- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Saturday, 18 April 2020 23:38
- Hits: 478
สปสช.เปิดเวทีแจง 'หลักเกณฑ์เบิกจ่ายกรณีโควิด-19'สร้างความเข้าใจหน่วยบริการ ดูแลประชาชน
สปสช.เปิดเวทีแจง 'นโยบายและหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายกรณีโควิด 19' ผ่าน Facebook Live สร้างความเข้าใจหน่วยบริการดูแลประชาชน ครอบคลุมบริการคัดกรอง บริการผู้ป่วยนอก บริการผู้ป่วยใน พร้อมย้ำกรณีคัดกรองความเสี่ยงคนไทยทุกสิทธิเบิกจ่ายกองทุนบัตรทองทั้งหมด ส่วนการรักษาหลังพบเชื้อเบิกจ่ายค่ารักษาตามสิทธิประกันสุขภาพ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการประชุมชี้แจง “นโยบายการดำเนินงานของ สปสช. กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19” ให้กับหน่วยบริการทั่วประเทศและประชาชนที่สนใจ โดยมี นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดการประชุม ถ่ายทอดผ่าน Facebook Live ของ Facebook สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (www.facebook.com/NHSO.Thailand/) และเวลา 09:00-12:00 น. ตามหลักการ Social Distancing ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นกรณีโรคโควิด-19 เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ภายใต้ ‘กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ เพื่อดูแลประชาชนในยามที่เกิดภาวะวิกฤตโรคระบาดขึ้น โดย สปสช.จัดสรรงบประมาณ 4,280 ล้านบาท จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1,020 ล้านบาท และที่ได้รับจากงบกลางโดยรัฐบาล 3,260 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้กับหน่วยบริการในกรณีโควิด-19 เป็นการเฉพาะ เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมทั่วถึง
โดยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศ สปสช. เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2563 และ ประกาศ สปสช. เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 และหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ (ฉบับที่ 5) เป็นที่เรียบร้อยแล้วและมีผลบังคับใช้ย้อนหลังถึงวันที่ 2 มีนาคม 2563 ที่บอร์ด สปสช.อนุมัติในหลักการ พร้อมมอบนโยบายกำชับให้ สปสช.เร่งดำเนินการในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับ ทั้งการจัดทำระบบชดเชยค่าบริการ การจ่ายชดเชยค่าบริการให้กับหน่วยบริการ เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยบริการทั่วประเทศที่ให้บริการดูแลกรณีโควิด19 เข้าใจในหลักเกณฑ์และดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน สปสช.จึงได้จัดการประชุมครั้งนี้โดยชี้แจงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขขอรับค่าใช้จ่ายกรณีโรคติดเชื้อโควิด19 อาทิ บริการการคัดกรองโรค การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การรักษาพยาบาล ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าห้อง รวมถึงอุปกรณ์ในการป้องกันโรค ทั้งในส่วนบริการของโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า นอกจากการชี้แจงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขขอรับค่าใช้จ่ายกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว ในวันนี้ได้ชี้แจงกรณีการเบิกจ่ายของโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบที่ให้บริการกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต โควิด-19 (UCEP - COVID 19) การเบิกจ่ายค่าบริการโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในส่วนของสิทธิข้าราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงการชี้แจงการส่งข้อมูลขอรับค่าใช้จ่ายและการบันทึกข้อมูลในระบบโปรแกรม e-Claim
“การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่ต้องวางมาตรการรองรับระยะยาว โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนนำ เปรียบเหมือนการวิ่งมาราธอนมากกว่าการวิ่งร้อยเมตร ซึ่งสปสช.พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยบริการ และการดำเนินการภายใต้วิกฤติโควิด-19 นี้ ยังเป็นบทพิสูจน์ความเข้มแข็งระบบสุขภาพของประเทศไทยที่ได้รับการยกย่อง เชื่อว่าเราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน”เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ด้าน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มภารกิจบริหารกองทุน สปสช. กล่าวว่า การดูแลประชาชนด้านการรักษาพยาบาลและการคัดกรองกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขอให้มั่นใจ รัฐบาลมีนโยบายดูแลคนไทยทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นกรณีสงสัยว่าติดเชื้อและกรณีที่ติดเชื้อแล้ว หน่วยบริการจะเบิกจ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งหมด แต่ในส่วนการรักษาพยาบาลหลังตรวจพบเชื้อจะเบิกจ่ายตามสิทธิหลักประกันสุขภาพที่มี ซึ่งอัตราการจ่ายชดเชยค่าบริการไม่ว่าจะเป็นในระบบประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
รวมถึงการรักษาพยาบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายที่ไม่แตกต่างกัน ทั้งการดูแลผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ค่าตรวจหาเชื้อและอุปกรณ์ในการป้องกันของบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการรวมชุดป้องกัน (PPE) จ่ายตามจริงไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง, ค่าชุด PPE ของผู้เก็บตัวอย่างจ่ายตามจริงไม่เกิน 540 บาท, ค่ายารักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาทต่อราย และค่ารถส่งต่อรวมชุด PPE และยาฆ่าเชื้อ โดยจ่ายตามจริงตามระยะทาง 3,700 บาทต่อครั้ง เป็นต้น
ส่วนการเข้ารับบริการโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเอกชนนั้น ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งถือว่าได้เข้าร่วมบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตโควิด-19 (UCEP COVID 19) แล้ว โดยเบิกจ่ายค่าบริการตามราคากลาง (Fee Schedule) ยกเว้นโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เบิกจ่ายตามหลักเกณฑ์ของ สปสช. ทั้งนี้หากหน่วยบริการมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารการจัดสรรและชดเชยค่าบริการ สปสช., สำนักงานหลักประสุขภาพแห่งชาติทั้ง 13 เขต และ สายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web