- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Tuesday, 31 May 2022 23:48
- Hits: 3792
บพข. ร่วมผนึกกำลังบูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างระบบความปลอดภัยทางถนน
มุ่งเป้าลดการตายจากอุบัติเหตุลง 50% ในปี 73
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชญน์ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) พร้อมพยานร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จับมือองค์กรพันธมิตรร่วมกันแก้ปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างระบบความปลอดภัยทางถนน ตั้งเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลง 50% ภายในปี พ.ศ. 2573 และไม่เกิน 12 คนต่อประชากร 100,000 คน ภายในปี 2570
อุบัติเหตุทางท้องถนนเป็นประเด็นสำคัญในระดับโลก และเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย อุบัติเหตุทางท้องถนนในประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และมีผลกระทบทั้งทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ ด้านความปลอดภัย เศรษฐกิจ และสังคม ประเทศไทยมีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก โดยช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังมีการเดินทางเป็นจำนวนมาก มีจำนวนผู้เสียชีวิต 22,491 คน คิดเป็น 31 คน ต่อประชากร 100,000 คน เป็นอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับ 9 ของโลก จากสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนในปี 2560-2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 20,480 คน โดยอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ในแต่ละวันมีจำนวนเฉลี่ยเกือบ 600 รายต่อวัน การเสียชีวิตจากความเร็วมีแนวโน้มสูงขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลต่างๆ สูงขึ้นกว่าในช่วงไม่ใช่เทศกาลถึง 25% ที่สำคัญประชากรในวัยทำงานที่มีอายุอยู่ในช่วง 15-19 ปี และในช่วง 20-40 ปี ซึ่งเป็นกำลังสำคัญชาติเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ หรือมีจำนวนทั้งการบาดเจ็บ การเสียชีวิต เป็นจำนวนมาก แม้ในช่วงที่ผ่านมา จากการดำเนินงานต่างๆ ที่ดีขึ้น และจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีการเดินทางที่ลดลง ส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงเรื่อยๆ โดยตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 25 คน ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน แต่ก็ยังสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ที่ต้องการให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตไม่เกิน 12 คน ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน
ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการผนึกกำลังร่วมกันระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการลดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งเรื่องการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายความร่วมมือบูรณาการทำงานในพื้นที่ และผลักดันเพื่อสร้างสังคมแห่งการเดินทางที่ปลอดภัยการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์การส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างทักษะการขับขี่ที่ปลอดภัยรวมถึงเทคโนโลยีการบังคับใช้กฎหมายการวิจัยเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย และกฎหมายเพื่อความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย การวิจัยเพื่อยกระดับความปลอดภัยด้านการเดินทางท่องเที่ยวสร้างสภาพแวดล้อมการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย เป็นต้น โดยได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงานดังกล่าวภายในงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 65 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการเปิดงาน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “บทบาทผู้นำประเทศ”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “บทบาทผู้นำประเทศ” ว่า “รัฐบาลมุ่งเน้นนำแนวคิดวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย มาประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนฐานคิดของคนทำงาน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลไก ศปถ.ทุกระดับ โดยทุกฝ่ายต้องมุ่งเน้น การสร้างระบบแห่งความปลอดภัย เพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ทั้งด้านกายภาพ ด้านสังคม ด้านกฎหมาย และการบังคับใช้ และรัฐบาลจะผลักดันให้มีการกำกับติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง โดยนำเสนอสถานการณ์ ความก้าวหน้าการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกไตรมาส พร้อมสรุปผลการดำเนินงานเสนอสภา และสาธารณะทราบทุกปี เพื่อให้การดำเนินงานขับเคลื่อนสร้างความปลอดภัยทางถนนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายการวิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน” ว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สั่งการมอบนโยบายให้กับหน่วยงานในกระทรวง โดยเฉพาะ สกสว. วช. และ บพข. ให้สนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มกำลังความสามารถ มีการกำหนดให้เรื่องของความปลอดภัยทางท้องถนนเป็นประเด็นสำคัญในแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศในปี 2566-2570 กระทรวงจะจัดสรรงบประมาณการวิจัย รวมถึงสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อพัฒนาทั้งนโยบาย ต้นแบบ และการจัดการเพื่อให้สังคมไทยมีความปลอดภัย ความปลอดภัยในชีวิต ในทรัพย์สิน รวมทั้งสวัสดิการสาธารณะในการดำรงชีวิต ด้วยการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม”
ในโอกาสนี้ รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชญน์ รองผู้อำนวยการ บพข. ในฐานะตัวแทนผู้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ได้กล่าวว่า “บพข. เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ที่กระทรวง อว. ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการทำงานด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยเฉพาะ ที่ผ่านมา บพข. ได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ ของประเทศหลายโครงการ เช่น โครงสร้างพื้นบานด้านการแพทย์ การผลิตอาหารมูลค่าสูง การสร้างระบบตรวจสอบรับรอง และดิจิทัลแพล็ตฟอร์มต่างๆ เพื่อผลักดันให้สามารถนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ การสร้างความปลอดภัยทางท้องถนนถือเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ และจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งข้อมูลทางวิชาการ องค์ความรู้การวิจัยที่ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม สถาปัตยกรรม วิธีการทางด้านการแพทย์ ตลอดจนมาตรการทางด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วย เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดความปลอดภัยทางท้องถนนอย่างเป็นรูปธรรม บพข. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือกับองค์กรภาคี และพร้อมที่จะสนับสนุนดำเนินงานด้านต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความปลอดภัยทางถนน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวของประเทศ ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น”
ทั้งนี้ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ได้เผยว่า “ในงานทำงานร่วมกันครั้งนี้ บพข. ได้เข้ามามีบทบาทด้านการส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ ผลงานวิจัย พัฒนาระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ เพื่อการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนน นอกจากนี้ บพข. ยังมีการส่งเสริมและสนับสนุนด้านองค์ความรู้ด้านเทคนิควิชาการในการพัฒนาระบบที่ปลอดภัย เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างนวัตกรรมทางเลือกในการเดินทางสาธารณะที่ปลอดภัย และการพัฒนาแพลตฟอร์มทางนวัตกรรมในภาคการผลิตและภาคบริการ เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ พร้อมกับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศของภาคการผลิตและภาคบริการ โดยรวบรวมองค์ความรู้ ภาคีเครือข่าย เสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยสำหรับหน่วยงานภาคเอกชน ท้องถิ่น ชุมชน ผลักดันให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัยทางถนน นำไปสู่การลดการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนตามเป้าหมาย”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถ่ายภาพร่วมกับพยานและผู้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน
ความร่วมมือทางการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมด้านความปลอดภัย จะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่เพื่อเป็นแนวทางการสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่การลดความสูญเสียที่ป้องกันได้ตามแนวทางสากลที่เน้นวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย การสัญจรที่ยั่งยืนและเท่าเทียม และการเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องให้กับบุคลากรด้านความปลอดภัยทางถนนให้สามารถดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ความร่วมมือในการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาความปลอดภัยทางถนนระหว่าง 5 หน่วยงานภาคีนี้ มีความมุ่งมั่นในการร่วมกันทำงานแบบบูรณาการ ด้านงานวิจัยและการพัฒนาที่เป็นอิสระการสร้างความรู้และการผลักดันไปสู่การใช้ประโยชน์ภายใต้โครงการความปลอดภัยทางถนน ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 ตามทิศทางยุทธศาสตร์ชาติ ให้บรรลุเป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาที่ท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลก
(จากซ้าย) 1) ผศ.ดร.เกศรา สุกเพชร ผู้ประสานงาน สำนักประสานงานการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. 2) รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชญน์ รองผู้อำนวยการ บพข. 3) รศ.ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ รองผู้อำนวยการ สกสว. 4) นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) 5) ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) 6) รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. 7) ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. 8) รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สกสว. ปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการ สำนักกลยุทธ์และพัฒนากองทุน 9) ดร.ลัษมณ อรรถาพิช ผู้อำนวยการหน่วยข้อมูลและสำนักงานผู้อำนวยกาน สกสว. 10) ดร.ฉัตรฉวี คงดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการหน่วยข้อมูลและสำนักงานผู้อำนวยการ สกสว.
A51064