- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Sunday, 19 April 2020 22:43
- Hits: 570
กรมควบคุมโรค เผยไทยมีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้นทุกด่าน เพื่อรับคนไทยกลับเข้ามาในประเทศ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยประเทศไทยมีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้นทุกด่าน เพื่อรับคนไทยกลับเข้าประเทศตามจำนวนที่กำหนดในแต่ละวัน ขณะนี้แต่ละจังหวัดมีความพร้อมในการดูแลคนไทยที่จะกักตัว (Quarantine) ในสถานที่ที่รัฐกำหนด เป็นเวลา 14 วันตามมาตรการที่กำหนด
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ในฐานะผู้บัญชาการของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่จะอนุญาตให้คนไทยกลับเข้ามาผ่านจุดผ่านแดนถาวรในพื้นที่จังหวัดชายแดน นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าประเทศไทย มีการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องมาโดยตลอด ด้วยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ (ท่าอากาศยาน ท่าเรือ และด่านพรมแดนทางบก) ในสถานพยาบาล (ทั้งภาครัฐและเอกชน) และการเฝ้าระวังในชุมชน
สำหรับ คนไทยที่จะเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย โดยผ่านจุดผ่านแดนถาวรในพื้นที่จังหวัดชายแดนในระยะนี้ ตามจำนวนที่กำหนดล่วงหน้าแต่ละวัน ในแต่ละช่องทาง ซึ่งทุกคนจะเข้าสู่ระบบการตรวจคัดกรอง วัดไข้ เฝ้าระวังสังเกตอาการและดูแล ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ของประเทศไทย โดยผู้ที่จะเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยต้องมีเอกสารสำคัญประกอบการเดินทาง 2 ฉบับ คือ 1.ใบรับรองแพทย์ หรือ fit to travel และ 2.หนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศ ที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ไทยประจำประเทศที่พำนัก
ซึ่งระบุรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เดินทาง ช่องทางผ่านแดนที่จะเดินทางกลับ วันที่จะเดินทาง จังหวัดที่พำนักอาศัยหรือจังหวัดภูมิลำเนาในประเทศไทย และลายมือชื่อของผู้เดินทางที่ลงนามรับทราบ และยินยอมรับการกักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด หรือ Local Quarantine เป็นเวลา 14 วันตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคของภาครัฐ อันเป็นประโยชน์กับผู้เดินทางที่จะได้รับการดูแลวินิจฉัยโรคที่รวดเร็วหากติดเชื้อ และสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมส่วนรวม
นายแพทย์โสภณ กล่าวอีกว่า ในแต่ละจังหวัดได้เตรียมความพร้อมในการดูแลคนไทยที่จะถูกกักตัวเพื่อเฝ้าระวังสังเกตอาการในสถานที่ที่รัฐกำหนด เป็นเวลา 14 วันตามมาตรการป้องกันควบคุมที่กำหนด โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เดินทางได้รับการดูแลใกล้ชิด และประเทศไทยสามารถป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สธ.ค้นหาผู้ป่วยโควิด 19 เชิงรุก
กระทรวงสาธารณสุข รักษามาตรฐานควบคุมโควิด 19 คาดสิ้นเดือนเม.ย. มีผู้ป่วยสะสมอยู่ราว 3,000 คน เร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก สกัดผู้ป่วยโควิด 19 รายใหม่ป้องกันแพร่เชื้อ จับตาสถานการณ์ในทวีปใหญ่ รับมือไม่ให้เกิดระบาดซ้ำ ขณะที่องค์การเภสัชกรรม ห่วงใช้ยา Favipiravir ในหญิงตั้งครรภ์อันตรายต่อเด็ก
ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ในประเทศไทย เป็นที่น่ายินดีว่าวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต สอดคล้องกับการควบคุมสถานการณ์โรคที่ประเทศไทยทำได้ดีต่อเนื่อง
ขณะนี้ 29 จังหวัดไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ติดต่อกันอย่างน้อย 14 วันแล้ว และอีก 9 จังหวัด ยังไม่พบผู้ป่วย คาดว่าหากคงมาตรการเข้มข้นภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ อาจจะ มียอดผู้ป่วยสะสมประมาณ 3,000 คน และหากจะเริ่มผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ประชาชนก็ขอให้อย่าประมาทเพราะการระบาดของโรคทางเดินหายใจเกิดขึ้นได้เร็วหากพบผู้ป่วยรายใหม่ อีกทั้งสถานการณ์ระดับโลกทั้งในทวีป อเมริกาและยุโรปยังคงมีการระบาดอยู่ จึงยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดมาตรการให้เหมาะสมป้องกันไม่ให้ระบาดซ้ำ
นายแพทย์โสภณ กล่าวอีกว่า การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case Finding) ในพื้นที่ที่เคยพบผู้ป่วยยืนยัน โรคโควิด 19 เป็นกลุ่มก้อนยังเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในค้นหาผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยในระยะแรกเพื่อจะลด โอกาสการแพร่เชื้อ ในขณะนี้มีการตรวจค้นหาผู้ป่วยในชุมชนเพิ่มขึ้น แต่พบว่าอัตราการพบผู้ติดเชื้อยังอยู่ระดับต่ำ น้อยกว่า 1% ไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไร โดยการตรวจค้นหาทำได้รวดเร็วมากขึ้นเนื่องจากมีห้องปฏิบัติการทั่วประเทศรองรับกว่า 100 แห่ง และโรงพยาบาลสามารถออกรหัสการตรวจได้เอง เชื่อว่าการตรวจค้นหาผู้ป่วยจะสะดวกคล่องตัวขึ้น
ด้าน นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม แสดงความเป็นห่วงเรื่องการใช้ยา Favipiravir รักษาผู้ป่วย Covid-19 ว่า แม้ว่าตอนนี้ยา Favipiravir มีสรรพคุณการรักษาที่ดีที่สุด แต่เป็นห่วงผู้ป่วย สตรีตั้งครรภ์ เนื่องจากไม่สามารถจ่ายยา Favipiravir ได้ เพราะมีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ อีกทั้งไม่แนะนำสตรีที่ให้นมบุตรใช้ยาตัวนี้เช่นเดียวกัน หากใช้ยาให้หยุดการให้นม
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web