- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Monday, 22 August 2022 23:16
- Hits: 5379
เครือข่ายเพื่อการจัดการภัยพิบัติ ร่วมกับ สสส. และชุมชนเทศบาลตำบลเวียงสา รุดหน้านำนวัตกรรม ‘เกมจำลองสถานการณ์’ พัฒนาศักยภาพการรับมืออุทกภัย นำเทคโนโลยี สร้างจินตนาการ สู่ภาพจำเตรียมพร้อมกู้ภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง
การเกิดภัยพิบัติในปัจจุบันมีสาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย และส่งผลกระทบที่มีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะอุทกภัยซึ่งมีทั้งมวลน้ำทางธรรมชาติ และปริมาณน้ำฝนที่มาสมทบ การวางแผนรับมือจัดการอุกทกภัย จึงต้องมีการศึกษาถึง “พฤติกรรมของน้ำและชุมชน” เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพการจัดการภัยพิบัติ และออกแบบนวัตกรรมการกู้ภัยจากอุกทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ
นายพงศ์นรินทร์ สุทธารักษ์ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลเวียงสา เล่าถึงสถานการณ์ความเสี่ยงภัยของพื้นที่ในปี 2563 ที่ผ่านมา ในเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมพร้อมป้องกันภัยพิบัติน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยง ด้วยเกมจำลองสถานการณ์ ณ หอประชุมเทศบาลตำบลเวียงสา อ.เวียงสา จ.น่าน ว่า “น่าน เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่สำคัญของภาคเหนือ มีลำน้ำน่าน ลำน้ำสา และยังมีลำน้ำสาขาอีกมากมายที่ไหลผ่านจังหวัดน่าน ในอดีตช่วงวิกฤตการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 จ.น่านก็ประสบภัยน้ำท่วมอย่างมาก แต่หลังจากนั้น ชุมชนและชาวบ้านก็สามารถวางแผนรับมือได้สำเร็จ จากการรวมตัวและร่วมวางแผนกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เราคิดค้นและนำนวัตกรรมคั่นกั้นน้ำแบบแบริเออร์มาป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ได้สำเร็จ กระทั่งผ่านมาเกือบ 10 ปี ในปี 2563 อ.เวียงสา มีฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืน ปริมาณน้ำฝนอยู่ที่กว่า 260 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าหนักมาก ประกอบกับลำน้ำในพื้นที่มีปริมาณมากทั้งลำน้ำน่าน และลำน้ำสามาสมทบ จึงทำให้เกิดอุกทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี ส่งผลให้ อ.เวียงสา จ.น่าน เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง เทศบาลตำบลเวียงสา และเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติ ชุมชนบ้านกลางเวียง จ.น่าน จึงเห็นว่าเราควรต้องมีการถอดบทเรียน ขจัดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชม โดยมีการประสานนำเทคโนโลยีที่ทางเครือข่ายนักวิชาการมาปรับใช้ร่วมกัน”
และนั่นเองคือที่มาของแนวคิดการพัฒนา ‘เกมจำลองสถานการณ์’ เพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงภัยในรูปแบบต่างๆ จากนั้นจึงออกแบบเป็นผลลัพธ์ของแผนการช่วยเหลือกู้ภัยจากสถานการณ์อุทกภัยในเกมนั้น โดยองค์ประกอบของเกมจะถูกพัฒนาขึ้นจากการศึกษา “พฤติกรรมของน้ำและชุมชน”
ผศ.ดร. ชัยณรงค์ เกศามูล รอง ผอ. สาขาสถิติประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ออกแบบนวัตกรรมเกมจำลองสถานการณ์กู้ภัย กล่าวว่า “เกมจำลองสถานการณ์ เกิดขึ้นจากตรรกะจริงของพฤติกรรมน้ำ เหตุการณ์ และสภาพแวดล้อมของชุมชม กลุ่มประชากร มีกลุ่มเปราะบางแค่ไหน อย่างไร จากนั้นเราก็นำเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มาออกแบบให้เป็นรูปแบบเกม สร้างจินตนาการให้เกิดภาพสมมุติขึ้น คล้ายๆ รูปแบบละคร หรือ ลิเก เพื่อเป็นการซักซ้อมว่า ถ้าอุทกภัยมาแบบนี้ เราจะจัดการอย่างไร ทำซ้ำๆ ให้เกิดการเรียนรู้ เมื่อก่อนองค์กรปกครองท้องถิ่น อาจจะต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการฝึกซ้อมรับมือภัยพิบัติ แต่หากเราได้เรียนรู้การวางแผนจัดการภัยด้วย ‘เกมจำลองสถานการณ์’ นี้ ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา และได้ทดลองใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ในการจัดการภัยพิบัติในอนาคตที่มีความซับซ้อนมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ‘เกมจำลองสถานการณ์’ ไม่ใช่เครื่องรางของขลังที่จะทำให้ชุมชนอยู่รอดปลอดภัยจากภัยพิบัติ แต่หากเป็นเครื่องมือทางเทคโนโลยี ที่จะไปพัฒนาศักยภาพการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะถ้าเราทดลองเล่น ออกแบบเหตุการณ์การเกิดภัยและวางแผนการรับมือภัยอย่างเป็นระบบในรูปแบบต่างๆ ภาพจำจากการทดลองซักซ้อมด้วยการเล่นเกมเหล่านั้นก็จะเชื่อมโยงมาสู่สภาพความเป็นจริงเมื่อเราต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ได้ ทั้งนี้ด้วยระบบการออกแบบเกมจำลองสถานการณ์ ยังสามารถนำไปออกแบบ และปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆ และภัยพิบัติต่างๆ ได้อีกด้วย โดยในอนาคตเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติ ร่วมกับ ผู้ออกแบบ ‘เกมจำลองสถานการณ์’ จะมีการพัฒนานวัตกรรมนี้ให้เป็นเกมเต็มรูปแบบ โดยประสานหาแหล่งทุนด้านแอปพลิเคชันเกม เพื่อพัฒนาให้เข้าถึงทุกชุมชนต่อไป
A8841