- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Saturday, 11 July 2020 10:56
- Hits: 1667
สปสช.แจงเอาผิด 18 คลินิก ‘แจ้งความ-เพิกถอน-ริบเงินคืน’ พร้อมตั้งกรรมการสางปัญหาทุจริตเบิกจ่าย
สปสช.แถลงกรณีทุจริต 18 คลินิก ระบุไทมไลน์ดำเนินเรื่องทันทีตั้งแต่ตรวจพบ ระงับการเบิกจ่าย-สอบเอกสารกว่า 2 แสนฉบับ ล่าสุดแจ้งความดำเนินคดีอาญา-ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการ เตรียมมาตรการรองรับประชาชนกว่า 2 แสนคนไม่กระทบสิทธิบัตรทอง พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบปัญหาการทุจริต
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยในการแถลงข่าวเรื่อง บอร์ด สปสช. ตั้งคณะกรรมการสางปัญหา ‘18 คลินิก ทุจริตเบิกเงินคัดกรองโรคกองทุนบัตรทอง’ เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2563 ตอนหนึ่งว่า กรณีการตรวจพบการทุจริตของคลินิกทั้ง 18 แห่งนั้น เกิดขึ้นจากระบบตรวจสอบการเบิกจ่าย หรือ audit ของ สปสช. ที่ให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นใจกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งในด้านระบบบริการและระบบบริหารจัดการ
สำหรับ กรณีดังกล่าว สปสช.ได้มีการตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่วันที่ 14-15 ส.ค. 2562 และได้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการทางการทันที โดยวันที่ 26 ก.ย. 2562 คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีมติระงับการจ่ายเงินและขยายผลการตรวจสอบเพิ่มเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจากการตรวจเอกสารกว่า 2 แสนฉบับ พบว่ามีการเบิกจ่ายไม่น่าเชื่อถือรวมกว่า 74.39 ล้านบาท ในช่วงวันที่ 29-30 ต.ค. 2562
ขณะเดียวกัน เรื่องได้ผ่านการพิจารณามาเป็นลำดับชั้น จนในที่สุดวันที่ 1 เม.ย. 2563 คณะอนุกรรมการพิจารณาหักค่าใช้จ่าย ได้มีมติ 6 ข้อ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการทั้งในส่วนของการเรียกเงินคืน แจ้งความดำเนินคดี รวมถึงยกเลิกสัญญากับหน่วยบริการทั้งหมด
“กระบวนการอย่างเป็นทางการได้เริ่มต้นตั้งแต่หลังตรวจเจอ และมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ โดยคณะกรรมการหลายคณะที่มีองค์ประกอบหลากหลายภาคส่วนในการดูแล จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการประวิงเวลาใดๆ ซึ่งการดำเนินงานจะต้องให้ความรอบคอบ โดยเฉพาะการดำเนินคดีทางกฎหมาย และในวันนี้ก็ได้ดำเนินการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า พร้อมกันนี้ยังได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้น โดยมีอัยการเป็นประธาน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายเป็นกรรมการ เพื่อให้ตรวจสอบปัญหาในกระบวนการที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อยกเลิกการเป็นหน่วยบริการแล้ว สปสช.ยังได้มีการเตรียมรองรับประชาชนที่ใช้บริการอยู่เดิมไปยังหน่วยบริการอื่น โดยไม่ให้มีความเดือดร้อนอีกด้วย
นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการจัดสรรงบประมาณของ สปสช. มีกระบวนการกำกับดูแล โดยหน่วยบริการจะต้องเก็บเอกสารหลักฐานไว้เพื่อตรวจสอบทั้งในด้านคุณภาพและการเบิกจ่ายชดเชย ขณะเดียวกันก็มีการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อความสะดวกในการเบิกจ่ายเงินชดเชย
ทั้งนี้ สปสช. ได้มีกระบวนการตรวจสอบถึง 3 ขั้นตอน โดยขั้นแรกคือการใช้โปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ในการตรวจความถูกต้องของข้อมูล หากประมวลผลแล้วตรงกับเงื่อนไข ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากถูกต้องก็จะมีการจ่าย แต่หากพบว่าไม่สมเหตุสมผลก็จะไม่จ่าย หลังจากนั้นก่อนที่จะโอนเงิน ก็จะมีขั้นตอนการตรวจสอบก่อนโอนอีกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าการจ่ายนั้นถูกต้อง
“งบกองทุนหลักประกันสุขภาพนั้นมาจากภาษีประชาชน เราตระหนักดีถึงความสำคัญในการควบคุมการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรณีการทุจริตที่เกิดขี้นนั้น มีเจตนาทำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อหวังการจ่ายเงินชดเชย จึงตรวจสอบโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ แต่ สปสช. ยังมีระบบ audit หรือระบบการตรวจสอบบัญชีในการเรียกตรวจสอบเอกสารเป็นประจำทุกปี” นพ.การุณย์ กล่าว
นพ.การุณย์ กล่าวว่า ระบบ audit การจ่ายเงินจะมีใน 2 รูปแบบ คือ การสุ่มตรวจประมาณปีละ 3-5% กับอีกรูปแบบคือการเลือกตรวจหน่วยบริการที่เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งจากการ audit ทำให้พบกับคลินิกทั้ง 18 แห่ง ที่มีการทำข้อมูลน่าสงสัยว่าจะไม่ใช่ข้อเท็จจริง และมีการตกแต่งข้อมูลเพื่อส่งเบิก จึงได้มีการขยายผลตรวจสอบเอกสารราว 2 แสนฉบับ จนพบว่ามีความผิดปกติจริง
นพ.การุณย์ กล่าวอีกว่า ในการ audit ทุกปี จะมีการพบข้อมูลความผิดพลาด 2 ลักษณะ คืออาจเกิดจากความประมาทเลินเล่อ โดยไม่ตั้งใจ ซึ่งจะต้องมีการเรียกมาทำความเข้าใจก่อนเรียกเงินคืน กับอีกกรณีคือมีเจตนาทุจริต หรือกระทำผิดซ้ำ ซึ่งในกรณีนี้นับเป็นข้อหาร้ายแรง ดังนั้นทาง สปสช.จะต้องมั่นใจว่าเกิดจากการทุจริตจริง โดยมีกระบวนการจัดการเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การเรียกเงินคืนทั้งหมด ดำเนินแจ้งความทางอาญา เพิกถอนหน่วยบริการ ยกเลิกสัญญา รวมถึงส่งเรื่องให้กับสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อดำเนินการทางจรรยาบรรณในวิชาชีพต่อไป
“สิ่งสำคัญคือต้องแยกว่ามีเจตนาหรือไม่ ฉะนั้นจึงจะเห็นได้ว่าในระบบมีการตรวจสอบทั้งก่อนจ่าย และหลังจ่ายก็ยังมีการตามไปตรวจ ซึ่งที่ผ่านมาในกรณีงบส่งเสริมป้องกันโรคนั้นมีการให้บริการเป็นจำนวนมาก จึงอาจเป็นช่องทางการทุจริตได้ ดังนั้นในอนาคตจะมีการวางแผนให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยนอกจากการ audit แล้ว ยังจะต้องมีการพิสูจน์ยืนยันตัวตนก่อนเข้ารับบริการ หรือการใช้ Digital ID ต่างๆ ขณะนี้ได้มีการนำร่องแล้วร่วมกับธนาคารกรุงไทย และโรงพยาบาลศิริราช หากประสบผลสำเร็จก็จะนำมาขยายผลสู่ทั้งประเทศ เพื่อให้การบริหารงบกองทุนนั้นมีประสิทธิภาพ ไม่รั่วไหล” นพ.การุณย์ กล่าว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ