- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Wednesday, 06 May 2020 20:56
- Hits: 1407
ฟีโบ้ มจธ. ส่งมอบ มดบริรักษ์ ชุดแรก
ประจำการช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วย COVID-19
ณ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยมิตร ศรีธราคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ นายแพทย์ไพโรจน์ บุญคงชื่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ รับมอบ “มดบริรักษ์” ชุดระบบหุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นประธานในการส่งมอบ พร้อมชมการสาธิตการทำงานของนวัตกรรมชุดระบบหุ่นยนต์ฯ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา หัวหน้าโครงการมดบริรักษ์ และทีมพัฒนา
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อ “มดบริรักษ์” ให้กับหุ่นยนต์ FIBO AGAINST COVID-19: FAC ชุดระบบหุ่นยนต์บนแพลตฟอร์ม การควบคุมที่พัฒนาโดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับภาคเอกชน ด้วยความตั้งใจที่ต้องการนำหุ่นยนต์ให้ทีมแพทย์ พยาบาล ใช้สนับสนุนการตรวจรักษาผู้ป่วยที่พักรักษาตัวด้วยโรค COVID-19 และพบปัญหาด้านการสื่อสารและการเข้าให้การดูแล
ศ. นพ.ปิยมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงว่า ทางคณะได้จัดตั้งศูนย์เพื่อทำการดูแลรักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 โดยเฉพาะตึกสถาบันแห่งชาติรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ สืบเนื่องมาจากอัตราการระบาดของโรคในระยะเริ่มแรกที่มักเกิดขึ้นภายในโรงพยาบาล และส่งผลให้ผู้ป่วยเรื้อรังโรคอื่นๆ ได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นการจัดพื้นที่จำเพาะจึงสำคัญอย่างยิ่งที่จะสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อเป็นวงกว้างได้ การได้รับการสนับสนุนระบบหุ่นยนต์มดบริรักษ์ถือเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์อย่างมหาศาล เนื่องจากสามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและลดการใช้ทรัพยากรในการป้องกันลงได้ อีกทั้งระบบหุ่นยนต์ฯ ได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนงานทางการแพทย์ในบริบทต่างๆ ตามการใช้งาน
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า มจธ. เข้าใจถึงปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรค COVID-19 จึงพยายามที่จะใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นแนวหน้าในการรับมือกับการระบาดของโรคนี้อย่างเต็มกำลัง นำไปสู่การพัฒนาเป็นระบบหุ่นยนต์มดบริรักษ์นี้ขึ้นมา และขอขอบคุณทางโรงพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ ที่ได้ร่วมมือกันทำงาน และในอนาคตได้มีการวางแผนที่จะนำพิมพ์เขียว หรือ Engineering Drawing ให้กับภาคเอกชนดำเนินการต่อเพื่อเป็นการกระจายความช่วยเหลือให้ได้มากยิ่งขึ้น
รศ. ดร.ชิต เหล่าวัฒนา หัวหน้าโครงการมดบริรักษ์ ได้อธิบายถึงภาพรวมระบบหุ่นยนต์มดบริรักษ์ ว่าหุ่นยนต์ในชุดระบบฯ มีด้วยกัน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย
(1) CARVER เป็น Automated Guided Vehicle (AGV) ทำหน้าที่ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วย พร้อมฟังก์ชั่นฟอกอากาศและฆ่าเชื้อไวรัสตลอดการปฏิบัติงานผ่านอุปกรณ์ Hydroxyl Generator
(2) SOFA หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ ซึ่งแพทย์สามารถควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลางให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมาย สามารถแสดงข้อมูลการรักษาหรือผลการตรวจที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบของโรงพยาบาล และสามารถ video call สนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยได้แบบ real time และ
(3) Service Robot หุ่นยนต์บริการเฉพาะจุด สามารถเคลื่อนที่ได้อัตโนมัติโดยการควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลาง ส่งยาและอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษ และผู้ป่วยสามารถพูดกับหุ่นยนต์เพื่อเรียกแพทย์หรือพยาบาลได้ผ่าน video call
โดยหุ่นยนต์ทั้ง 3 รูปแบบ จะจัดเก็บข้อมูลบนแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นโดยฟีโบ้
สำหรับโรงพยาบาลที่จะทำการติดตั้งชุดระบบหุ่นยนต์ฯ ในลำดับต่อไป ได้แก่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลในพื้นที่อีอีซี อีก 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพุทธโสธร โรงพยาบาลบางละมุง โรงพยาบาลชลบุรี และโรงพยาบาลระยอง (ในเดือนมิถุนายน) พร้อมกันนี้ ฟีโบ้จะเผยแพร่แบบพิมพ์เขียว Engineering Drawing ให้กับบริษัทเอกชน ในสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (Thai Automation and Robotics Association: TARA) เพื่อผลิตตามความต้องการของโรงพยาบาลต่างๆ ต่อไป
ในอนาคตฟีโบ้วางแผนนำเทคโนโลยี 5G มาเสริมความสามารถของชุดหุ่นยนต์โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มบนคลาวด์ ทำการต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพ อาทิ พัฒนาระบบ Teleconference ระบบบันทึกภาพ ควบคุมบริหารจัดการหุ่นยนต์จากส่วนกลางบนคลาวน์ นอกจากนี้มีแผนพัฒนาระบบ IoT กับอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพ เพื่อใช้ในการบันทึกสัญญาณชีพ และจัดทำเป็นระบบวิเคราะห์ด้วย AI ซึ่งจะต่อโดยตรงกับ Genomics Platform ในพื้นที่อีอีซี
นายแพทย์ไพโรจน์ บุญคงชื่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยระบบหุ่นยนต์มดบริรักษ์ที่ได้รับมอบจาก มจธ. ทางโรงพยาบาลจะทำการนำมาทดลองใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งตัวบุคลากรและผู้ป่วย
AO5080
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web