WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1AA1Aแพทย์ชนบท3

แพทย์ชนบทบุกกรุงครั้งที่ 3’ ตั้งเป้าตรวจโควิดชาวชุมชนแออัด 250,000 คน ด้าน พอช.ร่วมมือภาคีเครือข่ายเตรียมพร้อมเปิดจุดตรวจ 4-10 สิงหาคมนี้

      สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน/ แพทย์ชนบททั่วประเทศระดมพล 38 ทีม บุกกรุงเทพฯ ครั้งที่ 3 ‘ปฏิบัติการสร้างความหวัง สู้ภัยโควิด เพื่อคนกรุง’ ระหว่างวันที่ 4-10 สิงหาคมนี้ ตั้งเป้าตรวจโควิดเชิงรุกในชุมชนแออัดได้ประมาณ 250,000 คน ด้าน พอช.ร่วมมือภาคีเครือข่ายเปิดจุดตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 เชิงรุก 57 จุดในกรุงเทพฯ ขณะที่ชาวชุมชนเตรียมรับมือโควิด-พึ่งพาตัวเอง ปลูกกระชายขาว ฟ้าทะลายโจรสู้โรคร้าย โดยมีพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนจากต่างจังหวัดรินน้ำใจนำพืชผัก ข้าวสาร สมุนไพร ฯลฯ หนุนชุมชนกรุงเทพฯ สู้โควิด

       สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ยังแรงไม่หยุด โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่ยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ ทำให้โอกาสในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสามารถแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ชมรมแพทย์ชนบทจึงส่งบุคลากรเข้ามาตรวจหาเชื้อเพื่อแยกผู้ป่วยออกมารักษา โดยเข้ามาตรวจหาเชื้อเชิงรุกในชุมชนแออัดตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รวม 2 ครั้ง มีผู้ได้รับการตรวจแล้วประมาณ 51,000 ราย ล่าสุดชมรมรมแพทย์ชนบทจะเข้ามาตรวจหาเชื้อครั้งที่ 3 ในกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้

แพทย์ชนบทบุกกรุงครั้งที่ 3 ‘ปฏิบัติการสร้างความหวัง สู้ภัยโควิด เพื่อคนกรุง’

      Facebook ชมรมแพทย์ชนบทโพสต์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ระบุข้อความว่า.หลังจากการปฏิบัติการแพทย์ชนบททั้ง 2 ครั้ง วันที่ 14-16 และ วันที่ 21-23 กรกฏาคม 2564 ซึ่งมีทีมแพทย์ชนบท รวม 2 ครั้ง 20 ทีมมาร่วมบุกกรุง เพื่อตรวจคัดกรองโควิดให้กับคนกรุงในพื้นที่ชุมชนแออัดที่เข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ สามารถตรวจหาเชื้อได้กว่า 51,000 ราย พบผู้ติดเชื้อกว่า 7,000 ราย  และสัญญาว่า เราจะกลับมาอีก

    หลังจากการเตรียมตัวอย่างทรหดและประสานงานกันมาหลายวัน ปฏิบัติการบุกกรุงในครั้งที่ 3 จึงเกิดขึ้นอีกครั้งแน่นอนแล้วในวันที่ 4-10 สิงหาคม 2564 ต่อเนื่องรวม 7 วัน ด้วยทีมบุคลากรสาธารณสุขจากต่างจังหวัดกว่า 38 ทีม เฉลี่ยทีมละ 8-10 คน เล็กบ้างใหญ่บ้างตามแต่ใครจะรวบรวมกำลังส่งมาช่วยกู้กรุงได้กี่คน

         Design การทำงานกู้ภัยโควิดในครั้งนี้จะครบวงจรมากขึ้น เริ่มด้วยการทำการ swab หาเชื้อด้วย rapid test หากได้ผลลบให้กลับบ้านได้หรือไปรับบริการวัคซีนจากทีมของกรุงเทพมหานครที่จะมาร่วมออกหน่วยด้วย แต่หากผลเป็นบวกก็จะถูกตามมาตรวจ rtPCR ซ้ำ ได้รับบริการยาฟ้าทะลายโจรหรือ Favipiravir และนำเข้าระบบ Home Isolation ของ สปสช.ในวันเดียวกันเพื่อการดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง

        ครั้งนี้ด้วยความร่วมมือที่กว้างขวาง จะมีการระดมทีมลงปฏิบัติการในชุมชนวันละ 30 จุด โดยสามารถตรวจและดูแลตามภารกิจที่วางไว้ได้จุดละ 1,000 คนต่อวัน รวมเป็นวันละ 30,000 ราย x 7 วันก็จะคัดกรองโรคได้ประมาณ 210,000 ราย และจะมีทีมของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาที่จะนำทีมใหญ่มาคัดกรองแบบ walk in วันละ 5,000 คนในจุดต่างๆ เปลี่ยนจุดไปทุกวัน x 7 วัน ก็จะคัดกรองได้อีก 35,000 ราย

       ดังนั้น จากการประมาณ การปฏิบัติการครั้งนี้จะสามารถคัดกรองผู้คนในเมืองกรุงได้ 250,000 ราย หากผลบวกอยู่ที่ประมาณ 10-15% ก็จะพบผู้ที่มีเชื้อโควิดที่จะเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาจำนวน 25,000-32,500 คน ซึ่งน่าจะสามารถตัดตอนการระบาดไปได้พอสมควร และสามารถช่วยลดภาระเตียงล้นของโรงพยาบาลใน กทม.ลงได้ เพราะเราจะพยายามจ่ายยา favipiravir ให้กับผู้ติดเชื้อตามเกณฑ์ที่ควรรับยาทุกคน เพื่อลดโอกาสที่เขาจะป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล

       ปฏิบัติการแห่งความหวังในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่รวมพลังกันสู้ภัยโควิด กทม. อันได้แก่ ชมรมแพทย์ชนบท กระทรวงสาธารณสุข  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรุงเทพมหานคร รวมทั้งทีมอาสาจากภาคประชาชนคือ ทีมโควิดชุมชน (Com-Covid) เครือข่ายแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และ IHRI และอีกหลายองค์กร เป็นความร่วมมือที่มหัศจรรย์ภายใต้เงื่อนเวลาที่เร่งรัดและทุกคนต่างก็มีภารกิจประจำอันมากมาย

      หัวใจของการสู้ภัยโควิดอยู่ที่ความหวัง ปฏิบัติการครั้งนี้มุ่งสร้างความหวังให้กับทุกคนในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งคนไทยทั้งประเทศ ด้วยความหวังที่อยากเห็นทุกคนทุกองค์กรออกมาช่วยกัน ระดมสรรพกำลังให้เต็มที่ ใครทำอะไรได้ทำ อย่าคิดนาน ด้วยความเร็วในอัตราเร่งที่ให้ทันกับการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า ความหวังในท่ามกลางความหดหู่ที่แสนเหน็ดเหนื่อยเท่านั้นที่จะช่วยให้ทุกคนฮึดสู้ และรวมพลังคนไทยสู้ภัยโควิดในครั้งนี้ ให้เราผ่านมันไปด้วยความสูญเสียทั้งด้านชีวิตและเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด

แล้วพบกันกับ ‘ปฏิบัติการแพทย์ชนบทบุกกรุงครั้งที่ 3’ รายละเอียดโปรดติดตามต่อไป.…

เปิดรายชื่อ 38 ทีมแพทย์ชนบททั่วประเทศบุกเมืองกรุง

Facebook ชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า ทีมที่ร่วมประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ คือ แพทย์ชนบท สหวิชาชีพ สภาวิชาชีพ จิตอาสา ภาคประชาชน เครือข่ายแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว กระทรวงสาธารณสุข สปสช. กรุงเทพมหานคร ปฏิบัติการ 7 วัน กอบกู้กรุงเทพมหานคร และสร้างความหวังให้กับผู้คน ประกอบด้วย

       ทีม รพ. สิชล จ.นครศรีธรรมราช ทีม รพ.จะนะ จ.สงขลา 3. ทีม รพ. สมเด็จนาทวี จ.สงขลา  4. ทีม สสจ.ชัยภูมิ 5. ทีม สสจ. เชียงราย 6. ทีม สสจ. ลพบุรี  7. ทีม สสจ. น่าน 8. ทีม สสจ. สุรินทร์  9. ทีม สสจ. ยโสธร 10. ทีม รพท.ชุมพร 11. ทีม รพศ.มหาราช นครราชสีมา 12. ทีม สสจ.ฉะเชิงเทรา 13. ทีม สสจ.ขอนแก่น (มา 3 ทีม) 14. ทีม รพ.ด่านมะขามเตี้ย กาญจนบุรี 15. ทีม สสจ. สุโขทัย 16. ทีม สสจ.อุตรดิตถ์ 17. ทีม รพท. เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา จ.ระยอง 18.ทีม สสจ. อุดรธานี  19. ทีม สสจ. แพร่   20. ทีม รพท. มหาสารคาม 21. ทีม รพท. กาฬสินธุ์ 22. ทีม สสจ. ชุมพร 23. ทีม สสจ.ระนอง  24. ทีม รพ.ตากใบ + รพ. แว้ง  สสจ.นราธิวาส   25.ทีม รพ.รามัน  ยะลา  26. ทีม สสจ. พะเยา  27. ทีม รพท. สมุทรปราการ (ลงพื้นที่ตนเอง)  28. ทีม สสจ. เพชรบุรี  29. ทีม สสจ.สุราษฎร์ธานี  30. ทีม สสจ. แม่ฮ่องสอน/รพ. ปางมะผ้า  31. ทีม รพ.บางกรวย  2 จ.นนทบุรี  32. ทีม สสจ. นครปฐม/รพ.หลวงพ่อเปิ่น (ลงพื้นที่ตนเอง) 33. ทีมเภสัชกร อาสา อ.สุนี มข.ช่วยจ่ายยา  34. ทีม สสจ. นครสวรรค์ 35. สมาคม/สภาเทคนิคการแพทย์ 36. ทีม รพ.หนองม่วงไข่ จ.แพร่ (มี3ท่าน)  37. ทีม รพ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี (ลงพื้นที่ตนเอง) และ  38. ทีม สสจ.กำแพงเพชร

พอช.ร่วมมือภาคีเครือข่ายเตรียมพร้อมเปิดจุดตรวจโควิด 57 จุด 45,000 คน

                    การตรวจหาเชื้อโควิดของทีมแพทย์ชนบทครั้งที่ 3 นี้ นอกจากจะลงพื้นที่ตรวจในชุมชนแออัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ โดยการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ในส่วนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ผู้นำชุมชน อาสาสมัครฯลฯ เตรียมเปิดจุดคัดกรองเพื่อตรวจหาเชื้อในชุมชนต่างๆ ระหว่างวันที่  4-10 สิงหาคม โดยเบื้องต้นมี 57 จุดตรวจ มีผู้ตรวจจากชุมชนต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 150 ชุมชน ในพื้นที่ 29 เขตกรุงเทพฯ รวมผู้ตรวจทั้งหมดประมาณ 45,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชุมชนในเครือข่ายสลัม 4 ภาค และชุมชนที่จัดทำโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.

      โดยวันนี้ (2 สิงหาคม) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้จัดประชุมผ่านระบบ Zoom Meetings เพื่อสรุปบทเรียน อบรมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19  ในการดูแลตนเอง การช่วยเหลือ การตั้งจุดคัดกรองในชุมชน 50 เขตในกรุงเทพฯ และเตรียมชุมชนเพื่อเปิดจุดตรวจโควิดโดยชมรมแพทย์ชนบท มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ผู้นำชุมชน ผู้แทนหน่วยงานเครือข่าย เข้าร่วมประชุมประมาณ 80 คน

      ส่วนชุมชนในเครือข่ายสลัม 4 ภาค และชุมชนบ้านมั่นคงที่จะเปิดเป็นจุดตรวจหาเชื้อโควิด เช่น 1.ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา เขตวังทองหลาง 2.วัดจันทร์ประดิษฐาราม เขตภาษีเจริญ 3.ศูนย์พักโรงเรียนประถมนนทรีย์ เขตยานนาวา 4.สนามฟุตบอลโปโลคลับ และลานจารุเมือง เขตปทุมวัน 5.ชุมชนร่วมมิตรแรงศรัทธา เขตดอนเมือง 6.ชุมชนบ้านมั่นคงวิมานทอง เขตบางบอน 7. อาคารพุทธวิชา ม.ราชภัฏพระนคร เขตบางเขน 8.สหกรณ์ริมคลองสอง (บ้านมั่นคงคลองลาดพร้าว) ซอยผักหวาน เขตสายไหม 9.สหกรณ์ริมคลองพัฒนา (บ้านมั่นคงคลองลาดพร้าว) ซอยจิระมะกร เขตสายไหม 10.ชุมชนเพิ่มสินร่วมใจ (บ้านมั่นคงคลองลาดพร้าว) เขตสายไหม 11.บ้านมั่นคงประชาสามัคคี เขตบางพลัด 12.ชุมชนบ่อฝรั่งริมน้ำพัฒนา เขตจตุจักร ฯลฯ

      ทั้งนี้ การตรวจเชิงรุกรอบ 3 ของทีมแพทย์ชนบทในครั้งนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จะส่งอาสาสมัครเข้าร่วมสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ร่วมกับผู้นำชุมชนประมาณ 10 คนต่อ 1 จุดตรวจ เช่น การลงทะเบียนรายชื่อผู้ตรวจ การจัดลำดับคิวตรวจ การเว้นระยะห่าง การประสานงานต่างๆ เพื่อให้การตรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  รวดเร็ว

        ส่วนการตรวจโควิดเชิงรุกของทีมแพทย์ชนบทจะใช้การตรวจแบบ rapid testing หรือชุดตรวจแบบเร็ว โดยใช้วิธี  ATK (antigentest kit) โดยแพทย์จะใช้ก้านสำลีเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากโพรงจมูกของผู้ตรวจ แล้วนำก้านสำลีมาตรวจด้วยน้ำยา สามารถทราบผลได้ภายในเวลาประมาณ 30 นาที หากพบว่ามีผลเป็นบวกหรือติดเชื้อ แพทย์จะตรวจซ้ำด้วยวิธี Rt-Pcr (Real time - Polymerase chain reaction) เพื่อให้ได้ผลที่แน่นอน ซึ่งหากมีผู้ตรวจจำนวนมากอาจต้องใช้เวลาเพื่อทราบผลประมาณ 1 สัปดาห์

         กรณีผู้ติดเชื้อมีอาการไม่มาก(อยู่ในสถานะสีเขียวหรือเหลืองอ่อน) แพทย์จะให้คำแนะนำในการรักษาตัวที่บ้าน(Home Isolation) หรือสถานพักคอยในชุมชน (Community Isolation) พร้อมกับให้ยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากเมื่อกินยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จะหายป่วยได้ภายในระยะเวลา 14 วัน กรณีที่ติดเชื้อและแพทย์เห็นว่าจะต้องได้รับยา favipiravir แพทย์ก็จะจ่ายยาชนิดนี้ให้กับผู้ติดเชื้อเพื่อรักษาตัวในชุมชน และเพื่อลดภาระการรักษาตัวในโรงพยาบาล

น้ำใจจากพี่น้องชนบทสู่เมืองกรุงฯ

         สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ ส่งผลให้ชุมชนต่างๆ เกิดความตื่นตัวในการรับมือกับโรคร้าย มีการจัดเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกัน เช่น การรณรงค์ให้ความรู้ด้านการป้องกันการแพร่เชื้อ การตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิชาวชุมชนที่เดินทางเข้า-ออก แจกเจลล้างมือ หน้ากากป้องกันการติดเชื้อฯลฯ นอกจากนี้ หลายชุมชนนำฟ้าทะลายโจรมาปลูกเพื่อใช้เป็นยาในการรักษาเชื้อโควิด และปลูกกระชายเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย เช่น ชุมชนเฟื่องฟ้า เขตประเวศ ชุมชนรุ่งมณี เขตวังทองหลาง ชุมชนบ้านมั่นคงวิมานทอง เขตบางบอนฯ

      ขณะเดียวกัน พี่น้องจากขบวนองค์กรชุมชนในจังหวัดต่างๆ ได้ส่งอาหาร ข้าวสาร ผัก สมุนไพรฯลฯ มาให้พี่น้องในกรุงเทพฯ ได้ใช้เป็นเสบียงประกอบอาหารและใช้เป็นสมุนไพรในการต่อสู้กับโควิด เช่น พี่น้องจากจังหวัดกาญจนบุรี จากจังหวัดขอนแก่นฯลฯ โดยทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้กระจายน้ำใจเหล่านี้ลงไปสู่ชุมชนต่างๆ ที่มีความต้องการ รวมทั้งศูนย์พักคนไร้บ้าน ‘สุวิทย์ วัดหนู’ เขตบางกอกน้อย และ ‘บ้านพูนสุข’ จังหวัดปทุมธานี

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

 

EXIM One 720x90 C J

BITKUB Ad

SAM720x100px bgGC 790x90

smed banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!