- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Wednesday, 12 May 2021 13:14
- Hits: 1079
การดูแลผิวหนังผู้สูงวัย
โดย ศ.คลินิค พญ.ณัฏฐา รัชตะนาวิน
ประธานฝ่ายแพทย์และจริยธรรม
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
ในปี 2564 นี้ นอกจาก Covid-19 จะมีการระบาดอย่างรุนแรงเป็นรอบที่ 3 แล้ว ยังเป็นที่คาดการณ์ว่าในปี 2564 ประชากรไทยที่อายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งมีจำนวน 20% ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน โดยอายุเฉลี่ยของผู้หญิงจะอยู่ที่ 80 ปี และผู้ชาย 73 ปี ดังนั้นความรู้เรื่องการดูแลผิวหนังของผู้สูงวัย จึงมีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้นสำหรับประชาชนทั่วไปทั้งที่ยังไม่เป็นผู้สูงวัย
ศ.คลินิค พญ.ณัฏฐา รัชตะนาวิน ประธานฝ่ายแพทย์และจริยธรรม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่างๆ รวมทั้งผิวหนังซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่นอกสุดของร่างกาย และมีขนาดใหญ่ที่สุด จะพบได้จากอายุที่เพิ่มขึ้นและปัจจัยภายนอกที่สำคัญได้แก่ แสงแดด, มลภาวะ, ควันบุหรี่, ความเครียดและแอลกอฮอล์ การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังเมื่อสูงวัยขึ้นจะเกิดขึ้นกับชั้นผิวหนังทั้ง 3 ชั้นคือ หนังกำพร้า หนังแท้และชั้นไขมัน
ชั้นหนังกำพร้า เป็นชั้นนอกสุดจะมีลักษณะบางลง หากเกิดแผลการซ่อมแซมจะช้าลง ผิวหนังแห้งมากขึ้น เนื่องจากต่อมไขมันผลิตลดลง ผิวผู้สูงวัยจึงขาดไขมันเคลือบผิวทำให้การสูญเสียน้ำจากผิวเพิ่มขึ้น
ชั้นหนังแท้ ส่วนประกอบสำคัญคือคอลลาเจนและอีลาสติก หน้าที่หลักคือ การทำให้ผิวหนังยืดหยุ่นและช่วยในการยึดเกาะของเส้นเลือด ดังนั้นเมื่อสารเหล่านี้ลดลงจะพบรอยย่นสึก ผิวหนังหย่อนคล้อย และการเกิดจ้ำเลือดง่าย โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกแสงแดดเสมอ เช่น บริเวณแขนด้านนอกหรือหลังมือ เนื่องจากการลดลงของคอลลาเจนจะเพิ่มมากขึ้นหากผิวหนังบริเวณนั้นถูกแสงแดดเสมอ
ชั้นไขมัน ก็จะลดความหนาลงด้วย โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า โหนกแก้ม ซึ่งจะทำให้รูปหน้าเปลี่ยนไปจากใบหน้ากลมในวัยเด็ก
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีความแตกต่างกันตามพันธุกรรมและเชื้อชาติ โดยคนไทยซึ่งเป็นคนเอเชีย อาศัยอยู่ในพื้นที่อากาศที่ไม่หนาวจัด ความชื้นสูง ดังนั้นปัญหาผิวแห้งจะรุนแรงน้อยกว่าในพื้นที่อากาศหนาวเย็นและมีความชื้นต่ำ แต่คนไทยอาศัยในพื้นที่ ที่มีแสงแดดจัด ซึ่งแสงแดดประกอบด้วยแสง 3 ประเภท คือ 1. แสงที่ให้ความสว่าง 2.แสงอินฟราเรดที่ให้ความอบอุ่น 3.แสงอัลตราไวโอเลต ซึ่งเป็นแสงที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าและมีปริมาณเพียง 5% ของแสงแดด แต่มีพลังงานสูงและมีบทบาทสำคัญในการทำให้ผิวชราเพิ่มขึ้น ผิวหนังของคนไทยมีเซลล์สร้างสีจึงผลิตสารเมลานินที่มีประสิทธิภาพสูงในการดูดจับ พลังงานและแสงแดดทุกประเภท ดังนั้นจึงจะมีการทำลายของสารคอลลาเจนช้ากว่าและพบมะเร็งผิวหนังน้อยกว่าคนผิวขาวตาสีฟ้ามาก แต่ข้อเสียคือผิวคล้ำหรือมีกระดำได้เร็วกว่าคนผิวขาว
การดูแลผิวหนังของผู้สูงวัย จึงประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การป้องกันและการรักษา
การป้องกัน คือการหลบเลี่ยงแสงแดดจัดในช่วง 10.00น. – 15.00 น. การอยู่ในที่ร่ม กางร่ม สวมเสื้อผ้าปกคลุม สวมหมวกปีกกว้างและหนา สวมแว่นกันแดด และใช้ครีมกันแดดบริเวณผิวหนังที่ไม่สามารถปกคลุมด้วยวิธีที่กล่าวมาแล้ว เช่น บริเวณใบหน้าและหลังมือ เป็นต้น
ข้อจำกัดของครีมกันแดด คือไม่สามารถกันแสงแดดได้ทั้ง 3 ประเภทจะกันได้ดีมากสำหรับแสงอัลตราไวโอเลตและจะเสื่อมสภาพไปหากถูกน้ำหรือการเช็ดถู และการทาไม่ทั่วถึงตามคำแนะนำที่กำหนด คือ 2 มก./ผิวหนัง 1 ตร.ซม.ประสิทธิภาพของครีมกันแดดก็จะลดลง ผู้สูงวัยที่ป้องกันแสงแดดอย่างสม่ำเสมอควรต้องรับประทานวิตามินดีเสริมเพิ่มเนื่องจากแสงอัลตราไวโอเลตบี (UVB) จากแสงแดดเป็นปัจจัยกระตุ้นการผลิตวิตามินดีที่ผิวหนัง
มลพิษเป็นปัญหาสำคัญของทวีปเอเชีย โดยมลพิษอาจจะผ่านผิวหนังหรือเกิดจากการสูดดม เมื่อผิวหนังสัมผัสมลพิษ จะทำให้เกิดการสร้างอนุมูลอิสระและการลดลงของสารต้านอนุมูลอิสระที่ผิวหนัง เช่น วิตามินซี วิตามินอี การสัมผัสสาร PM 2.5 จะเพิ่มความชราของผิวหนัง ได้แก่ รอยย่น กระดำ และลดการซ่อมแซมของผิวหนัง
การรักษาหลัก คือ ลดการกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก 6 ประการและการลดความแห้งของผิวหนัง โดย 1.ลดการใช้น้ำร้อนและอุ่นจัดในการอาบน้ำ 2.ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดควรเลือกที่มีความเป็นด่างน้อย ค่า pHประมาณ 5-6 มีความชุ่มชื้นหลังจากล้างออก เป็นสบู่สังเคราะห์ก้อนหรือเหลวก็ไม่แตกต่างกัน แต่ไม่มีความจำเป็นต้องมีสารประกอบเป็นพิเศษหรือมีราคาสูง หากไม่สามารถหาได้สามารถใช้สบู่ทั่วไปแต่ฟอกบริเวณ มือ เท้า รักแร้ ใต้ร่มผ้า เท่านั้น แต่งดบริเวณ แขน ขา ลำตัว ซี่งการใช้เพียงน้ำเปล่าล้างก็สะอาดเพียงพอแล้ว 3.ทาสารให้ความชุ่มชื้น เช่น โลชั่น ครีม น้ำมัน หรือขี้ผึ้งทันทีหลังอาบน้ำไม่นานกว่า 5 นาที เลือกให้เหมาะสมกับฤดูกาล เช่น ฤดูร้อนควรใช้โลชั่น ฤดูหนาวควรใช้ครีมหรือน้ำมัน ความถี่อย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน โดยในช่วงที่มีอากาศหนาวและแห้งควรทาครีมทุก 4 ชม. และควรใช้ผ้าชุบน้ำประคบผิวก่อนทาครีมทุกครั้งหากไม่ได้ทาทันทีหลังอาบน้ำ 4.เลือกสวมเสื้อผ้าที่เหมาะกับอากาศ และ 5.หากมีอาการคันร่วมด้วย มักจะพบบริเวณหน้าแข้งหรือลำตัวบริเวณสะโพก ควรทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้นทุก 4 ชม. หากไม่ดีขึ้นอาจพิจารณาเปลี่ยนเป็นขี้ผึ้งหรือน้ำมัน และ 6. หากผื่นคันไม่ดีขึ้นหลังเปลี่ยนวิธีอาบน้ำและทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้นแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เนื่องจากอาการคันที่ผิวหนัง นอกจากปัญหาความแห้งของผิวหนังแล้ว อาจเกิดจากยาที่รับประทานหรือโรคภายในร่างกาย เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ ได้
สำหรับปัญหาที่ผู้ป่วยหลายๆ คน มักจะเป็นกังวล คือ มะเร็งผิวหนัง ซึ่งพบได้บ่อยมากในชาวตะวันตก โดยเฉพาะผู้ที่ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น อาบแดด แต่สำหรับคนไทยหรือคนเอเชียทั่วไป ปัญหามะเร็งผิวหนังพบอุบัติการณ์ที่ต่ำมากเนื่องจากคนไทยมีผมดำ ตาดำ มีเมลานินช่วยในการกรองแสงแดดและไม่ชอบกิจกรรมกลางแจ้งหรือผิวสีแทน นอกจากนี้ผิวหนังเป็นอวัยวะที่อยู่ภายนอกสุด จึงสามารถมองเห็นรอยโรคได้รวดเร็วและชัดเจน กว่ามะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ
สำหรับมะเร็งผิวหนังมี 3 ชนิด มักพบบริเวณผิวหนังที่ถูกแสงแดดเสมอ เช่น ใบหน้า ริมฝีปากล่าง แขนด้านนอก หน้าอก หลัง ชนิดที่ 1. พบได้มากที่สุด เกิดจากเซลล์ผิวหนังล่างสุดของหนังกำพร้า เรียกว่า Basal Cell Carcinoma ลักษณะเป็นตุ่มแข็งสีเหมือนผิวหนังหรือสีดำ โตช้า หากมีขนาดใหญ่อาจมีแผลตรงกลาง ชนิดที่ 2. เกิดจากผิวหนังชั้นหนังกำพร้าส่วนบน เรียกว่า Squamous Cell Carcinoma อาจมีลักษณะเป็นตุ่มนูนหรือเป็นแผลตื้นขยายออกช้าๆ ชนิดที่ 3. เกิดจากเซลล์สีดำหรือไฝขนาดใหญ่ที่มีมาแต่กำเนิด เรียกว่า Melanoma เป็นชนิดที่มักกระจายได้เร็วจึงอันตรายกว่า 2 ชนิดแรก และพบได้น้อยที่สุดในมะเร็งผิวหนังทั้งหมด คนไทยพบประมาณ 0.5 คนต่อประชากร 100,000 คน มักพบบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซอกนิ้ว ใต้เล็บ
ดังนั้นหากมีตุ่มนูนหรือแผลเรื้อรังนานกว่า 6 เดือน ควรมาพบแพทย์และหากมีไฝหรือจุดดำบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซอกนิ้ว ขนาดใหญ่กว่า 0.5 ซม. ควรมาพบแพทย์เช่นกัน
A5325
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ