- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Thursday, 26 August 2021 10:19
- Hits: 574
สปสช.เผยจ่ายยาฟาวิฯ ระหว่างรอเข้า home isolation ช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น 70%
สปสช.เผยการจัดส่งยาให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างรอเข้า home isolation, community isolation ช่วยให้ผู้ป่วย 70% อาการดีขึ้น ช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยและเสียชีวิต มีเตียงในโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยหนักมากขึ้น เตือนประชาชนอย่าซื้อยาออนไลน์เองเพราะยานี้ไม่มีขายทั่วไป
นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช.ได้จัดระบบส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ป่วยที่รอเข้า home isolation ในระบบสายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งก่อนหน้านี้กว่าผู้ป่วยจะได้ยาฟาวิพิราเวียร์ก็เป็นผู้ป่วยอาการสีเหลืองแล้ว แต่ช่วงหลังจำนวนผู้ป่วยรอเตียงมีจำนวนมากขึ้นและเมื่อรอเตียงนานอาการก็แย่ลง ประกอบกับมีเรื่องการทำ home isolation, community isolation โดยเมื่อผู้ป่วยติดต่อมาที่ 1330 ต่อ 14 หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ สปสช. ,ไลน์ สปสช. @nhso จะมีการจับคู่ระหว่างหน่วยบริการกับผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่มีมาก หน่วยบริการรองรับได้ไม่ทัน ดังนั้นภายใน 24-48 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ 1330 จะโทรกลับไปสอบถามว่ามีหน่วยบริการมาดูแลแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่มีและอาการป่วยเริ่มเปลี่ยนแปลง สปสช.จะส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ป่วยก่อน โดยจะให้ Rider จัดส่งยาให้ถึงบ้านซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตลงไปได้มาก
นพ.จักรกริช กล่าวว่า เกณฑ์ที่จะจ่ายยาเป็นไปตามเกณฑ์ที่กรมการแพทย์กำหนด คือ กลุ่มที่อายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง 7 กลุ่มโรค ยกเว้นหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งกลุ่มที่เริ่มมีอาการ 4 ข้อ 1.ไข้เกิน 1-2 วัน 2.เริ่มมีอาการไอ 3.เหนื่อยหอบ 4.ถ่ายเหลว รับประทานอาหารไม่ได้ อาการเหล่านี้คืออาการสำคัญที่ต้องรีบจ่ายยา โดยปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว เช่น คนที่น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม จะทานยาขนาด 200 มก.ติดต่อกัน 5 วัน รวม 64 เม็ด และถ้าทานฟ้าทะลายโจรอยู่ก็ให้งดฟ้าทะลายโจรก่อน
"การจ่ายยาเราให้ Rider ไปส่ง โดยมีทางธนาคารทางออมสินเข้ามาช่วยกระจายยาไปตามจุดต่างๆ แล้วให้ หลังจากส่งยาแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ 1330 โทรไปสอบถามว่าได้รับยาแล้วหรือยัง ทานยาแล้วอาการเป็นอย่างไร ซึ่งจากการติดตามพบว่าประมาณ 70% ของผู้ป่วยอาการดีขึ้น ถือเป็นจุดสำคัญเพราะผู้ป่วยอาการไม่หนัก เตียงในโรงพยาบาลก็จะไม่แออัดและมีที่ว่างรองรับคนไข้หนักได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เจอคือที่อยู่ไม่ชัด หรือบอกแต่บ้านเลขที่ ดังนั้น ผู้ป่วยควรบอกบ้านเลขที่ ชื่อหมู่บ้าน ตรอก ซอย ถนน ให้ชัดเจนเพื่อความรวดเร็วในการจัดส่งยา" นพ.จักรกริช กล่าว
นอกจากนี้แล้ว เมื่อผู้ป่วยได้รับยาไปแล้วไม่ได้จบเพียงแค่นั้น แต่ยังต้องมีหน่วยบริการเข้ามาดูแลติดตามอาการ ซึ่งเดิมทีวางแผนว่าจะเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่ที่ผู้ป่วยพักอาศัย แต่เนื่องจากคลินิกมีบุคลากรไม่พอ สปสช.จึงพยายามหาหน่วยงานใหญ่ๆ เข้ามาช่วยดูแล เช่น สถานีกาชาดที่ 11 (วิเศษนิยม) โรงพยาบาลในเครือกรมการแพทย์ รวมไปถึงโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช เครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน เช่น โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท โรงพยาบาลปิยะเวท ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ตลอดจนที่คลินิกใหม่ๆ ที่สนใจและสมัครเข้ามา รวมๆ แล้วกว่า 100 แห่ง
นพ.จักรกริช กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ป่วยหลายคนที่พยายามจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ด้วยการซื้อออนไลน์ ขอเตือนว่ายานี้ไม่มีจำหน่ายทั่วไป ยาจะสต๊อกไว้ที่องค์การเภสัชกรรมและถูกควบคุมโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดังนั้น ถ้ามีการขายออนไลน์ไม่ควรไปหลงเชื่อเพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและบางรายจำหน่ายในราคาที่สูงเกินจริง
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ