได้บ่อยคือ เชื้อสเตรฟโตค็อกคัส ซูอิส หรือโรคไข้หูดับ โดยพบบ่อยในแถบภาคเหนือ ซึ่งเกิดจากการกินลาบ ลู่ ที่เป็นเนื้อหมูและเลือดปรุงไม่สุก ซึ่งปีที่ผ่านมาพบการเกิดโรค แต่ไม่ระบาดมากแต่อย่างใด เนื่องจากประชาชนรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้น ส่วนโรคที่พบในหมูได้อีก ที่ผ่านมาจะพบโรคไข้หวัดนก ที่ติดต่อไปสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ แต่ก็ไม่ติดต่อถึงคนกิน โดยมักติดต่อในฟาร์ม ในกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์เท่านั้น โดยกรมควบคุมโรคและกรมปศุสัตว์ได้ติดตามสถานการณ์ระบาดของโรคทั้งในคนและสัตว์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่พบสถานการณ์โรคที่ผิดปกติแต่อย่างใด
ขณะที่ นายสัตวแพทย์ธนิตย์ เอนกวิทย์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบไปยังปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม และจ.ราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ถูกพาดพิง ผลปรากฏไม่พบการป่วยตายของหมู ไก่และเป็ดในฟาร์มที่อยู่ทั้ง 2 จังหวัด เนื่องจากที่ผ่านมากรมปศุสัตว์มีมาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่อในสัตว์ ทั้งหมูและสัตว์ปีกอย่างเข้มงวด อีกทั้งฟาร์มส่วนใหญ่จะมีมาตรฐานที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรอง และตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น จึงขอให้ ผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อข่าวลือดังกล่าว พร้อมให้เชื่อมั่นและไว้ใจในมาตรการของกรมปศุสัตว์ในการควบคุมกำกับดูแลฟาร์ม เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ ทั้งหมูและสัตว์ปีกที่ปราศจากโรคติดต่อ ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
นายสัตวแพทย์ธนิตย์ กล่าวอีกว่า หากเกษตรกรรายใดพบสัตว์เลี้ยงของท่านมีอาการผิดปกติ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ใกล้บ้าน เพื่อจะได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีต่อไป
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นข้อความเก่าที่ส่งต่อกันในสังคมออนไลน์ตั้งแต่ปี 2551 ขณะเดียวกันจากการรายงานของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมในพื้นที่จ.นครปฐม ที่ถูกพาดพิงในข้อความและจังหวัดต่างๆ พบว่าโรงฆ่าสุกรทั้งหมด 700 กว่าแห่งทั่วประเทศยังคงดำเนินการอยู่บนมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัยตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยมีพนักงานตรวจสอบโรคสัตว์ทั้งก่อนและหลังการฆ่าหมู
ด้านนางวรรณี สันตมนัส ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม กล่าวชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า ข่าวลือโรคระบาดในหมูเป็นเรื่องเดิมๆ ที่ไม่เป็นความจริงและเป็นข่าวเก่าที่ปล่อยมา ทำให้ประชาชนตกใจกลัวเท่านั้น สำหรับ จ.นครปฐม ถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หมูรายใหญ่ของประเทศ โดยฟาร์มเลี้ยงหมูของจังหวัดเป็นรายใหญ่ และเลี้ยงอย่างมีระบบทุกฟาร์ม อีกทั้งมีสัตวแพทย์คอยดูแลควบคุมอยู่ เช่นเดียวกับโรงฆ่าสัตว์ทุกแห่งก็ต้องเข้าระบบตรวจสอบจากกรมปศุสัตว์ ด้วยการสุ่มตัวอย่างเนื้อที่ผลิตจากโรงฆ่าสัตว์ พร้อมเก็บชิ้นเนื้อจากเขียง เพื่อส่งตรวจทุกเดือน ผลคือยัง ไม่เจอสารตกค้างที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งสารเร่งเนื้อแดง ยาฆ่าแมลงหรือแม้กระทั่งเชื้อโรค ขณะนี้ทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย
นางวรรณี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จ.นครปฐม ยังมีโครงการเขียงสะอาด ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการผลิตปศุสัตว์สะอาดของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม เป็นการควบคุมความสะอาดของเนื้อสัตว์ที่ได้มาตรฐานเข้ามาใช้กับโรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูป ตลอดจนขั้นตอนการขนส่งไปจนถึงความสะอาดบนเขียง แผงขายสินค้าของพ่อค้าแม่ค้า จึงมั่นใจว่าประชาชนได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่สะอาด เพราะเป็นการทำแบบครบวงจร
นางวรรณี กล่าวต่อว่า สำหรับช่วงนี้อากาศจะเย็นลง ซึ่งไม่กระทบกับสัตว์ใหญ่ประเภทหมู แต่สัตว์เล็กประเภทสัตว์ปีกหรือเป็ดไก่ กรมปศุสัตว์มีมาตรการเฝ้าระวังไข้หวัดนก โดยให้ทุกจังหวัดใช้เครือข่ายที่มีอยู่ในพื้นที่ ทั้ง อสม. อาสาสมัครเกษตร อาสาสมัครปศุสัตว์ เป็นผู้เฝ้าระวัง ถ้าพบสัตว์ปีกที่ป่วยตายผิดปกติให้แจ้งเข้ามา เพื่อออกไปตรวจสอบและเก็บตัวอย่างส่งตรวจ หากเป็นโรคเกี่ยวกับไข้หวัดนกจะมีการประกาศและควบคุม แต่ขณะนี้ยังไม่พบเหตุการณ์เกี่ยวกับสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ
รายงานข่าวจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า จากข่าวลือที่เกิดขึ้นในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้เกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นการสร้างเรื่องขึ้นมาจากผู้ไม่ประสงค์ดี เพราะหากเรื่องนี้เป็นจริงไม่มีใครปิดข่าวได้ ความจริงปิดได้ที่ไหน ซึ่งเรื่องนี้มีการยืนยันจากสมาคม ผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้เลี้ยง ไก่พันธุ์ สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ที่เคยออกมาแถลงข่าวร่วมกันถึงความปลอดภัยแล้ว
วันเดียวกัน นายสัตวแพทย์ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย กล่าวว่า จากการตรวจสอบในพื้นที่ถูกพาดพิงไม่พบการเกิดโรคร้ายแรงใดๆ จึงขอย้ำว่ากระบวนการผลิตเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งหมูและสัตว์ปีกของไทยมีความปลอดภัยสามารถบริโภคได้อย่างมั่นใจ โดยแนะนำผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน และเครื่องหมายการค้าสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้
"ขอให้ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อข่าวลือ และขอให้เชื่อมั่นในมาตรการของกรมปศุสัตว์ในการควบคุมกำกับดูแลฟาร์ม เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ ทั้งหมูและสัตว์ปีกที่ปราศจากโรคติดต่อ ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ" นายสัตวแพทย์ปราโมทย์กล่าว
นายประพันธ์ ตั้งจารุวัฒนชัย นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร จ.นครปฐม กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีการลือในสังคมออนไลน์ตั้งแต่ ช่วงเดือนส.ค.2557 ซึ่งไม่เป็นความจริงและ ไม่ทราบว่าผู้ตั้งกระทู้มีวัตถุประสงค์อย่างไร กระทั่งมาเกิดกระแสสือสะพัดขึ้นอีก สร้างความเสียหายในภาคธุรกิจค้าหมูอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันราคาหมูหน้าฟาร์มก็ตกต่ำย่ำแย่อยู่แล้ว เหลือก.ก.ละ 60 บาท ขณะที่ราคาต้นทุนเลี้ยงตกตัวละ 6,000 บาท แล้วเมื่อมาเจอข่าวลือลักษณะนี้อีก ทำให้หลายฝ่าย เริ่มประสบภาวะขาดทุน เพราะประชาชนบางส่วนไม่กล้าซื้อหมูมารับประทาน
ขณะที่นายสมปอง ถ้ำน้อย ผู้ค้าหมูหันชื่อดัง กล่าวว่า ข่าวลือดังกล่าวไม่เป็นความจริง ถ้าหมูในจ.นครปฐม ล้มป่วยหรือเป็นโรค ชาวนครปฐมคงเสียชีวิตยกจังหวัดไปแล้ว โดยเฉพาะคนย่างหมูหัน ดังนั้นไม่ควรหลงเชื่อข่าวลือในสังคมออนไลน์