WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaaDSocial

กรมควบคุมโรค ย้ำ 'การกักตัวเอง' เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยควบคุมสถานการณ์การแพร่กระจายของโรคโควิด-19

     กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ'การกักตัวเอง' ของผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่สามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรค เพื่อให้ผู้ที่กักตัวไม่เป็นทั้งผู้แพร่เชื้อและผู้รับเชื้อ ซึ่งจะสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยได้

      นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทย มีจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร พร้อมทั้งออกมาตรการที่เข้มข้น และขอความร่วมมือประชาชนให้อยู่บ้าน เพื่อลดการสัมผัสเชื้อ ส่วนผู้ที่เข้าข่ายต้องกักตัวเอง หลักๆมีอยู่ 2 กลุ่มคือ 1.ผู้ที่มีความใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง และ 2.ผู้เดินทางมาจากเขตติดโรคติดต่ออันตรายทุกคน ผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่องหรือพื้นที่พบผู้ป่วย กรมควบคุมโรค จึงขอย้ำว่า “การกักตัวเอง” เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ซึ่งประชาชนจะได้ไม่เป็นทั้งผู้แพร่เชื้อและผู้รับเชื้อ

      การกักตัวเอง จะใช้เวลาประมาณ 14 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่ข้อมูล'How to...คุมไว้สังเกต ณ ที่พักอาศัยและแนวทางปฏิบัติ' เพื่อให้ผู้ที่ต้องกักตัวเองปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ป่วยและผู้สูงอายุ 2.หยุดเรียนหรือทำงาน รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ 3.ปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชู่ทุกครั้งที่ไอ จาม หากไม่มีกระดาษทิชชู่ ให้ใช้ต้นแขนด้านในหรือข้อศอกตัวเองแทนสิ่งสำคัญคือห้ามไอจามใส่ฝ่ามือตัวเอง 4.ห้ามทานอาหารและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น

รวมถึงควรแยกของใช้ส่วนตัว ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม แก้วน้ำ เป็นต้น 5.สวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร 6.แยกห้องนอน 7.ทำความสะอาดที่พักและของใช้ 8.ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และสุดท้าย 9.ทิ้งหน้ากากอนามัยหรือกระดาษทิชชู่ที่ใช้แล้วให้ถูกวิธี โดยทิ้งในถุงพลาสติก ปิดถุงให้สนิท มิดชิดก่อนทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิดและล้างมือด้วยสบู่และน้ำนานประมาณ 15-20 วินาที หรือแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไปทันที

       นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากกักตัวเองแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำด้วยก็คือ การสังเกตอาการตัวเอง โดยการวัดอุณหภูมิร่างกายของตัวเองและจดบันทึกไว้เป็นประจำทุกวัน หากมีไข้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส มีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ และหายใจเหนื่อยหอบ หรือมีอาการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรพบแพทย์ทันที และแจ้งให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทราบ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

กรมควบคุมโรค แนะประชาชนเพิ่มระยะห่างทางสังคม 'Social Distancing'กับ 8 วิธี ป้องกันโรคโควิด-19

    กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนไทยห่างไกลโรคโควิด-19 โดยการปฏิบัติตาม 8 วิธีเพิ่มระยะห่างทางสังคม 'Social Distancing'เพื่อลดโอกาสในการสัมผัสเชื้อและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อในวงกว้าง

            นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่กระจายเชื้อของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไปยังหลายพื้นที่ของประเทศ นั้น กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยประชาชน จึงขอแนะให้ปฏิบัติตาม 8 วิธีเพิ่มระยะห่างทางสังคม Social Distancing’เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อและป้องกันการแพร่ระบาดจากคนสู่คนไม่ให้เชื้อขยายเป็นวงกว้าง

               การเพิ่มระยะห่างทางสังคม'Social Distancing' 8 วิธีปฎิบัติป้องกันโรคโควิด-19 ได้แก่ 1.ห้ามไปพื้นที่แออัดต่างๆ เช่น สถานบันเทิง โรงเรียน โรงภาพยนตร์ กิจกรรมกีฬา เป็นต้น เปลี่ยนเป็นการทำงานที่บ้าน สื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต และเรียนออนไลน์  2.เปลี่ยนพฤติกรรมการแสดงความสัมพันธ์ ห้ามกอด หรือจูบ 3.หลีกเลี่ยงการเข้าไปในห้องที่แออัด ห้องประชุม/ชุมนุมขนาดใหญ่ เพื่อลดโอกาสการรับและแพร่กระจายเชื้อโรค 4.หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีคนเยอะ และใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าเพื่อป้องกันการติดเชื้อ 5.ระวังการใช้สิ่งของสาธารณะและของที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น ราวบันได ลูกบิด รีโมทคอนโทรล ปุ่มกดลิฟท์

และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งของสาธารณะ 6.ควรหลีกเลี่ยงชั่วโมงเร่งด่วนในสถานที่ที่มีคนเยอะ เช่น รถสาธารณะ ร้านสะดวกซื้อ 7.ควรอยู่ห่างๆอย่างห่วงๆ อย่างน้อย 1-2 เมตร เพื่อลดโอกาสการรับและแพร่กระจายเชื้อ และ 8.ควรอยู่ในบ้านให้มากที่สุด เมื่อไม่ออกไปรับเชื้อข้างนอกบ้าน โอกาสติดโรคน้อยลง  ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคจึงขอเน้นย้ำให้ปฎิบัติตามวิธีการปฎิบัติดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อและทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงได้

กรมอนามัย เข้ม Social Distancing 'บุคคล-องค์กร-ชุมชน'ลดแพร่เชื้อ COVID-19

     กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แบ่ง 3 ระดับ 'บุคคล-องค์กร-ชุมชน'สร้างระยะห่างทางสังคมหรือ Social Distancing หวังลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

    แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)นั้น เกิดจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อในระยะใกล้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งนอกเหนือจากการคัดกรองผู้ติดเชื้อที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาด การสอบสวนโรคกลุ่มที่มีการเจ็บป่วยมีลักษณะเป็นกลุ่มก้อน และการให้ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยต้องกักตนเอง 14 วัน (Self-Quarantine) แล้ว การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำเพื่อป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อไวรัสจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ด้วยการสร้างระยะห่างระหว่างตัวเราเองกับคนอื่นๆ ในสังคมโดยต้องร่วมมือกันให้ได้ทั้งหมด 80 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะสามารถเปลี่ยนเส้นทางการแพร่เชื้อในประเทศไทยให้ลดลงไปได้ โดยที่ตัวเราเองต้องไม่นำเชื้อไปหาคนอื่นและไม่ออกไปรับเชื้อจากบุคคลอื่นที่มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน

โดยสามารถแบ่งระดับของการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ 1) ระดับบุคคล โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรต้องระมัดระวังในการป้องกันตัวเอง ไม่ควรเดินทางออกจากที่พักอาศัย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันค่อนข้างต่ำ อาจทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น ๆ และขอให้งดกิจกรรมในชุมชน โดยยึดถือปฏิบัติตามหลัก 3 ล คือ ‘ลด เลี่ยง ดูแล’ และเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1 - 2 เมตร เพราะเชื้อไวรัสสามารถติดต่อผ่านละอองขนาดเล็กที่มาจากการไอหรือจามได้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการรวมตัวของคนหมู่มาก หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ ไม่เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ลดการออกไปนอกบ้านโดยไม่จำเป็น เช่น การไปงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือการไปจ่ายตลาด อาจปรับให้น้อยที่สุดอาทิตย์ละ 1 - 2 วัน

        “2) ระดับองค์กร ควรมีมาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน หรือการทำงานที่บ้าน (Work From Home)เป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และการแพร่เชื้อจากการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่มีความแออัดในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน เป็นการป้องกันการแพร่เชื้อทั้งภายในและภายนอกที่ทำงานได้ ด้วยการอยู่ที่บ้าน ทำความสะอาดบ้าน และไม่นำเชื้อโรคเข้าบ้าน และสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางออกจากบ้านเป็นประจำ เมื่อกลับเข้าบ้านควรล้างมือทันที หลังจากนั้นควรเปลี่ยนชุด อาบน้ำชำระร่างกาย และแยกซักเสื้อผ้าที่สวมใส่ในวันนั้นด้วย และ 3) ระดับชุมชน การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ควรลดหรืองดกิจกรรมต่างๆ หรือหากไม่สามารถงดหรือเลื่อนได้ เช่น งานศพ ควรลดจำนวนของผู้ที่มาร่วมงาน จัดเก้าอี้หรือสถานที่ให้อยู่ห่างกันพอสมควร

และจัดพื้นที่สำหรับล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ให้ผู้ที่มาร่วมงาน โดยทุกคนต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย รวมทั้งพยายามให้ช่วงเวลาที่จัดงานให้สั้นที่สุดเท่าที่จำเป็น และลดกิจกรรมที่อาจมีการสัมผัสระหว่างกันลง ส่วนสถานที่ที่ยังเปิดบริการ เช่น สถานีขนส่ง ขนส่งสาธารณะ ตลาด ผู้ดูแลสถานที่เหล่านี้ควรปฏิบัติตามแนวทางสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนเว้นระยะห่างระหว่างตัวเองและผู้อื่น”แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว

******************************************

 

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!