- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Saturday, 11 April 2020 15:10
- Hits: 558
รพ.กรุงเทพ เตรียมพร้อมมาตรฐานความปลอดภัย
การดูแลรักษาคนไข้วิกฤติบาดเจ็บฉุกเฉินในช่วง COVID-19
เพราะความปลอดภัยของทุกคนคือ “สิ่งสำคัญ” รพ.กรุงเทพ ตระหนักถึงความเสี่ยงของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยมีมาตรการที่สำคัญคือ การคัดกรองผู้มีความเสี่ยงก่อนเข้าสู่โรงพยาบาลเพื่อให้มั่นใจว่าโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้มาเข้ารับบริการทางการแพทย์ ภายใต้การดูแลจากทีมแพทย์และบุคลากรการแพทย์ที่มีประสบการณ์
นพ.เอกกิตติ์ สุรการ ผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุและศูนย์ศัลยกรรม รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รพ.กรุงเทพ มีมาตรการสำคัญในการตรวจรักษาและคัดแยกผู้รับการรักษาถ้าเข้าเกณฑ์ตามนิยามการเฝ้าระวัง COVID-19 เริ่มตั้งแต่การคัดกรองและซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด ณ จุดทางเข้ารพ. ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient under Investigation : PUI) หรือผู้ป่วยที่ต้องสงสัยการติดเชื้อ จะเข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่คลินิกคัดกรองโรคระบบทางเดินหายใจ ที่รพ.ชีวาทรานสิชั่นนัลแคร์ แยกออกจากพื้นที่บริการหลักของรพ. ผู้ป่วยจะได้รับการแยกรักษาในวอร์ด Cohort Ward ที่มีการแยกสัดส่วนออกจากโรงพยาบาล มีหุ่นยนต์ส่งอาหาร ยา (HealthyBot) เข้ามาเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและญาติ และการใช้อุปกรณ์ Tytocare อุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น ตัวช่วยเพื่อปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (Teleconsultation) ช่วยเชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยโดยลดการสัมผัสใกล้ชิดลดความเสี่ยงในการติดเชื้อนอกจากนี้ยังใช้ Isolation Stretcher ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจภายใต้ความดันลบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้ออีกช่องทางหนึ่ง
ในด้านศัลยกรรม รพ.กรุงเทพ มีแนวทางปฏิบัติในการผ่าตัดและ/หรือการทำหัตถการในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ดังนี้
1. ผู้ป่วยที่มีภาวะเร่งด่วนทางศัลยกรรม (Surgical Emergency) (อ้างอิง ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง หลักเกณฑ์ประเมินเพื่อคัดแยกระดับความฉุกเฉินและมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉิน พ.ศ.2554) สามารถผ่าตัดได้โดยผู้ป่วยจะได้รับการตรวจการหาเชื้อไวรัส COVID-19 ก่อนและหลังการผ่าตัด 48 ชั่วโมง บุคลากรทุกคนในทีมผ่าตัดที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ป่วยน้อยกว่า 1 เมตรและ/หรือร่วมทำหัตถการที่เกิดละอองฝอยขนาดเล็ก เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ จะต้องสวมเครื่องป้องกันร่างกายประกอบด้วยชุดคลุมร่างกาย Coverall และหน้ากาก N95, กระจังกันใบหน้า, หมวกคลุมผม, ถุงมือผ่าตัดและถุงหุ้มขา สำหรับพยาบาลช่วยทั่วไป (Circulating Nurse) จะต้องสวมเครื่องป้องกันร่างกายประกอบด้วยหมวกคลุมผม หน้ากากอนามัย กระจังกันใบหน้า และปฏิบัติตามมาตรฐานการป้องกันโรคติดเชื้ออย่างเคร่งครัดโดยหลังผ่าตัดแล้วจะให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวในหอผู้ป่วยที่รองรับผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 (Cohort ward) จนกระทั่งพ้นระยะเฝ้าระวัง 14 วัน หรือมีการตรวจยืนยันไม่พบ COVID-19 พร้อมทั้งจำกัดการเยี่ยมไข้ คือ กำหนดเวลาจำนวนญาติและผู้เยี่ยมไข้ตามแนวทางที่กำหนดไว้
2. ผู้ป่วยศัลยกรรมทั่วไป ในรายที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดแต่ภาวะของโรคไม่เร่งด่วน แนะนำให้เลื่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยทุกรายที่มีประวัติการเดินทางมาจากประเทศเสี่ยงหรือพื้นที่เสี่ยงจนกระทั่งพ้นระยะเฝ้าระวัง 14 วัน หลังจากนั้นให้ผู้ป่วยตรวจการหาเชื้อ COVID-19 ก่อน เมื่อผลไม่พบ (Not Detected) สามารถนัดผ่าตัดได้โดยให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวอยู่ในวอร์ดทั่วไป
3. หลีกเลี่ยงวิธีการผ่าตัดที่ทำให้เกิดละอองฝอยขนาดเล็ก (Aerosol Particle) เลือกใช้การระงับความรู้สึกด้วยวิธีการให้ยาชาเฉพาะตำแหน่ง (Local Anesthesia) หรือเฉพาะส่วน (Regional Anesthesia) รวมไปถึงการให้ยาระงับความรู้สึกระดับปานกลางและระดับลึก (Moderate/Deep Sedation) เพื่อลดโอกาสการแพร่และกระจายของเชื้อไวรัส
ศูนย์ศัลยกรรม รพ.กรุงเทพ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้เข้ารับบริการทุกท่านเนื่องด้วยการตรวจรักษาทางศัลยกรรมมีความแตกต่างจากแพทย์สาขาอื่น คือ ผู้ป่วยและแพทย์ต้องมีการสัมผัสใกล้ชิดในขั้นตอนของการตรวจรักษา ศัลยแพทย์และทีมผ่าตัดต้องสัมผัสกับเนื้อเยื่อ เลือด และสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยตลอดเวลาที่ผ่าตัด การดมยาสลบจะทำให้เกิดละอองฝอยขนาดเล็กลอยในอากาศที่เรียกว่า Aerosol ศูนย์ศัลยกรรมจึงเพิ่มมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสโรคทุกขั้นตอนในการตรวจรักษาผู้ป่วยทุกคน และมีมาตรฐานการป้องกันการสัมผัสเชื้อไวรัสตามระดับความเสี่ยงดังนี้
การตรวจผู้ป่วยนอก การตรวจรักษาผู้ป่วยมีโอกาสสัมผัสละอองฝอย (Droplet) ที่เกิดจากการไอ การจาม การพูดคุยใกล้ชิดการตรวจผู้ป่วยทุกรายต้องใช้มาตรการป้องกันละอองฝอย (Droplet precaution) ประกอบด้วยการล้างมือ และการใช้อุปกรณ์ป้องกัน ได้แก่ หน้ากากอนามัย (Surgical mask) กระจังกันใบหน้า (Face shield Gloves) ผู้ป่วยสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย (Face mask) บริการที่แผนกผู้ป่วยนอกมีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกันได้แก่ การผ่าตัดเล็ก การทำแผล การเจาะเลือด ผู้ป่วยที่เข้าข่ายสัมผัสโรคหรือมีอาการระบบทางเดินหายใจจะได้รับบริการที่คลินิกพิเศษแยกจากผู้ป่วยปกติ
การผ่าตัด และการควบคุมการติดเชื้อในห้องผ่าตัด
• มีการออกแบบห้องผ่าตัดเพื่อลดการสะสมเชื้อโรค
• อากาศในห้องผ่าตัดมีระบบกรองอากาศให้ปราศจากเชื้อก่อนส่งเข้าไปในห้องและมีระบบหมุนเวียนนำอากาศที่อาจมีการปนเปื้อนออกจากห้องผ่าตัดอย่างสม่ำเสมอ
• มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในอากาศเพื่อจำกัดการเติบโตของเชื้อ
• มีขั้นตอนการทำความสะอาดห้องและการกำจัดเชื้อก่อนเริ่มผ่าตัด
• มีห้องผ่าตัดแยกสำหรับผ่าตัดผู้ป่วยติดเชื้อเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
• มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) หรือ PPE ที่เหมาะสมเช่น การใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อให้ยาสลบทำให้เกิด Aerosol หรือละอองฝอยขนาดเล็กลอยไปในอากาศ การสัมผัสโรคเกิดจากการหายใจ Aerosol ในอากาศเข้าสู่ปอด วิสัญญีแพทย์และทีมผ่าตัดจะใช้ PPE ที่สามารถป้องกันโรคที่แพร่กระจายในอากาศ (Airborne precaution) ได้แก่ N95 mask, Face shield, Gloves Isolation gown หรือ Surgical gown ป้องกันร่างกาย และ Leg covers
การดมยาสลบและการผ่าตัดผู้ป่วยที่มีเชื้อ COVID-19 จะมีโอกาสสัมผัสเชื้อไวรัสสูงทีมศัลยแพทย์เพิ่มระดับการป้องกันโดยการสวมชุดปิดสนิทชนิด Coverall หรือใช้ชุดป้องกันชนิดพิเศษที่มีระบบกรองอากาศเพื่อกำจัดไวรัสชนิด Powered Air-Purifier Respirator (PAPR)
สรุปการเตรียมพร้อมของทีมผ่าตัดโรงพยาบาลกรุงเทพ มีทีมแพทย์ ทีมพยาบาล ห้องผ่าตัด และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลสำหรับการผ่าตัดฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนที่มีภาวะเร่งด่วนทางศัลยกรรมได้รับการรักษาทันเวลาภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงสุดสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทุกคนที่มาใช้บริการ
AO4244
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web