WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaaDเอนก มุ่งอ้อมกลาง

รัฐบาลจัด State / Local Quarantine กว่า 1,200 แห่งกักสังเกตอาการผู้กลับจากต่างประเทศ 14 วัน

     รัฐบาลไทย จัดพื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ (State Quarantine/ Local Quarantine) สังเกตอาการผู้เดินทางกลับต่างประเทศเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน รวม 1,206 แห่งทั่วประเทศ ป้องกันการแพร่กระจายโรคโควิด-19

     ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กล่าวว่า รัฐบาล ให้ความสำคัญในการป้องกันควบคุมการแพร่กระจายโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ได้มอบให้กระทรวงกลาโหม มหาดไทย และสาธารณสุข ร่วมกันจัดพื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ (State Quarantine/ Local Quarantine) เป็นสถานที่สำหรับเฝ้าสังเกตอาการผู้ที่กักกันโรคหลังจากกลับจากการเดินทางต่างประเทศเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน

โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงกลาโหม ดูแล State Quarantine ในกทม. และร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดเป็น Local Quarantine ในต่างจังหวัด ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ปัจจุบัน มี state Quarantine ที่มีผู้เข้าพักจำนวน 10 แห่ง ใน กทม. และ 4 แห่งที่ต่างจังหวัด คือ จังหวัดชลบุรี และนครปฐม จนถึงปัจจุบันมีผู้ถูกกักกันเข้าพักสังเกตอาการสะสม 1,478 คน พบการติดเชื้อ 9 ราย ส่วน Local Quarantine มีจำนวน  1,192  แห่งกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีผู้ถูกกักกันรวม 3,506 ราย พบการติดเชื้อ 62  ราย

          สำหรับ แนวทางการดำเนินงานใน State Quarantine กระทรวงกลาโหม เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และมีบุคลากรจากกรมควบคุมโรคเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านการป้องกัน ควบคุมโรค เฝ้าระวังติดตามอาการ และคัดกรองผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค ภายใต้การสั่งการจากผู้บัญชาการเหตุการณ์และหัวหน้าทีม รวมทั้งกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต และกรมอนามัย ให้การสนับสนุนบุคลากรร่วมดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ผู้กักกันโรคจะได้รับการดูแลจากทางเจ้าหน้าที่ ตรวจเช็คสุขภาพประจำวัน มีทีมให้คำแนะนำและประสานงานตลอด 24 ชั่วโมง ณ สถานที่กักกันนั้นๆ และจะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการภายในวันที่ 5-7 ของการเฝ้าระวัง หากตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด 19 หรือมีอาการป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) จะถูกส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดต่อไป

      ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เป็นศูนย์กลางบริหารเหตุการณ์พื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) และทำหน้าที่ฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่จะไปประจำการ เพื่อให้การดำเนินงานด้านการป้องกันควบคุมโรคเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์สถานที่กักกันโรคฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  

กรมควบคุมโรค ใช้แอปฯ DDC-Care ของ สวทช. อว. ติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด - 19 ป้องกันคนไทย เพื่อคนไทย

      ในปี 2563 มีเหตุการณ์ต่างๆ มากมายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาฝุ่น PM2.5 หรือแม้กระทั่งไฟป่าที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไม่น้อย แต่หนึ่งเหตุการณ์ที่มีผลกระทบกันทั้งโลกคงหนีไม่พ้น การระบาดของโรคอุบัติใหม่ ที่รู้จักกันดีในชื่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือไวรัสโควิด-19 ที่คร่าชีวิตของผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 8 หมื่นราย และส่งผลมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจและเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก

       ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตัวเลขของผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 2,862 ราย เสียชีวิตแล้วกว่า 49 ราย (โดยข้อมูล ณ วันที่ 22 เมษายน 2563) ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อรวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับมือในการเฝ้าระวังผู้มีความเสี่ยงไม่ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานอย่างหนัก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เข้ามาช่วยคัดกรองผู้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ กรมควบคุมโรค สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาแอปพลิเคชัน DDC-Care: ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด -19 และเริ่มใช้งานจริงที่สถาบันบำราศนราดูรที่แรก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

      ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า DDC-Care เป็นระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด -19 ซึ่งจะต้องกักตัวเองอยู่ภายในที่พักอาศัยเป็นระยะเวลา 14 วัน ซึ่งกรมควบคุมโรคจะประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลสุขภาพที่ได้จากระบบ เพื่อให้คำแนะนำและช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเมื่อมีอาการ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มาตรวจที่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลพิจารณาว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง จะได้รับคำแนะนำให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน DDC-Care กลุ่มที่ 2 คือผู้ป่วยที่เดินทางเข้ามาตรวจและผลตรวจออกเป็น Positive และกลุ่มผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น ญาติที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน จะได้รับคำแนะนำให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน DDC-Care เพื่อติดตามประเมินสุขภาพตลอด 14 วัน

ทั้งนี้ ต้องรายงานสุขภาพทุกวัน ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้นำมาใช้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วที่สถาบันบำราศนราดูร และในส่วนภูมิภาคสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ได้ดำเนินการระดับจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ  ได้แก่ สคร. 2 (พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย) สคร. 8 (อุดรธานี บึงกาฬ) ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยเจ้าหน้าที่ของกรมฯ จะทำการส่ง link ผ่านทาง SMS ซึ่งจะต้องมีการสมัครและ Log in เข้าไปใช้งาน กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจะต้องรายงานสุขภาพให้กับกรมฯ ได้ทราบในทุกวัน ปัจจุบันได้ส่งแอปฯ ให้กับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงฯ จำนวน 1,305 ราย และมีผู้ที่ความเสี่ยงมากกว่า 495 ราย ได้รายงานผลของสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ณ ปัจจุบัน ในระบบ Dashboard ซึ่งแอป DDC-Care นี้รองรับ 3 ภาษา (ไทย อังกฤษ และจีน)

      สำหรับ แอปพลิเคชัน DDC-Care มีวัตถุประสงค์อยู่สองประการคือ ประการแรกจะมีการปักหมุดบริเวณที่คุณจะกักตัวในระยะเวลา 14 วัน ว่าคือบริเวณใด ระบบจะส่งสัญญาณติดตามทุกๆ 10 นาที ด้วยการส่ง Location เพื่อยืนยันว่าคุณอยู่ในบริเวณที่กักตัวจริง  ถ้าออกนอกบริเวณในระยะ 50 เมตร ระบบจะขึ้นเตือนว่าคุณออกนอกบริเวณที่กักตัว และส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่รับทราบได้เช่นกัน ประการที่ 2  ในระยะ 14 วัน ทางกรมควบคุมโรค ต้องการให้บุคคลที่มีความเสี่ยงตรวจเช็กและประเมินสุขภาพตนเอง

โดยจะมีรายละเอียดของคำถาม เช่น วัดอุณหภูมิได้เท่าไร มีอาการเจ็บคอ หรือไอบ้างไหม เป็นต้น เมื่อได้รับข้อมูลจะประเมินผล หากมีความเสี่ยงสูงว่าจะติดเชื้อโควิด -19 ทางกรมฯ ก็จะติดต่อกลับไป เพื่อช่วยเหลือในขั้นตอนอื่นต่อไป สำหรับในส่วนของข้อมูลที่กรอกเข้าระบบนั้น ข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับ และผู้ที่เข้าใช้ข้อมูล จะมีเพียงโรงพยาบาล ซึ่งจะเห็นแค่ข้อมูลคนไข้ของตนเองเท่านั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะเห็นเฉพาะผู้มีความเสี่ยงที่อยู่ในจังหวัด สำนักของกรมควบคุมโรคที่มี 13 เขตทั่วประเทศ จะเห็นข้อมูลแค่ในเขตของตนเอง และสุดท้ายคือ กรมควบคุมโรค ที่จะเห็นข้อมูลตรงนี้เพื่อจะได้บริหารจัดการรับมือการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ดร.จุฬารัตน์ กล่าวเพิ่มเติม

               นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธาณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคโควิด – 19 โดยมุ่งเน้นเป้าหมายสำคัญเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน ลดการแพร่ระบาด  ลดความสูญเสียทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และอาจรวมไปถึงเรื่องความมั่นคงของประเทศด้วย กรมควบคุมโรคให้ความสำคัญเรื่องของการติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงสูงไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือผู้ที่สัมผัสจากตัวผู้ป่วยโดยตรงเป็นเรื่องที่ต้องทำ ถือเป็นมาตรการทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดที่จะช่วยตัดวงจรการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19  ซึ่งในส่วนของการติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก

ในอดีตเราใช้วิธีการส่งบุคลากรเข้าไปตรวจสอบผู้ที่มีความเสี่ยงถึงที่พักอาศัยเพื่อสอบถามอาการ และตรวจสอบว่ามีการเดินทางออกนอกที่พักหรือไม่ ซึ่งมีข้อเสียคือ ไม่สามารถทำได้หลาย ๆ ครั้งใน 1 วัน ฉะนั้นการมีแอปพลิเคชันนี้ถือว่าช่วยได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการสื่อสารทั้ง 2 ทาง โดยที่ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถสอบถามข้อมูลและแจ้งอาการกับเจ้าหน้าที่เวลาใดก็ได้ ส่วนเจ้าหน้าที่ก็สามารถติดตามและเก็บข้อมูลได้ตลอดเวลา

               DDC-Care เป็นเพียงหนึ่งผลงานที่เกิดจากการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ แม้ว่าในปัจจุบันการระบาดของไวรัสโควิด – 19 จะยังไม่มีแนวโน้มว่าจะจบในเร็ววันนี้ แต่เหตุระบาดในครั้งนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ทุกหน่วยงานในประเทศพร้อมที่จะนำความรู้ความสามารถที่มีเข้ามาช่วยเหลือด้านระบบสาธารณสุขอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้การระบาดจบได้โดยเร็ว และเพื่อให้คนในประเทศกลับมาใช้ชีวิตในสังคมร่วมกันได้อย่างปกติสุขอีกครั้งหนึ่ง

 

 

กรมควบคุมโรค เน้นย้ำผู้ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย ต้องกักกันตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 เป็นวงกว้าง

    กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำผู้ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย ต้องกักกันตัว (State Quarantine) ในสถานที่ที่รัฐกำหนด เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อเป็นวงกว้าง

    ายแพทย์ขจรศักดิ์  แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในหลายประเทศ ซึ่งขณะนี้มีผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนมาก อาทิ นักเรียนไทยในมูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ (AFS) ผู้ที่ทำงานในต่างประเทศ รวมทั้งผู้ที่ไปร่วมพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข จึงมีกระบวนการคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย และจัดพื้นที่สำหรับกักกันตัว (State Quarantine) ในสถานที่ที่รัฐกำหนด เพื่อเป็นการควบคุมโรคภายในประเทศไม่ให้แพร่กระจายเชื้อเป็นวงกว้าง

          มาตรการการกักกันผู้ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยทุกคนจะถูกกักกันตัวเพื่อสังเกตอาการ ณ สถานที่กักกันโรคไม่น้อยกว่า 14 วัน ถัดจากวันที่เดินทางถึงประเทศไทย และจะมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ได้รับมอบหมาย ณ สถานที่กักกันโรค คัดกรองอาการไข้ และสอบถาม ติดตามอาการทางเดินหายใจทุกวัน พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างทางเดินหายใจของผู้ถูกกักกันทุกคน ประมาณวันที่ 5-7 ของการกักกันตัว ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี PT-PCR เพื่อหาเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือในบางรายที่มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หรือหอบเหนื่อย อย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ตรวจพบเชื้อ หรือมีอาการป่วยเข้าได้กับเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ในระหว่างกักกันตัว จะถูกส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อเข้ารับการตรวจ รักษา รับการชันสูตรทางการแพทย์ และแยกกักต่อไป

          นายแพทย์ขจรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า หน่วยงานของรัฐได้เตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคน ที่จะถูกกักตัวเพื่อเฝ้าระวังสังเกตอาการในสถานที่ที่รัฐกำหนดตามมาตรการป้องกันควบคุมที่กำหนด โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เดินทางได้รับการดูแลใกล้ชิด และประเทศไทยสามารถป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

กรมอนามัย แนะ สถานที่พัก - โรงแรม จัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้กักตัวเพื่อสังเกตอาการ

     กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะแนวทางการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานที่พักหรือโรงแรม กรณีจัดให้เป็นสถานที่ควบคุมเพื่อแยกสังเกตอาการผู้ที่มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

       แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถานพยาบาลไม่เพียงพอ รวมถึงผู้มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรคที่ต้องแยกตัวเพื่อสังเกตอาการ กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องจัดเตรียมโรงแรมหรือสถานที่พัก เพื่อแยกสังเกตอาการผู้มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรคไวรัส COVID-19 กรมอนามัยจึงได้จัดทำแนวทางการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมสำหรับสถานที่พักหรือโรงแรมที่ควบคุมเพื่อแยกสังเกตอาการผู้ที่มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อ ความสะอาด ปลอดภัยต่อผู้รับบริการ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน

โดยมีแนวทาง ดังนี้ 1) แยกห้องนอน ห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องกินอาหาร เป็นสัดส่วน โดยมีระบบทำความสะอาดจุดสัมผัสและการจัดการขยะอย่างถูกวิธี 2) มีสถานที่เตรียม ปรุง ประกอบอาหารที่สะอาดถูกสุขลักษณะ หรือให้หน่วยงานภายนอกรับไปดำเนินการ ต้องเป็นหน่วยงานที่สามารถดำเนินงานได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 3) จัดบริการน้ำดื่มบรรจุขวดหรือน้ำดื่มในภาชนะปิดสนิทให้เพียงพอ 4) ควรมีโรงซักฟอก ที่สามารถทำความสะอาดผ้าและทำลายเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรณี ให้หน่วยงานภายนอกรับไปดำเนินการ ต้องเป็นหน่วยงานที่สามารถดำเนินงานได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 5) มีห้องส้วม มีระบบเก็บกักสิ่งปฏิกูลที่ถูกหลักสุขาภิบาลและปลอดภัย 6) มีระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบฆ่าเชื้อโรค ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และติดตั้งอุปกรณ์ฆ่าเชื้อในน้ำทิ้งตรวจคุณภาพน้ำทิ้งตามเกณฑ์ที่กำหนด 7) รวบรวมมูลฝอยทั้งขยะทั่วไปและขยะที่มีการปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้สังเกตอาการ และ 8) ต้องมีแนวทางและแผนการสร้าง ความเข้าใจ ความรู้และมาตรการป้องกันด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชุมชนรับทราบและไม่เกิดข้อขัดแย้งต่อกัน

        แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า ผู้เข้าพักเพื่อแยกสังเกตอาการ ต้องวัดอุณหภูมิกายทุกวัน หากพบว่า มีไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียส ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตามแนวทางที่กำหนดไว้ ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทุกครั้ง ก่อนกินอาหาร หลังใช้ส้วม หรือหลังจากไอ จาม หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แปรงสีฟัน จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ คัดแยกขยะทั่วไป และขยะที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งใส่ถุง มัดปากถุงให้แน่นและนำไปรวบรวมในบริเวณที่โรงแรม หรือสถานที่พักกำหนด ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาความสะอาดร่างกายและของใช้ส่วนตัวสม่ำเสมอ ต้องเปิดประตู หน้าต่างเพื่อระบายอากาศและรับแสงแดดธรรมชาติ ทุกวัน งดการทำกิจกรรมใกล้ชิดกับผู้อื่น ในพื้นที่ส่วนรวมของอาคาร หรือนอกอาคาร หากต้องติดต่อญาติ เพื่อน หรือบุคคลต่าง ๆ ให้ใช้โทรศัพท์ หรือ ไลน์ และให้ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ถูกควบคุมเพื่อสังเกตอาการอย่างเคร่งครัด

        “ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานในโรงแรมหรือสถานที่พักและผู้มาติดต่อในอาคาร ต้องตรวจวัดอุณหภูมิกายก่อนเข้าอาคาร โดยสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และถุงมือ ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า จมูก ปากของตนเอง ต้องเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ควรล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ และน้ำ หรือทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หากพบว่ามีไข้ ไอ จาม เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบพบแพทย์ทันที ส่วนผู้ปฏิบัติงานทำความสะอาดและเก็บรวบรวมขยะ ต้องสวมใส่เสื้อคลุมกันน้ำแขนยาว หรือเสื้อแขนยาว ขายาวและผ้ายางกันเปื้อนปกคลุม ใช้ถุงมือยางหนา รองเท้าบูทพื้นยางหุ้มแข้ง สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย แว่นป้องกันตาหรือกระจังกันใบหน้า หลังปฏิบัติงานเสร็จในแต่ละวัน ต้องล้างมือ อาบน้ำให้สะอาดทุกครั้ง และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที”อธิบดีกรมอนามัย กล่าวที่สุด

59092

กรมอนามัย แนะงดหอมแก้มเด็ก เลือกหน้ากากเหมาะกับวัย ลดแพร่กระจายโควิด - 19

     กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงกลุ่มทารกแรกเกิด และเด็กเล็ก แนะพ่อแม่เลือกหน้ากากให้เหมาะสมตามช่วงอายุของเด็ก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

      แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นอกจากกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และหญิงหลังคลอดแล้ว ทารกแรกเกิดและเด็กเล็ก ถือเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญในการป้องกันเป็นพิเศษ โดยเฉพาะพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงเด็ก ควรสร้างสุขอนามัยที่ดีด้วยการล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนสัมผัสทารก และสวมหน้ากากเสมอ หากผู้เลี้ยงเด็กมีอาการไม่สบาย โดยเฉพาะมีอาการทางระบบหายใจ มีไข้ ไอ จาม งดเข้าใกล้ทารกเด็ดขาด สิ่งสำคัญ คือไม่ควรนำทารกแรกเกิดออกนอกบ้าน ยกเว้นการพาไปฉีดวัคซีนตามกำหนด หรือไปพบแพทย์เมื่อมีอาการป่วยโดยแนะนำให้อุ้มแนบกับอกหรือนำเด็กใส่รถเข็นที่มีผ้าคลุมปิด เว้นระยะห่างจากผู้อื่นในระยะ 2 เมตร อย่างเคร่งครัด และให้งดการหอมแก้มเด็กและใกล้ชิดเด็กมากเกินไปเพราะละอองฝอยของน้ำลายอาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้

      “ทั้งนี้ ควรเลือกสวมหน้ากากป้องกันให้กับเด็กที่เหมาะสมตามช่วงอายุเมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ดังนี้ 1) เด็กทารกแรกเกิด-1 ปี พ่อแม่ไม่ควรสวมหน้ากากให้ เพราะเด็กเล็กระบบการหายใจยังไม่แข็งแรงพอ เสี่ยงภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งได้ เนื่องจากทารกแรกเกิดหายใจทางจมูกเป็นหลัก ยังไม่มีความสามารถในการหายใจชดเชยด้วยการอ้าปากหายใจได้ เมื่อมีการขาดอากาศ หรือออกซิเจนจะมีโอกาสเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดอันตรายต่อระบบประสาทของทารกได้

และในกรณีการใช้วัสดุพลาสติกบังหน้าทารก ความคมของพลาสติกอาจทำให้บาดใบหน้า และดวงตาของทารกได้ 2) เด็กอายุ 1-2 ปี เด็กบางคนสามารถถอดหน้ากากเองได้เมื่อรู้สึกอึดอัด หากจำเป็นต้องใส่หน้ากาก ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และใส่เพียงระยะเวลาสั้นที่สุด และ 3) เด็กอายุมากกว่า 2 ปี สวมใส่หน้ากากได้ เพราะสามารถถอดหน้ากากออกได้เมื่อรู้สึกอึดอัด ยกเว้นเด็กที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางสมอง พ่อแม่ควรให้  ความระมัดระวังเป็นพิเศษ นอกจากนี้ พ่อแม่ควรเน้นการล้างมือบ่อยๆ ให้กับลูกเพราะเด็กมักจะหยิบเล่นของอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้มือสัมผัสกับเชื้อโรคได้ และเน้นการทำความสะอาดบริเวณที่เด็กเล็กเล่นของเล่น”อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!