- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Tuesday, 08 February 2022 09:13
- Hits: 2741
อนุทิน แจงยอดโควิดเพิ่มขึ้นจาก 'โอมิครอน' แต่อาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตลดลง
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แจง ‘โอมิครอน' ติดง่าย ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ยังควบคุมสถานการณ์ได้ ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตลดลง เนื่องจากประชาชนร่วมมือมารับวัคซีนจำนวนมาก ย้ำยังต้องระวังตัวป้องกันโรคเข้มข้น
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ว่า สายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ได้ง่าย แต่ไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา และคนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้ว แม้ปัจจุบันผู้ติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนธันวาคม 2564 ที่มีผู้ติดเชื้อ 3,500-4,000 คนต่อวัน ถือว่าอัตราป่วยหนักและเสียชีวิตลดลง และหากเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อกับประเทศอื่นทั่วโลก จะเห็นได้ว่าไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่ามาก ซึ่งเป็นเพราะคนไทยให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการที่แนะนำอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้น ขอย้ำให้มารับวัคซีนตามกำหนด ซึ่งขณะนี้กำลังฉีดเข็มกระตุ้น และขอให้ระมัดระวังตัวเอง เนื่องจากการติดเชื้อที่พบส่วนใหญ่มาจากการสังสรรค์และการรวมตัวกันจำนวนมาก จึงขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกันเป็นเวลานานเกินไป ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงอยู่บ้านที่มีผู้สูงอายุ ถ้าไปสถานที่เสี่ยงสูง เช่น โรงพยาบาลหรือสถานที่อากาศถ่ายเทไม่ดี อาจใส่หน้ากากเพิ่มเป็นสองชั้น และระวังตนเองตลอดเวลา
“การรายงานสถานการณ์ต่อจากนี้ อาจมีการปรับรูปแบบเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และใช้ชีวิตได้เป็นปกติมากที่สุด ซึ่งการรายงานสถานการณ์โควิดของประเทศไทย นานาชาติให้ความเชื่อมั่นว่ามีความโปร่งใส รวมทั้งไทยยังมีมาตรการเข้มข้นกว่าประเทศอื่น ส่วนการฉีดวัคซีน ยืนยันว่ามีการบริหารจัดการเพื่อให้ฉีดได้อย่างเพียงพอทุกเข็ม”นายอนุทินกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ในขณะนี้ เป็นไปตามการคาดการณ์และควบคุมได้ จากช่วงแรก อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 2% ขณะนี้ลดลงมาเหลือประมาณ 0.22% ถือว่าค่อนข้างต่ำ ส่วนการฉีดวัคซีนมีผลการศึกษาพบว่า หลังฉีดเข็มสองไปแล้วช่วงเวลาหนึ่งภูมิคุ้มกันจะลดลง ดังนั้น จำเป็นต้องฉีดเข็มสามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่ม ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายเบื้องต้นว่า การฉีดเข็มหนึ่งและสองรวมกันควรได้ประมาณ 80% ของประชากร และเข็มสามควรได้ 80-90% ของเข็มสอง เพื่อที่จะควบคุมสถานการณ์ได้