- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Thursday, 06 January 2022 23:09
- Hits: 3231
กรมควบคุมโรค ย้ำผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ก่อน พ.ย. 64 รีบรับบูสเตอร์โดส ป้องกันสายพันธุ์โอมิครอน
กรมควบคุมโรค เน้นย้ำความสำคัญสร้างภูมิคุ้มกัน ให้ประชาชนที่ฉีดเข็ม 2 ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 รีบไปรับบูสเตอร์โดส รองรับการระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อโคโรนา 2019 ว่า สถานการณ์ทั่วโลกได้รับรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 1 ล้านคน สายพันธุ์ที่ระบาดใหญ่ คือ เดลต้า (Delta) และ โอมิครอน (Omicron) ซึ่งประเทศไทยได้ระงับการตรวจหาเชื้อแบบ Test&Go จึงช่วยชะลอผู้ติดเชื้อเดินทางเข้ามาในประเทศไทย สอดคล้องกับแนวโน้มของโรคที่ลดน้อยลงเพราะการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศ
ทั้งนี้ จากเทศกาลวันหยุดยาวที่มีการเฉลิมฉลองทั้งคริสต์มาสและปีใหม่ ทำให้เมืองท่องเที่ยวมีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยข้อมูล ณ วันที่ 4 ม.ค. 65 จังหวัดชลบุรีมีผู้ติดเชื้อ 499 ราย อุบลราชธานี 328 ราย ภูเก็ต 149 ราย สมุทรปราการ 120 ราย และเชียงใหม่ 117 ราย สาเหตุสำคัญเกิดจากการรวมตัวกันทำกิจกรรม โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย อยู่ในห้องที่ปิดอับ ไม่มีการระบายอากาศที่ดี เช่น ร้านอาหารกึ่งผับบาร์ จึงมีการเน้นย้ำให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทุกจังหวัดเข้มงวดสถานที่ที่มีความเสี่ยง หากไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง
นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่า ในวันที่ 4 มกราคม ถือเป็นวันแรกของการรับมือโควิด 19 เข้าปีที่ 3 สิ่งที่คาดหวังในปีนี้ คือการปรับระบบให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยมีปัจจัยหลัก 3 อย่าง 1.เชื้ออ่อนลง ไม่ทำให้คนที่ติดเชื้อถึงขั้นเสียชีวิต แต่แพร่กระจายได้มากขึ้น ซึ่งตรงกับสายพันธุ์โอมิครอน 2.ประชากรมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น เกิดได้จากการฉีดวัคซีน ซึ่งปีนี้จะเป็นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 หรือเข็ม 4 และ 3.การจัดการสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยง การรักษาดีขึ้น ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับได้และมียามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ให้ไปรับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์หรือเข็ม 3 ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่ฉีดเข็ม 3 แล้วเกิน 3 เดือน ให้เข้ารับเข็ม 4 ได้ เพื่อรองรับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนต่อไป
นายแพทย์โอภาส กล่าวถึงข่าวการพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และโควิด 19 พร้อมกันในประเทศอิสราเอลว่า 2 โรคนี้เกิดจากเชื้อคนละชนิด แต่คนสามารถติดเชื้อทั้ง 2 ชนิดพร้อมกันได้ แต่เกิดได้ไม่ง่ายนัก และพบเป็นครั้งแรก ซึ่งอาการของทั้ง 2 โรคนี้คล้ายคลึงกัน มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว หรือเป็นปอดบวมได้ จากที่ติดตามข่าวพบว่า เป็นหญิงตั้งครรภ์ อาการไม่รุนแรง และหายเป็นปกติแล้ว สำหรับการป้องกันสามารถทำได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ อีกทั้งมีวัคซีนป้องกัน มาตรการป้องกันตนเองจึงยังเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันได้ทั้ง 2 โรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ปลัด สธ.เผยแนวโน้มติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ ย้ำฉีดวัคซีน ใช้มาตรการ UP ช่วยป้องกันการติดเชื้อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย หลังปีใหม่เริ่มพบสัญญาณผู้ติดเชื้อโควิด 19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์ แนะประชาชนที่กลับจากการเดินทางช่วงปีใหม่สังเกตอาการตนเอง 14 วัน เน้นทำงานที่บ้าน และตรวจ ATK ก่อนเข้าทำงาน พร้อมให้ทุกจังหวัดเตรียมระบบ HI/CI รองรับ ย้ำการฉีดวัคซีน เข้มป้องกันตนเองสูงสุด งดไปสถานที่เสี่ยง ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยวันนี้ (5 มกราคม 2565) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,899 ราย รักษาหาย 2,508 ราย และเสียชีวิต 19 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 34,877 ราย จำนวนนี้เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 541 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 149 ราย พบผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ 169 ราย สำหรับการติดเชื้อภายในประเทศพบลักษณะเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะร้านอาหารกึ่งผับ ร้านหมูกระทะ และสถานบันเทิง ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting ในหลายจังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา อุบลราชธานี ขอนแก่น ชลบุรี มหาสารคาม และอุดรธานี นอกจากนี้ ยังพบการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับตลาด เรือนจำ โรงงาน สถานประกอบการ ถนนคนเดิน แคมป์คนงาน งานศพ งานแต่ง และงานเลี้ยงปีใหม่
ทั้งนี้ ช่วงหลังเทศกาลปีใหม่สถานการณ์เริ่มเป็นไปตามที่คาดการณ์ คือ ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตลดลงแต่พบสัญญาณผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวและจังหวัดที่มีผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก จึงขอให้ประชาชนที่กลับจากการเดินทางช่วงปีใหม่เฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง 14 วัน ขอให้หน่วยงานและสถานประกอบการต่างๆ เน้นการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ในสัปดาห์แรก พร้อมตรวจ ATK อย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 3 วัน โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะนานเกิน 4 ชั่วโมง หรือไปในสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากและงดการรวมกลุ่มรับประทานอาหารร่วมกัน
นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ได้ประชุมทางไกลผ่านระบบวีดิโอกับนายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลให้เตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยทั้งเตียง ยาและเวชภัณฑ์ และจัดระบบการรักษาที่บ้านหรือชุมชน (Home Isolation : HI / Community Isolation : CI) ไว้รองรับผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ขณะเดียวกันให้ขยายบริการฉีดวัคซีนทั้งแบบ walk in และจัดบริการเชิงรุกในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนมากที่สุด ขอให้ประชาชนมารับวัคซีน ทั้งผู้ที่ยังไม่เคยได้รับ และผู้ที่ถึงเวลารับเข็มกระตุ้นตามที่กำหนด โดยติดต่อสอบถามสถานบริการของรัฐใกล้บ้านได้ และใช้มาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด โดยเฉพาะการสวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือ และเว้นระยะห่าง รวมถึงงดไปสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งหากพบสถานที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการขอให้แจ้งฝ่ายปกครองในพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
กรม อ. ย้ำ สวมหน้ากากถูกต้อง สวมถูกวิธี ควบปฏิบัติตามมาตรการ UP เพิ่มประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ข้อมูลประสิทธิภาพของหน้ากากในการป้องกันโควิด-19 พร้อมเน้นย้ำให้สวมอย่างถูกต้องและถูกวิธี ควบคู่กับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล หรือ UP (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประสิทธิภาพของหน้ากาก ในการป้องกันโควิด-19 นั้น ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการกรองอนุภาค และความกระชับของหน้ากาก โดยมีความแตกต่างกันในแต่ละประเภทของหน้ากาก ซึ่งจากผลการศึกษาของ รศ.ดร.พานิช อินต๊ะ และคณะ ที่เผยแพร่ในวารสารวชิรสารการพยาบาล ได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอน แสดงให้เห็นว่าหน้ากากผ้าที่ทำจากผ้าที่มีคุณภาพ เช่น ผ้าฝ้ายมัสลิน ผ้าสาลู ซ้อนอย่างน้อย 2 ชั้น สามารถกรองเพิ่มได้มากขึ้นจากเดิม 53 เปอร์เซ็นต์ เป็น 67 เปอร์เซ็นต์
แต่ต้องเลือกขนาดและปรับสายให้กระชับกับใบหน้า สวมให้คลุมทั้งจมูกและใต้คาง ให้เปลี่ยนหน้ากากผ้าทุกวัน หรือเมื่อรู้สึกเปียกชื้นในระหว่างวัน เมื่อกลับถึงที่พักให้ซักด้วยสบู่หรือผงซักฟอก แล้วนำไปตากแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้ในครั้งต่อไป ส่วนหน้ากากอนามัย มีประสิทธิภาพ กรองอนุภาคได้ 97 เปอร์เซ็นต์ โดยต้องเลือกที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ซึ่งจะเป็นหน้ากากแบบ 3 ชั้น สวมให้ถูกต้อง ให้กระชับแนบกับใบหน้า ด้วยการกดแถบลวดให้แนบสันจมูก และดึงหน้ากากให้คลุมถึงใต้คาง
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนสามารถใช้ได้ ทั้งหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เพราะในกรณีที่ผู้มีเชื้อโควิด-19 และผู้ไม่มีเชื้อโควิด-19 ไม่สวมหน้ากากทั้งคู่ นับว่ามีความเสี่ยงสูงมากในการแพร่เชื้อ หรือหากผู้มีเชื้อโควิด-19 ไม่สวมหน้ากาก แต่ผู้ไม่มีเชื้อโควิด-19 สวมหน้ากากป้องกัน ก็ยังนับว่า มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน การป้องกันที่ดีเพื่อให้มีความเสี่ยงต่ำมากคือ การสวมหน้ากากด้วยกันทั้งคู่
นอกจากนี้ เมื่อต้องไปในพื้นที่เสี่ยงสูง เช่น พื้นที่ปิดหรือแออัด ให้สวมหน้ากากอนามัยทับด้วยหน้ากากผ้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกรองได้ 98 เปอร์เซ็นต์ และทำให้มีความกระชับยิ่งขึ้น ส่วนหน้ากาก N95 มีประสิทธิภาพการกรองอนุภาคได้ 99 เปอร์เซ็นต์ เหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงในการรับสัมผัสเชื้อโควิด-19
“ทั้งนี้ แม้ว่าการสวมหน้ากากที่ถูกต้องและถูกวิธี จะเป็นเกราะป้องกันโควิด-19 ได้ดี แต่หากประชาชน ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล หรือ UP (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัดควบคู่กันไป ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันได้มากขึ้นด้วย โดยมีหลักดังนี้ 1) เลือกไปสถานที่ที่มีสัญลักษณ์ CFS, SHA+ และขอความร่วมมือแสดงการได้รับวัคซีนหรือผลการตรวจว่าไม่ติดเชื้อก่อนเข้าสถานที่
2) ให้ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 - 2 เมตร ในทุกสถานที่ หลีกเลี่ยงการเข้าไปยังสถานที่แออัด หรือระบายอากาศไม่ดี และงดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน 3) ล้างมือบ่อยๆ ทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ไอ จาม หรือสัมผัสสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน และ 4) หากสงสัยว่ามีความเสี่ยง หรือมีอาการ ควรงดออกจากที่พัก ตรวจตนเองด้วย ATK และปรึกษาสถานพยาบาลใกล้เคียง”อธิบดีกรมอนามัย กล่าว