- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Sunday, 15 May 2022 17:08
- Hits: 2670
สธ. เร่งผลักดันพัฒนาระบบยาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกคณะอนุกรรมการ 7 คณะ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็น และระบบสุขภาพไทยมั่นคงอย่างยั่งยืน
สธ. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 7 คณะ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบยาอย่างต่อเนื่อง และได้ประกาศบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นกว่า 20 รายการ รวมถึงประกาศกำหนดราคากลางยา 155 รายการ ซึ่งช่วยรัฐประหยัดงบได้ถึง 740 ล้านบาท พร้อมจับมือเครือข่ายผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็น ใช้ยาสมเหตุผล ให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยาอย่างยั่งยืน
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ทำหน้าที่ประธานกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ แทน โดยได้เปิดเผยภายหลังการประชุมว่าคณะกรรมการเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 7 คณะ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบยาอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ คณะกรรมการยังเห็นชอบให้ประกาศบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นกว่า 20 รายการ เช่น ปรับปรุงเกณฑ์อนุมัติสั่งใช้ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง (ยารับประทานสูตรผสม Sofosbuvir+ Velpatasvir) เพิ่มรายการยาระงับปวดสำหรับผู้ป่วยวิกฤต COVID-19 และผู้สูงอายุ (ยาฉีด Dexmedtomidine) เป็นต้น และยังเห็นชอบให้ประกาศกำหนดราคากลางยา จำนวน 155 รายการ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 รัฐจะสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 740 ล้านบาท
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังขับเคลื่อนประเทศสู่การใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU country) โดยส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลผ่านสถานพยาบาลเอกชน ส่งผลให้ประชาชนที่มารับบริการในคลินิกและโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับข้อมูลการใช้ยาอย่างถูกต้อง เหมาะสมการขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ ในปีงบประมาณ 2565 อย.ยังได้ร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา พัฒนากลไกเพื่อการเข้าถึงข้อมูลสิทธิบัตรยา โดยการจัดอบรมหลักสูตรให้กับผู้ประกอบการด้านยาในการสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรยา เพื่อให้มีการผลิตยาสามัญทดแทนยาต้นแบบได้รวดเร็วขึ้น
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า การพัฒนาระบบยาจะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกของคณะอนุกรรมการ 7 คณะ ยังต้องอาศัยภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันเร่งผลักดันขับเคลื่อนมาตรการสำคัญ โดยเฉพาะการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็น ใช้ยาสมเหตุผล และประเทศมีความมั่นคงด้านยาอย่างยั่งยืน