- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Friday, 15 May 2020 15:52
- Hits: 939
แพทย์ แนะรัฐเร่ง ‘สร้างเศรษฐกิจด้วยการแพทย์’ หลังจบโควิด-19
ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์อย่างครบวงจร
สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 แม้จะทำให้ประเทศไทยบอบช้ำ ระบบเศรษฐกิจเสียหายถึงขั้นรุนแรงที่สุดเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก จนเปรียบเสมือนสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่...ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติที่ท้าทายครั้งนี้ได้พิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นว่า “ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุข การแพทย์ การพยาบาลและการดูแลรักษาที่ดีที่สุด” เป็นอันดับสองรองจากจีน จนกลายเป็นประเทศเป้าหมายของบรรดามหาเศรษฐี และนักธุรกิจจากทั่วโลกที่ต้องการย้ายเข้ามาพำนักหลังจบสถานการณ์โควิด-19
อดีตนายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย แนะรัฐควรเร่ง “สร้างเศรษฐกิจด้วยการแพทย์” มุ่งส่งเสริม “กลุ่มธุรกิจบริการด้านการแพทย์” จุดแข็งใหม่ที่ทั่วโลกกำลังจับตาจาก “Medical standard” สู่ “ Medical Business” อย่างเป็นรูปธรรมและสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical technology industrial) อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ อาหารเสริม รวมถึงเครื่องสำอาง เพื่อกู้วิกฤติเศรษฐกิจและยกระดับประเทศให้ก้าวสู่การเป็น “อุตสาหกรรมการแพทย์อย่างครบวงจร”
นายแพทย์ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งอาเซียน และอดีตนายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยมีระบบการแพทย์ที่ดี มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติมานาน แต่ขาดการส่งเสริมด้านการตลาด การทำให้เป็นธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น Medica hub, Surgery hub, Medical tourism หรือ Heath & wellness ฯลฯ โดยพัฒนาควบคู่ไปกับการสร้างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการแพทย์ (Medical technology industrial) อุตสาหกรรมยา เวชภัณฑ์ อาหารเสริม รวมถึงเครื่องสำอาง เพื่อเป็นการสร้างอุตสาหกรรมการแพทย์อย่างครบวงจร ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศแล้ว ในอนาคตยังสามารถส่งออกสินค้าเหล่านี้เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางด้วย
ทั้งนี้ อดีตนายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย ได้แนะแนวทางการสร้างเศรษฐกิจด้วยการแพทย์ เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าหลังยุคโควิด-19 ไว้ดังนี้
1. พัฒนาจาก Medical standard ให้เป็น Medical Business พร้อมส่งเสริมแนวทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศให้กับธุรกิจบริการทางการแพทย์ เพื่อประกาศจุดแข็งของวงการแพทย์ไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ ทั้งด้าน การรักษาโรค การดูแลสุขภาพและผู้สูงอายุ รวมถึง ด้านศัลยกรรมตกแต่งความงาม หนึ่งในธุรกิจบริการทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงของไทย จากข้อมูลการสำรวจความนิยมการทำศัลยกรรมทั่วโลก ของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ หรือ ISAPS ปี 2018 พบว่าประเทศไทยติดอันดับ Top 10 และครองแชมป์ประเทศที่มีชาวต่างชาติเข้ามาทำศัลยกรรมมากที่สุดในโลก โดยตลาดศัลยกรรมความงามของไทยมีมูลค่าสูงถึง 45,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่ารวมของตลาดศัลยกรรมทั่วโลก 21 ล้านล้านบาท และปี 2019 ที่ผ่านมาคาดการณ์ว่าตลาดศัลยกรรมความงามในประเทศไทยเติบโตสูงขึ้น และมีมูลค่าประมาณ 55,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นหนึ่งในธุรกิจสำคัญที่มีช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย
2. พัฒนาต่อยอดด้านอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ เพื่อให้สามารถผลิตได้ตั้งแต่ต้น-ปลายน้ำ ส่งเสริมด้านการศึกษาวิจัยเพื่อผลิตยา วัคซีนและเวชภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความจำเป็นและมีราคาแพง เพื่อลดการนำเข้าจากประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศในกรณีที่เกิดวิกฤติการแพร่เชื้อโรคร้ายแรงต่างๆ ในอนาคต
3. ส่งเสริม และพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (Cosmetic Products) และผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพ เช่น อาหารเสริม อาหารบำรุงสุขภาพ ให้เป็นสินค้าขึ้นชื่อของประเทศ เพื่อรองรับทั้งตลาดผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว
4. พัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ (medical technology industrial) ทุกๆ ปีประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ ด้วยมูลค่าสูงถึง 60,000-70,000 ล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ที่มีนวัตกรรมและผลิตโดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เช่น กล้อง เครื่อง MRI เครื่อง CT Scan และหุ่นยนต์ผ่าตัด ฯลฯ ขณะที่อุตสาหกรรมด้านเครื่องมือแพทย์ของไทยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีความสามารถในการผลิตและส่งออกได้เฉพาะเครื่องมืออุปกรณ์พื้นฐานและวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ เช่น หลอดฉีดยา เข็มฉีดยา สายยาง ถุงมือยาง น้ำยาทดสอบกรุ๊ปเลือด การตั้งครรภ์ ชุดน้ำยาล้างไต ชุดตรวจการติดเชื้อ HIV และครุภัณฑ์การแพทย์ เช่น หีบและชุดปฐมพยาบาล รถเข็นผู้ป่วย เตียงคนไข้ อุปกรณ์และเครื่องใช้ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศัลยกรรม ทันตกรรม เครื่องวินิจฉัยโรคด้วยไฟฟ้า และเครื่องเอกซเรย์ เป็นต้น
ดังนั้นการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จึงเป็นการสร้างรากฐานความแข็งแกร่งให้กับการแพทย์ของไทย รวมทั้งลดการนำเข้าสินค้าราคาแพงจากต่างประเทศได้อีกด้วย
5. ส่งเสริมให้ไทยเป็น Medical Hub และ Surgery Hub อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม พร้อมทำการตลาดอย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น Medical Tourism, Heath & wellness Tourism หรือ Surgery Tourism ฯลฯ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและกระจายไปสู่ธุรกิจต่างๆ มากที่สุด เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติที่มีศักยภาพทางการเงินสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป ดังนั้นการดึงชาวต่างชาติกลุ่มนี้เข้าในประเทศ จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญ
#การพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์อย่างครบวงจร คือการพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
AO5303
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web