- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Friday, 05 June 2020 11:34
- Hits: 1306
เปิดผลโพลชี้ประชาชนอยากให้ผ่อนปรน แต่ก็กังวลโควิด–19 ระบาดรอบ 2
แนะทุกภาคส่วนเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตวิถีใหม่สังคมไทยเข้มแข็ง
ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลผ่อนปรนการเปิดกิจการ ในขณะเดียวกันกว่า 50% ก็ยังมีความกังวลเรื่องการออกนอกบ้าน หลังรัฐคลายมาตรการล็อคดาวน์ หวั่นโควิด–19 ระบาดรอบ 2 กรมควบคุมโรคเตือน “การ์ดอย่าตก” แนะ 5 มาตรการ “ทำความสะอาดพื้นที่–สวมหน้ากาก–ล้างมือ–เว้นระยะห่าง–ลดแออัด” ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคเปรียบโควิด–19 เป็นซีรีส์ยาวไม่ต่ำกว่า 1 ปี จี้ทุกภาคส่วนรับมืออย่างรอบคอบ พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) สังคมไทยเข้มแข็ง
ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ ในช่วงเดือนเมษายน–พฤษภาคม 2563 จำนวน 3,127 ราย ที่มีต่อการเปิดเมืองหรือการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ให้กิจการและกิจกรรมต่างๆ กลับมาดำเนินการ โดยพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลผ่อนปรนให้เปิดกิจการให้มากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีข้อกังวลในประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.เมื่อผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์และมีการเดินทางเคลื่อนย้ายของคนจำนวนมากอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 อีกครั้ง 51.1% 2.การแพร่ระบาดของโรคอาจเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง 43.8% 3.ไม่มั่นใจมาตรการป้องกันโรคของสถานประกอบการต่างๆ ว่ามีความปลอดภัยเพียงพอ 34.1% 4.ความยากลำบากในการหางานใหม่หรืออาชีพใหม่ 23.7% 5.ขาดความรู้ที่เพียงพอต่อการป้องกันตนเอง 19.5% และ 6.การขาดข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่หรือจุดที่ปลอดภัย 13.7%
สำหรับการเตรียมตัวของสถานประกอบการและสถานที่ทำงานประเภทต่างๆ ที่ให้ข้อมูล พบว่า 1.จัดให้มีเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อโรค 76.1% 2.ให้พนักงานหรือผู้มารับบริการนั่งโต๊ะเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1–2 เมตร 64.8% 3.พนักงานทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 64.7% 4.มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิ 57.4% 5.ลดความหนาแน่นของผู้มารับบริการหรือคนทำงาน 56% และ 6.ทำความสะอาดโต๊ะ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่มีคนหมุนเวียน 51% ทั้งนี้ พบว่า ผู้ใช้บริการ ต้องการให้สถานประกอบการจัดมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้น เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการได้
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์ตอนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด–19 รายใหม่ในบางวันเป็นจะเป็นศูนย์บ้าง หรือ 1–2 คนบ้าง แต่สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ อาจจะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการแฝงอยู่ ถึงแม้ว่าจะไม่มากก็ตาม แต่ก็มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นการ์ดอย่าตก ด้วยการปฏิบัติตามหลักการสำคัญ 5 ข้อในการควบคุมโรค คือ 1.การทำความสะอาดพื้นที่และจุดสัมผัส 2.สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า 3.ล้างมือบ่อยๆ 4.เว้นระยะห่าง และ 5.ลดความแออัด ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนดอย่างเข้มข้น ในขณะที่ประชาชนต้องปฏิบัติตามคำแนะนำในการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด การ์ดอย่าตก เพื่อที่จะอยู่กับโควิด–19 ให้ได้ และเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ด้วย
ด้านนพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคระบาด กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด–19 ส่งผลให้ประเทศส่วนใหญ่เกือบทั่วโลกใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ทุกประเทศพยายามหาทางที่จะหลุดออกจากปัญหา รวมทั้งประเทศไทยที่ใช้มาตรการกึ่งล็อคดาวน์ มีคนตกงานมากกว่า 10 ล้านคน หนี้สินเพิ่มขึ้น และธุรกิจขาดสภาพคล่อง โดยเริ่มให้ผู้ประกอบการกลับมาดำเนินกิจกรรมและกิจกรรมเพื่อเปิดเมืองด้วยการใช้มาตรการควบคุม หรือการผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ 4 ระยะ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม–มิถุนายน 2563
“ถ้ามองในด้านสุขภาพ โควิด–19 ไม่ใช่ภาพยนตร์หรือหนังสั้น แต่เป็นซีรีส์เรื่องยาวอย่างน้อย 1 ปี และจะจบได้ก็ต่อเมื่อมียารักษา มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ หรือเกิดการติดเชื้อธรรมชาติประมาณ 60% ซึ่งจะทำให้เกิดภูมิต้านทาน พยายามให้การแพร่เชื้ออยู่ในระดับต่ำคือ แพร่ระบาดในบางกลุ่ม หรือบางพื้นที่ แต่สามารถควบคุมได้ ซึ่งผู้เขียนบท ผู้กำกับการแสดง และนักแสดงเรื่องโควิด–19 คือคนไทยทั้ง 68 ล้านคนว่าอยากเห็นประเทศเป็นอย่างไร มีฉาก มีตอนที่ต้องกำกับให้ดี เช่น คนไทยที่เดินทางกลับเข้าประเทศ ฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ช่วงเดือนมิถุนายน–กันยายน การผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ระยะที่ 4 ซึ่งเป็นกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สถานบันเทิง สนามพนัน รวมถึงการเปิดภาคเรียน เปิดการท่องเที่ยวที่ทำให้ผู้คนมาเจอกันมากขึ้น ดังนั้นต้องวางแผนรับมือให้ดี โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างและใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ New Normal และเมื่อผ่านวิกฤตนี้ไปได้ สังคมไทยจะเข้มแข็ง ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นพ.คำนวณ กล่าว
AO6092
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web