- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Saturday, 18 November 2023 16:15
- Hits: 2131
แพทย์เผยโรคไข้หวัดใหญ่ในไทยป่วยได้ตลอดปีนี้อาจทะลุล้านราย ย้ำผู้สูงอายุเป็นกลุ่ม ‘เสี่ยงตาย’ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย แนะควรฉีดวัคซีนป้องกันก่อนที่จะสายเกินไป
ปีพ.ศ. 2566 มีรายงานคนไทยป่วยโรคไข้หวัดใหญ่กว่า 3 แสนราย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเชื่อยอดป่วยจริงอาจทะลุหลักล้านราย เพราะติดเชื้อได้ตลอดปี ป่วยแล้วป่วยซ้ำได้ในปีเดียวกันหากไม่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เผยผู้สูงอายุเสี่ยงเป็นโรคแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะเป็นกลุ่มเปราะบางและมีโรคประจำตัวร่วมด้วย แนะรัฐเพิ่มจำนวนวัคซีนฟรีให้ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และขยายกลุ่มเด็กโตให้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นเพราะมีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดใหญ่แล้วแพร่เชื้อสูง ย้ำวัคซีนคุ้มค่า คุ้มทุน และเป็นที่ยอมรับมากว่า 80 ปีแล้ว
รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่า “ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มีการระบาดเป็นประจำทุกปี แต่จากช่วง 2-3 ปีที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้โรคไข้หวัดใหญ่หลบไปและห่างเหินชั่วคราว นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้และมีมาตรการป้องกันโควิด-19 จนในปีพ.ศ. 2566 จึงเห็นชัดเจนว่าประชาชนมีการป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จำนวนมาก จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งแต่มกราคม-ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วยกว่า 3 แสนราย ซึ่งในจำนวนนี้เสียชีวิต 21 ราย แต่ในความเป็นจริงจำนวนผู้ป่วยอาจจะมากกว่านี้ เนื่องจากผู้ที่มีอาการน้อยไม่ได้เข้ารับการรักษาหรือรักษาที่คลินิกก็ไม่ได้รับการรายงาน จึงเชื่อว่าในปีนี้น่าจะมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่อาจถึงหลักล้านคนได้
จากข้อมูลโรคไข้หวัดใหญ่ย้อนหลังของประเทศไทย จะมีความแตกต่างจากประเทศในซีกโลกเหนือ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่จะมีโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดเฉพาะช่วงฤดูหนาว เมื่อฤดูร้อนโรคจะหายไปหมด แต่สำหรับประเทศไทยอยู่ตรงเส้นศูนย์สูตร จึงพบโรคไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นในช่วงฤดูฝน เพราะมีความชื้นสูง ฝนตกคนรวมกลุ่ม นักเรียนเปิดเทอม ทำให้โรคไข้หวัดใหญ่มีการระบาดและเด็กนักเรียนจะนำเอาเชื้อไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ครอบครัวและผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งกลุ่มเด็กเป็น ‘กลุ่มเสี่ยงเป็น’ และมักจะรุนแรงในกลุ่มเด็กเล็ก ขณะที่ผู้สูงอายุเมื่อป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่อาจจะมีอาการรุนแรงมาก เรียกว่าเป็น ‘กลุ่มเสี่ยงตาย’ ส่วนคนหนุ่มสาวก็ป่วยได้แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรุนแรง จะเห็นได้ว่าโรคไข้หวัดใหญ่เป็นได้ทุกกลุ่มอายุ และโรคนี้จะคงอยู่กับเราตลอดไป วัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงมีประโยชน์สำหรับคนทุกวัย”
รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวด้วยว่า การศึกษาในประเทศไทยกรณีการเข้ารับการรักษาด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ พบว่า มีการสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม การศึกษาพบว่าภาระโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยมีการจ่ายค่ารักษาทั้งสิ้น ปีละประมาณ 1,100 ล้านบาท และมีการสูญเสียค่าใช้จ่ายทางอ้อมอีก 1,300 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นสูญเสียทางเศรษฐกิจ เป็นเงินจำนวน 2,400 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ทางการแพทย์มีการศึกษาวิจัยถึงวิธีการป้องกันควบคุมโรคที่มีความคุ้มค่า คุ้มทุนมากที่สุด คือ ‘วัคซีน’ และภาครัฐบาลได้นำวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาให้บริการฟรีกับกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยแล้วจะมีความรุนแรง เช่น เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคอ้วน หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ
สำหรับประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) ควรจะมีนโยบายจัดการหรือแนวทางในการป้องกันช่วยลดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ และเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น สะดวกขึ้น อาทิ ช่องทาง Drive-Thru เช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกาหรือแถบยุโรปที่มีทีมพยาบาลหรือสหสาขาวิชาชีพก็สามารถให้บริการได้สะดวกมาก โดย รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี มองว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีการยอมรับในภาคประชาสังคมของคนไทยมากที่สุด เป็นวัคซีนที่มีการพัฒนาและใช้กันมายาวนานกว่า 50 ปี มีความปลอดภัยสูง นับได้ว่า ‘วัคซีนไข้หวัดใหญ่’ มีความคุ้มค่าและคุ้มทุนอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงตาย ช่วยลดความรุนแรงของอาการเจ็บป่วย โรคแทรกซ้อนรุนแรง การนอนโรงพยาบาล และการสูญเสียชีวิตได้ ซึ่งหากภาครัฐมีการพิจารณาเพิ่มจำนวนวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงป่วยรุนแรงที่มีโอกาสเสียชีวิตได้มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนมากขึ้น รวมถึงพิจารณาขยายกลุ่มฉีดฟรีในกลุ่มเด็กโต ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะนำพาเชื้อไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ครอบครัวและผู้สูงอายุในบ้าน ก็จะช่วยลดภาระทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมได้อย่างมหาศาล
ขณะที่ ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่าผู้สูงอายุมักเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงจาก 3 ปัจจัยหลักๆ ซึ่งประการแรกสำคัญที่สุด ก็คือ 1) ภาวะภูมิคุ้มกันถดถอยหรือภูมิคุ้มกันที่ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้เหมือนช่วงหนุ่มสาว ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย รวมถึงถ้าติดเชื้อแล้วจะมีความรุนแรงได้ 2) ผู้สูงอายุมักจะมีโรคร่วม เช่น ผู้สูงอายุบางรายอาจมีโรคปอดถุงลมโป่งพอง พอป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ก็จะทำให้หอบเหนื่อยหรือมีเชื้อลงปอดและมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ หรือบางรายอาจเป็นโรคหัวใจอยู่เดิม พอป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่อาจส่งผลให้โรคหัวใจแย่ลงตามไปด้วย หรือหากป่วยเป็นโรคเบาหวาน ก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ดี เพราะเซลล์ที่จะไปจับกินเชื้อโรคก็จะทำงานได้ไม่ดี ซึ่งล้วนก่อให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนเนื่องจากมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย และ 3) ผู้สูงอายุยังมีภาวะทุพโภชนาการ คือ กินได้น้อยลง กินได้ไม่ครบ 5 หมู่ ก็จะส่งผลให้เกิดโรคได้ง่าย รวมถึงเป็นโรคที่รุนแรงได้ง่าย
ปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ ‘ผู้สูงอายุ’ ควรต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดความรุนแรงของโรค ลดการเกิดปอดอักเสบจากการที่เชื้อไวรัสลงปอด ลดการเจ็บป่วยที่จะต้องนอนโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิต เนื่องจากการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อในชีวิตประจำวัน เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ และการอยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อ จะไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา หรือปฏิบัติแล้วก็ยังมีโอกาสป่วยได้เช่นกัน
ทั้งนี้ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้มีคำแนะนำว่า จริงๆ แล้ว ทุกคนควรจะได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2 ประเภท ได้แก่
1. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน (standard dose) มีปริมาณแอนติเจน 15 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ต่อโดส สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ
2. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง (high dose) มีปริมาณแอนติเจน 60 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ต่อโดส เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้มากกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน ประมาณร้อยละ 24 และยังลดการนอนโรงพยาบาลจากโรคไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบได้สูงกว่าขนาดมาตรฐาน รวมถึงลดการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้สูงกว่าขนาดมาตรฐาน โดยอาจมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดมากกว่าขนาดมาตรฐานเล็กน้อย
รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งสำคัญที่อยากแนะนำในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ ประชาชนไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 1 ปี โดยทุกปีวัคซีนของฤดูกาลใหม่จะเข้ามาในช่วงเมษายน – พฤษภาคม สามารถมาฉีดได้ทันที เพียงให้เว้นระยะห่างจากวัคซีนครั้งก่อนอย่างน้อย 6 เดือน โดยกลุ่มเสี่ยงที่รัฐกำหนดสามารถฉีดฟรีได้ที่หน่วยบริการพยาบาลภาครัฐ หรือสอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 สำหรับผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสามารถฉีดได้ที่หน่วยบริการภาครัฐและเอกชน โดยที่จะต้องดูแลค่าใช้จ่ายเอง”
11727