- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Monday, 06 December 2021 18:08
- Hits: 3805
สธ.เผยผลตรวจหนุ่มอเมริกันเป็น 'โอมิครอน' 99.92% ชี้แพร่เร็ว อาการน้อย ทั่วโลกไม่พบผู้เสียชีวิต
กระทรวงสาธารณสุข แจงผลตรวจเชื้อโควิดชายอเมริกันอายุ 35 ปี มาจากสเปน แสดงว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 99.92% ถือเป็นรายแรกของประเทศไทย ส่วนผู้สัมผัสรายอื่นติดตามแล้วยังไม่พบการติดเชื้อจะติดตามจนครบระยะฟักตัวของโรค โดยสายพันธุ์หลักที่พบในไทยกว่า 99% ยังเป็นเดลตา ซึ่งการฉีดวัคซีนจำเป็นเพราะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ส่วนสายพันธุ์โอมิครอนแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น 2-5 เท่า ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยคล้ายไข้หวัดใหญ่ ทั่วโลกยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์นี้
ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 และความคืบหน้าการตรวจสายพันธุ์โอมิครอน
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังพบเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา 99.87% ส่วนการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. - 4 ธ.ค. 2564 ผู้เดินทางทุกระบบส่วนใหญ่ตรวจพบเชื้อสายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์ย่อยของเดลตา และมี 1 ราย เป็นชายชาวอเมริกันอายุ 35 ปี เดินทางมาจากสเปน เข้าระบบ Test & Go จากการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ด้วยน้ำยาเฉพาะพบตำแหน่งที่กลายพันธุ์สอดคล้องกับตำแหน่งที่พบในโอมิครอน
จึงส่งตรวจแบบถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว พบเข้ากันได้กับสายพันธุ์โอมิครอน 99.92% แต่เนื่องจากตัวอย่างที่ส่งตรวจครั้งแรก มีเชื้อค่อนข้างน้อยทำให้ผลการตรวจไม่สมบูรณ์ ได้ขอตัวอย่างมาตรวจอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 โดยตรวจสอบร่วมกับศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข ผลสรุปได้ว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ถือเป็นผู้ป่วยรายแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ
"ขณะนี้ผู้ที่ตรวจพบสายพันธุ์โอมิครอน ยังอยู่ในการดูแลของระบบสาธารณสุข จึงไม่ต้องเป็นกังวล ส่วนผู้ที่เดินทางเข้ามาอย่างถูกต้องจะผ่านการตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวด เมื่อพบก็จะถูกกักตัวไว้ในระบบจนกว่าจะปลอดภัย ซึ่งไทยมีโอกาสที่จะพบผู้ติดเชื้อรายต่อๆ ไปได้ จึงอยากให้ทำความเข้าใจและร่วมมือกันป้องกันตามมาตรการต่างๆ
โดยเฉพาะการออกมาฉีดวัคซีนให้มากที่สุด ส่วนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายจะเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่างๆ อย่างเข้มข้นต่อไป รวมถึงศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ภาคใต้จะเพิ่มการตรวจมากขึ้น เนื่องจากมีชายแดนติดกับมาเลเซียที่พบสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว" นพ.ศุภกิจกล่าว
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้มีการรายงานพบสายพันธุ์โอมิครอนใน 46 ประเทศ ล่าสุด ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 47 ซึ่งต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มที่มีการติดเชื้อภายในประเทศ เช่น แถบแอฟริกาใต้ และกลุ่มที่พบการติดเชื้อจากผู้เดินทางเข้าประเทศ โดยไทยที่พบรายแรกเป็นผู้เดินทางเข้ามา เป็นนักธุรกิจชายอเมริกันอายุ 35 ปี อาศัยอยู่สเปน มีผลตรวจ RT-PCR วันที่ 28 พฤศจิกายน ไม่พบเชื้อ เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 29 พฤศจิกายน เมื่อมาถึงได้ตรวจอีกครั้ง พบเชื้อวันที่ 1 ธันวาคม เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง
เบื้องต้นแทบไม่มีอาการ จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ติดเชื้อมีการระมัดระวังตัวเองสูง ใส่หน้ากากตลอดเวลา ขณะนั่งเครื่องบินไม่ได้นั่งติดกับคนข้างๆ จึงไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตาม ได้สอบสวนโรคผู้ที่เคยมีประวัติพบกับผู้ติดเชื้อรายนี้ทุกคนและตรวจสอบหาเชื้อ ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมและจะติดตามจนครบระยะการฟักตัวของโรค
"ข้อมูลที่มีขณะนี้ สายพันธุ์โอมิครอนจะแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น 2-5 เท่า ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยคล้ายไข้หวัดใหญ่ แยกยากจากสายพันธุ์อื่น ผู้ติดเชื้อในต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ดังนั้น มาตรการป้องกันคือ ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยฉีดแล้ว 95 ล้านกว่าโดส เข็มที่ 1 ครอบคลุมคนไทยเกิน 75% เข็มที่ 2 เกิน 60% ส่วนผู้ที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว ขอให้รอการประกาศแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุขให้มารับเข็มกระตุ้น ซึ่งคาดว่าช่วงธันวาคม 2564 - มกราคม 2565 จะเร่งฉีดกระตุ้นให้มากที่สุด" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า การควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว ยังต้องใช้มาตรการอื่นร่วมด้วย ทั้งมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง การใช้มาตรการ COVID Free Setting และการตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยง โดยกรมควบคุมโรคจะยกระดับการเฝ้าระวัง ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศและสถานที่ท่องเที่ยว กรณีป่วยไข้หวัดเป็นกลุ่มก้อนจะสอบสวนให้ละเอียด และรายที่มีข้อสงสัยจะส่งตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอน
ทั้งนี้ การติดต่อของสายพันธุ์โอมิครอนเหมือนกับสายพันธุ์อื่นๆ คือ ผ่านละอองฝอยเป็นหลัก ส่วนการติดต่อผ่านทางอากาศพบได้น้อยมากในบางกรณี เช่น ห้องอับทึบ ห้องที่มีการแพร่กระจายเชื้อสูงเท่านั้น โดยวัคซีนทุกชนิดรวมถึงที่ไทยใช้ไม่สามารถป้องกันติดเชื้อได้ 100% แต่ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อที่ 50-80% ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตมากถึง 90% ขึ้นไป