- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Friday, 27 May 2022 08:10
- Hits: 3912
'รพ.ไทยนครินทร์' เปิดตัว Recovery Care Clinic ฟื้นฟูสุขภาพหลังป่วย รองรับผู้ป่วย Long COVID ทุกวัย ครอบคลุมทุกกลุ่มอาการ
โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ระดมทีมแพทย์เฉพาะทางหลากหลายสาขาและแพทย์ทางเลือก (แพทย์จีน) รองรับผู้ป่วยลองโควิด (Long COVID) ตอบโจทย์การรักษาทุกกลุ่มอาการด้วยการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างตรงจุด พร้อมเดินหน้าเปิด ‘Recovery Care Clinic : คลินิกฟื้นฟูสุขภาพหลังป่วย’ ภายใต้แนวคิด ‘Realize & Personalized’ เข้าใจทุกอาการและวางแผนฟื้นฟูเฉพาะบุคคล ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
โรงพยาบาลไทยนครินทร์ เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและภาคตะวันออก มาตลอดระยะเวลา 29 ปี โดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โรงพยาบาลฯ ได้รองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการภาวะ Long COVID ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โรงพยาบาลฯ จึงเปิดตัว ‘Recovery Care Clinic : คลินิกฟื้นฟูสุขภาพหลังป่วย’ โดยระดมทีมแพทย์เฉพาะทางหลากหลายสาขาและแพทย์ทางเลือกคือ แพทย์แผนจีน เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วย Long COVID อย่างครอบคลุมทุกกลุ่มอาการ มีการวางแผนการรักษาและฟื้นฟูเฉพาะบุคคล จึงทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ
▪️ ชูจุดแข็งมีแพทย์เฉพาะทางกว่า 95%
พล.ร.ต.นพ. สุรเชษฐ์ สู่พานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวถึงจุดแข็งการให้บริการของโรงพยาบาลไทยนครินทร์ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโรงพยาบาลฯ มีการพัฒนางานบริการอย่างต่อเนื่อง โดยมีทีมแพทย์เฉพาะทางหลากหลายสาขาที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพ อีกทั้งจุดต่างด้านบริการที่สำคัญของโรงพยาบาลฯ คือการมีแพทย์ทางเลือก เช่น คลินิกแพทย์แผนจีน เป็นต้น ซึ่งมีแพทย์เฉพาะทางด้านการรักษาแผนจีนที่ได้รับการอบรมความรู้เรื่องตำรับยาจีนที่คณะกรรมการสาธารณสุขและสุขภาพแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน (National Health Commission of the people’s Republic of China) โดยได้รับการตอบรับที่ดีต่อเนื่องในการรักษาโรคโควิด-19
ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลฯ มีการขยายบริการต่างๆ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เช่น การร่วมมือกับพันธมิตรในการเปิด Hospitel, Hotel Isolation ,จุดบริการตรวจ RT-PCR เป็นต้น โดยล่าสุดมีการเปิด ‘Recovery Care Clinic : คลินิกฟื้นฟูสุขภาพหลังป่วย’ เพื่อดูแลผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 แต่ยังมีภาวะแทรกซ้อน หรือ ภาวะ Long COVID โดยมีทีมสหสาขาวิชาชีพมี (Multidisciplinary Team) หรือทีมแพทย์เฉพาะทางที่หลากหลายร่วมวินิจฉัยรักษาและฟื้นฟู เช่น แพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อในผู้ใหญ่และเด็ก, แพทย์ประจำศูนย์หัวใจ, แพทย์สาขาประสาทวิทยา และแพทย์แผนจีน เป็นต้น
ทั้งนี้ มั่นใจได้ว่า Recovery Care Clinic ของโรงพยาบาลฯ เป็นพื้นที่ปลอดเชื้อโควิด-19 (Safety Zone) เนื่องจากผู้เข้ารับบริการเป็นผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 แล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าผู้เข้ารับการรักษาจะเป็นผู้แพร่เชื้อ โดยผู้ป่วยจะได้รับการตรวจคัดกรองเบื้องต้นจากแพทย์อายุรกรรมทั่วไปและแพทย์อายุรกรรมเด็กว่ามีภาวะ Long COVID หรือเป็นโรคแทรกซ้อนทั่วไป หลังจากนั้นจึงส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางเพื่อรักษา ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลฯ มีแพทย์เฉพาะทาง 95% ของจำนวนแพทย์ทั้งหมด นอกจากเน้นย้ำเรื่องการรักษาที่ตรงจุดยังคงให้ความสำคัญเรื่องการฟื้นฟูสุขภาพหลังป่วยแบบเฉพาะบุคคล โดยมีศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู, คลินิกแพทย์แผนจีนและศูนย์ส่งเสริมสุขภาพองค์รวมให้บริการ
▪️ ‘Realize & Personalized’ เข้าใจทุกอาการ
ด้าน พญ.วรางคณา อิ่มฤทัยเจริญโชค อายุรแพทย์ประจำแผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าอาการป่วย Long COVID สามารถเกิดขึ้นได้นาน 6 เดือน ถึง 2 ปี ทำให้ผู้ป่วยต้องเผชิญปัญหาสุขภาพเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยแนวทางการรักษาเริ่มต้นจากการตรวจคัดกรองว่าผู้ป่วยมาด้วยภาวะ Long COVID หรือไม่ หลังจากนั้นแพทย์อายุรกรรมจะส่งต่อไปที่แพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรักษาตามอาการที่พบ
สำหรับ กลุ่มอาการ Long COVID ที่พบมากที่สุดได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น เหนื่อยง่าย ทำให้ไม่สามารถกลับไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามยังมีอาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับปอดได้เช่นกัน เช่น เวียนศีรษะ, ปวดศีรษะเรื้อรัง, ใจสั่น, นอนไม่หลับ, สมาธิสั้น, ผื่นลมพิษ, ตับอักเสบ, ผมร่วงและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อและการรักษาโรคโควิด-19 เช่น เบาหวาน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ่มเลือดอุดตันตามอวัยวะต่างๆ เป็นต้น
พญ.กฤติญา ชัยโชติจินดา กุมารแพทย์สาขาโรคติดเชื้อในเด็ก โรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างมิสซี (MIS-C) และLong COVID ที่พบในเด็กว่ามีความแตกต่างกัน โดยภาวะ MIS-C เป็นการอักเสบของร่างกายในหลายๆ ระบบซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมักเกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อไปแล้ว 2-6 สัปดาห์ ส่วนภาวะLong COVID มักเป็น อาการต่างๆ ที่หลงเหลือตามหลังการติดเชื้อหรือเป็นอาการที่เกิดขึ้นใหม่ก็ได้ ภายหลังการติดเชื้อไปแล้ว 4 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม MIS-C พบได้น้อยมากโดยมีอุบัติการณ์อยู่ที่ประมาณ 0.01-0.03% ส่วนภาวะ Long COVID พบประมาณ 25% ซึ่งปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด Long COVID ได้แก่ อายุ เพศหญิง การติดเชื้อโควิดที่รุนแรงและโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน และโรคภูมิแพ้ เป็นต้น
ทั้งนี้ จากสถิติพบว่ากลุ่มอาการ Long COVID ที่พบบ่อยในเด็กนั้น คือกลุ่มอาการทางด้านอารมณ์ เช่น มีอารมณ์เปลี่ยน แปลงง่าย, วิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า, อาการอ่อนเพลียและมีปัญหาด้านการนอนหลับที่ผิดปกติ นอกจากนี้อาการทางระบบอื่นๆ ที่พบได้รองลงมา ได้แก่ 1.อาการทางระบบประสาท เช่น การมีสมาธิลดลง, ประสิทธิภาพการเรียนรู้ลดลง, ปวดศีรษะ 2.อาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ, หายใจไม่สะดวกและคัดจมูก 3.อาการทางระบบหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอกและแน่นหน้าอก 4.อาการทางระบบผิวหนัง เช่น ผื่น, ผมร่วง และ5.สุดท้ายอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง, อาเจียน, ถ่ายเหลว, เบื่ออาหาร, น้ำหนักลดและการรับกลิ่นหรือรสผิดปกติ ซึ่งทำให้เด็กรับประทานอาหารได้น้อยลงและอาจส่งผลต่อภาวะโภชนาการของเด็กได้ ดังนั้น จึงแนะนำให้ผู้ปกครองสังเกตอาการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม หากมีแนวโน้มว่าจะเป็น Long COVID ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการและเข้าสู่กระบวนการรักษา เพราะอาการ Long COVID ในเด็กนั้นไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือเด็กโตอาจส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กได้ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ
พญ.ประวีณา ดิเรกวัฒนชัย อายุรแพทย์สาขาประสาทวิทยา โรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวว่า ภาวะ Long COVID ที่ส่งผลกระทบทางระบบประสาทพบได้มากถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยอาจจะมีอาการทางระบบประสาทอย่างเดียวหรือมีอาการอาการ Long COVID จากระบบอวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วยได้ เช่น ระบบการหายใจ, หัวใจและหลอดเลือด, ระบบต่อมไร้ท่อและระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ภาวะ Long COVID ทางระบบประสาทสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย อาการที่พบได้บ่อยได้แก่ ปวดศีรษะ, อ่อนล้า, นอนไม่หลับ, มึนงง, มีอาการคล้ายสมองเสื่อม, อารมณ์แปรปรวน,ซึมเศร้า, วิตกกังวล, ระบบประสาทอัตโนมัติแปรปรวน, มีปัญหาการได้ยิน, อาการเหน็บชา, การได้กลิ่นผิดปกติ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการเหล่านี้ควรรีบมาตรวจรักษา เนื่องจากอาการทางระบบประสาทเหล่านี้อาจมีโรคหรือสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่ Long COVID ซึ่งโรคทางระบบประสาทอื่นๆ ที่พบอุบัติการณ์ได้มากขึ้นหลังเป็นโรคโควิด-19 เช่น โรคหลอดเลือดสมอง, โรคเส้นประสาท/รากประสาท เป็นต้น ซึ่งจะมีการตรวจวินิจฉัยเฉพาะทางตามอาการของโรคนั้นๆ เช่น MRI, อัลตราซาวนด์หลอดเลือด (Carotid Duplex Ultrasound), Transcranial Doppler Ultrasound, เครื่องตรวจเส้นประสาทโดยการกระตุ้นไฟฟ้า (Nerve conduction study) เป็นต้น
นพ.อุฬาร วงศ์แกล้ว แพทย์ประจำศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวว่า ภาวะ Long COVID ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจที่พบได้แก่มีอาการเหนื่อย หรือแน่นหน้าอก ซึ่งเกิดได้ประมาณ 16% อาจจะเป็นอาการเหนื่อยที่เกิดจาก ความเสียหายของหัวใจจากการติดเชื้อ หรือเป็นอาการเหนื่อยจากการที่คนไข้นอนอยู่บนเตียงนานๆ หรืออาจเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ นอกจากนี้ยังพบอาการหัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ ซึ่งจะพบได้บ่อย เป็นต้น
ดังนั้น หากพบว่าหลังหายป่วยจากโควิด-19 แล้วยังมีอาการดังกล่าวควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการ Long COVID ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เนื่องจากหลังจากหายป่วยแล้วมักมีคำแนะนำให้ออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูร่างกายเบื้องต้น แต่หากมีอาการเหล่านี้อาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจเพราะผู้ป่วยอาจมีภาวะโรคหัวใจซ่อนอยู่ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งจะต้องมีการใช้ยาในการรักษา
จึงต้องหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่จะไปกระตุ้นการทำงานของหัวใจ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนในกรณีที่ตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติของหัวใจ แพทย์จะติดตามอาการ Long COVID ต่อไปทุก 2-4 สัปดาห์
▪️ วางแผนฟื้นฟูเฉพาะบุคคล
พจ.วาสนา จาง แพทย์หัวหน้าคลินิกแพทย์แผนจีน โรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลฯ ได้ส่งแพทย์ของคลินิกแพทย์แผนจีนเข้าอบรมความรู้เรื่องตำรับยาจีนที่ได้รับการรองรับจากคณะกรรมการสาธารณสุขและสุขภาพแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน (National health commission of the people’s republic of China) ดังนั้นตำรับยาที่โรงพยาบาลฯ ให้บริการผู้ป่วยจึงมีมาตรฐาน โดยสูตรตำรับยาจีนของคลินิกฯ มีการจัดทำสูตรเฉพาะให้เหมาะสมกับอาการป่วยของแต่ละบุคคล
พญ.อรกมล อินกองงาม แพทย์หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมสุขภาพองค์รวม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวว่า หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการประเมินสุขภาพจากแพทย์อายุรกรรมแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู โดยเริ่มต้นจากการดูแลเรื่องอาหารและสารอาหาร เนื่องจากผู้ป่วยบางคนเมื่อหายจากโควิด-19 ยังมีอาการรับประทานอาหารไม่ค่อยได้ เนื่องจากการรับกลิ่นรับรสเปลี่ยนไป จึงทำให้ร่างกายขาดสารอาหารบางชนิดโดยไม่รู้ตัว หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย จนไม่สามารถกลับไปออกกำลังกาย หรือทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เป็นต้น
ทั้งนี้ ทีมแพทย์จะประเมินจากไลฟ์สไตล์และแก้ปัญหาไปทีละจุด ทั้งในเรื่องของอาหาร การออกกำลังกาย การนอนและอารมณ์ จากนั้นจึงช่วยเสริมในสิ่งที่ร่างกายขาดหรือบกพร่องไป เช่น กรณีผู้ป่วยที่มีอาการผมร่วง เมื่อรักษากับแพทย์เฉพาะทางแล้วเส้นผมเริ่มขึ้น แต่อาจจะขึ้นช้า แพทย์จะเสริมในเรื่องของวิตามิน หรืออาหารเสริม ที่จะช่วยกระตุ้นให้ผมยาวเร็วขึ้น เป็นต้น
โปรแกรม 'Recovery Care Clinic : คลินิกฟื้นฟูสุขภาพหลังป่วย'
Recovery after COVID-19 โปรแกรมตรวจสุขภาพหลังป่วยโควิด-19 มีทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ โดยผู้ใหญ่สามารถเข้ารับการตรวจได้ที่แผนกอายุรกรรมชั้น G ส่วนเด็กสามารถเข้ารับบริการได้ที่แผนกกุมารเวชชั้น L ซึ่งแพทย์จะประเมินสุขภาพก่อนส่งต่อไปยังทีมแพทย์เฉพาะทางเพื่อรักษา สนใจสอบถามรายละเอียดโปรแกรมตรวจสุขภาพหลังป่วยโควิดได้ที่ www.thainakarin.co.th หรือ โทร.02-340-7777