- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Sunday, 12 September 2021 14:27
- Hits: 191
สธ. เผยเครือข่ายด้านการรักษา ติดตามสถานการณ์หลังเปิดกิจการ/กิจกรรมใกล้ชิด พร้อมดูแลผู้ป่วยโควิด 19
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายด้านการรักษา ติดตามสถานการณ์หลังเปิดกิจการ/กิจกรรมอย่างใกล้ชิด ยืนยันระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 มีความพร้อมทั้งโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลรัฐ เอกชน และประชาสังคม หากยาโมลนูลพิราเวียสำหรับรักษาผู้ป่วยโควิดได้ผลในเฟส 3 ผ่านการขึ้นทะเบียน อย.สหรัฐและไทย คาดนำมาใช้ได้ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับมอบเครื่องช่วยหายใจจากรัฐบาลอินเดีย โดย ดร.สาธิตกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายการรักษาได้มีการติดตามประเมินสถานการณ์โควิด 19 อย่างใกล้ชิด หลังเปิดกิจการ/กิจกรรมช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้นำบทเรียนจากครั้งที่แล้วมาปรับใช้และเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ร่วมกันทำงานเป็นเครือข่ายกับโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลรัฐ เอกชน ประชาชาสังคม ยืนยันว่าแม้ขณะนี้มีการลดเตียงในโรงพยาบาลสนามหรือฮอสปิเทลเนื่องจากผู้ป่วยลดลง แต่เตียงรับผู้ป่วยสีแดงในโรงพยาบาล ยังมีบุคลากรและทรัพยากรพร้อมรับมือได้ คาดว่าสถานการณ์จะแตกต่างจากการแพร่ระบาดครั้งที่ผ่านมา อีกทั้งการฉีดวัคซีนเข็มแรกได้ร้อยละ 37 ในกลุ่มผู้สูงอายุฉีดได้ร้อยละ 50.6 และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรังร้อยละ 49 ในกรุงเทพมหานครฉีดแล้วกว่าร้อยละ 90 ของประชากร นอกจากจะมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่เข้ามา ยังต้องเฝ้าระวังผลในช่วงเดือนตุลาคมว่าจะกระทบต่อการแพทย์หรือไม่
ด้านนายแพทย์สมศักดิ์กล่าวว่า มาตรการ Home Isolation ที่ผ่านมาได้ผลดีมาก เฉพาะในกทม. ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวประมาณร้อยละ 90 และสีเหลืองที่ต้องใช้เครื่องออกซิเจนประมาณร้อยละ 10 ส่วนสีแดงที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจประมาณร้อยละ 0.5 อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมความพร้อมเตียงสีแดงไว้ร้อยละ 1 ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เตรียมเครื่องออกซิเจนไว้สำหรับฮอสปิเทลและผู้ป่วยที่รักษาพยาบาลที่บ้าน โดยได้ร่วมกับสภาวิชาชาชีพแพทยสภา ราชวิทยาลัยต่างๆ จัดทำแนวทางปฏิบัติไว้พร้อมแล้ว
ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองเฟสที่ 3 คาดว่าจะได้ผลการทดลองส่วนแรกประมาณปลายเดือนกันยายนนี้ หากยาได้ผลในเฟสที่ 3 จะมีการขึ้นทะเบียนกับ FDA สหรัฐอเมริกาประมาณเดือนตุลาคม จากนั้นจะขึ้นทะเบียนกับอย. ประเทศไทย คาดว่าจะนำมาใช้ได้ปลายเดือนพฤศจิกายนหรือต้นเดือนธันวาคม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ได้เจรจากับบริษัทผู้ผลิตมาโดยตลอด เจรจาจองไว้สำหรับรักษาในประเทศไทยจำนวน 200,000 คน ซึ่งยาโมลนูพิราเวียร์กลไกการออกฤทธิ์จะคล้ายกับฟาวิพิราเวียร์ หากเป็นไปได้อาจจะนำมาใช้เป็นยาอันดับแรกในการรักษาโควิด 19
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ