- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Thursday, 26 August 2021 12:27
- Hits: 606
ม.มหิดล เผยผลวิจัยโครงการแบบจำลองการระบาดและการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขประเทศไทย
หวังสร้างระบบติดตามประชากรสุนัขเพื่อการป้องกันที่ยั่งยืนในระดับประเทศ
ไม่มีใครลืมสุนัขตัวแรกที่ตัวเองเคยเลี้ยงว่ามีความผูกพันต่อกันเพียงใดแต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามที่ทำให้สุนัขถูกทอดทิ้งจนกลายเป็นสุนัขจรจัดที่ตกเป็นภาระแก่สังคมจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่สำคัญว่าทำไมจึงต้องมี “วันสุนัขโลก” ที่ตรงกับวันที่ 26 สิงหาคมของทุกปี
ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGS) แห่งสหประชาชาติข้อที่ 11 ที่ว่าด้วยเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน(Sustainable Cities and Communities) หนึ่งในปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนาเมืองและชุมชนให้ยั่งยืนคือการจัดระเบียบทางสังคมซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นในสุนัขประเทศไทยจำนวนประมาณกว่า 2 ล้านตัวเป็นสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือ “สุนัขจรจัด” ถึงกว่า 1 แสนตัวซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า (เรบีส์) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยและสุขภาวะของผู้คนในสังคมเมืองและชุมชนและที่น่าเป็นห่วงคือในประเทศไทยยังไม่เคยมีระบบลงทะเบียนข้อมูลการเกิดตายและย้ายถิ่นของสุนัขเพื่อการติดตามดูแลควบคุมประชากรสุนัขแต่อย่างใด
รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์อนุวัตน์ วิรัชสุดากุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุขและประจำศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น และสัตว์อพยพ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการแบบจำลองการระบาดและการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขประเทศไทยซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ได้วิจัยร่วมกับกรมปศุสัตว์กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ระหว่างปีพ.ศ.2562 - 2564 ได้กล่าวถึงผลจากการศึกษาวิจัยว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการระบาดใหม่ของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยได้แก่ความหนาแน่นของประชากรมนุษย์ประวัติการเกิดโรคในพื้นที่และระยะห่างจากจุดเกิดโรคเดิมโดยการอุบัติซ้ำอาจเกิดจากการที่ไวรัสยังคงอยู่ในสุนัขที่ได้รับเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการซึ่งในการรับเชื้อต่อครั้งมีระยะฟักตัวประมาณ 3 - 8 สัปดาห์โดยผู้ที่ถูกกัดและรับเชื้อจะเสียชีวิตทุกรายวิธีการป้องกันที่ยั่งยืนที่สุดคือการไม่ทอดทิ้งสุนัขเลี้ยงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุนัขจรจัดนอกจากนี้ควรให้สุนัขเลี้ยงทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเรบีส์เป็นประจำทุกปีตลอดจนควบคุมประชากรสุนัขด้วยการทำหมันอย่างไรก็ตามผลการวิจัยอีกส่วนหนึ่งยังชี้ให้เห็นว่าความรู้ของเจ้าของสุนัขมีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคเรบีส์ดังนั้นการให้ความรู้อย่างต่อเนื่องถึงอันตรายและการป้องกันโรคเรบีส์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากเช่นกัน
มีข้อสังเกตุหนึ่งที่น่าติดตามจากผลวิจัยของโครงการฯที่ได้ให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายที่เข้าร่วมโครงการฯบันทึกข้อมูลการเลี้ยงสุนัขที่บ้านของตนผ่านแอปพลิเคชันพบว่าได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องค่อนข้างน้อยทั้งๆที่มีการให้รางวัลตอบแทนในการลงบันทึกข้อมูลด้วยซึ่งอาจชี้ได้ว่าเด็กไทยรุ่นใหม่ยังไม่ตระหนักใส่ใจภัยจากเรบีส์และตื่นตัวในการเรียนรู้เพื่อป้องกันโรคดังกล่าวเท่าที่ควร
ซึ่งการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องภัยจากเรบีส์เป็นเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนาเมืองและชุมชนให้ยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการปลูกฝังและสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงสุนัขด้วยความรับผิดชอบแก่คนในสังคมซึ่งบ่อยครั้งมักพบว่าผู้ที่รับเชื้อเรบีส์ไม่ได้เพียงจากเหตุโดนสุนัขจรจัดกัดแต่กลับรับเชื้อจากสุนัขที่ตัวเองเลี้ยงโดยสุนัขของตัวเองรับเชื้อจากสุนัขจรจัดมาก่อนแล้ว
“วิธีการป้องกันสุนัขกัดควรปฏิบัติตามหลัก “5 ย” คือ “อย่าแหย่” “อย่าเหยียบ” “อย่าแยก” “อย่าหยิบ” และ “อย่ายุ่ง” และถ้าหากถูกสุนัขกัดควร “ล้างแผลใส่ยาจับหมาหาหมอ” โดยทีมวิจัยหวังว่าผลจากโครงการแบบจำลองการระบาดและการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขประเทศไทยที่ได้ร่วมวิจัยกับกรมปศุสัตว์กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์นี้จะส่งผลให้ประเทศไทยมีการติดตามพลวัตประชากรของสุนัขเกิดตายย้ายถิ่นที่เป็นระบบสู่การจัดทำนโยบายการควบคุมจำนวนประชากรสุนัขจรจัดและลดอุบัติการณ์แพร่ระบาดของโรคเรบีส์ที่ส่งผลยั่งยืนต่อไปได้ในอนาคต” รองศาสตราจารย์ดร. นายสัตวแพทย์อนุวัตน์วิรัชสุดากุลกล่าวทิ้งท้าย
A8868
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ