WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaa Kทีมสอบสวนโรค

สธ. เตรียมความพร้อมทีมสอบสวนโรคฯ ทั่วประเทศ รับมือสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

        กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายทีมสอบสวนโรคฯ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ โดยการเพิ่มความเข้มแข็งในการตรวจจับโรค วินิจฉัย ดูแลรักษา และควบคุมโรคในพื้นที่

       นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค  เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายทีมสอบสวนโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019   โดยมีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยา ทั่วประเทศเข้าร่วมประมาณ 500 คน

       นายอนุทิน กล่าวว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เริ่มต้นการระบาดในสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา และมีการติดเชื้อไปในหลายประเทศ  สำหรับประเทศไทยได้จัดระบบการเฝ้าระวังโรค ทั้งในด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ สถานพยาบาลรัฐ/เอกชน และในชุมชน ซึ่งมาตรการที่เข้มข้นของประเทศไทยทำให้เราเป็นประเทศแรกที่ตรวจพบผู้ป่วยยืนยันนอกราชอาณาจักรสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563) ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยัน 19 ราย เป็นคนจีน 17 ราย และคนไทย 2 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต 

      ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในที่ 30 มกราคม 2563 เพื่อป้องกันหรือลดการแพร่ระบาดข้ามพรมแดน ซึ่งกรมควบคุมโรคได้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินเพื่อรับมือการระบาดตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2563 และประเทศไทยได้ประกาศยกระดับสถานการณ์โรคดังกล่าว เป็นระดับ 3 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่

    ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายทีมสอบสวนโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติงาน  และเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของทีมสอบสวนโรคติดต่ออันตรายและหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคในระดับจังหวัด ทั่วประเทศ โดยการเพิ่มความเข้มแข็งในการตรวจจับโรค วินิจฉัย ดูแลรักษา และควบคุมโรคในพื้นที่

       นอกจากการเตรียมความพร้อมของทีมสอบสวนโรคฯ ในครั้งนี้แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน คือ การสื่อสารทำความเข้าใจ ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ทุกคน ให้ทราบถึงบทบาทหน้าที่ มาตรการที่ต้องดำเนินการ โดยเฉพาะต้องสามารถป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อเมื่อดูแลผู้ป่วยได้  ส่วนประชาชนต้องสร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความรอบรู้ในการป้องกันตนเองและครอบครัวไม่ให้มีการติดเชื้อได้ โดยมาตรการที่สำคัญ คือ การสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น ปฏิบัติตามคำแนะนำ 'กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ' อย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

สธ.พร้อมรับคนไทยกลับทันทีที่จีนไฟเขียว

     รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมทีมแพทย์พร้อมเดินทางไปรับนักเรียนและคนไทยทันทีที่ได้รับอนุญาตจากทางการจีน และเตรียมประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติวันพรุ่งนี้ เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

     นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงพี่น้องคนไทยที่อู่ฮั่น รัฐบาลได้เตรียมการทุกอย่างพร้อมแล้ว ทั้งด้านเครื่องบิน บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล เวชภัณฑ์ รอการประสานจากทางประเทศจีน ซึ่งการขนส่งผู้โดยสารจากเมืองที่มีสถานการณ์โรคระบาดจะมีขั้นตอนของการตรวจสุขภาพโดยทีมแพทย์ตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่อง และเมื่อมาถึงไทยก็จะมีการดูแลตามมาตรฐานของการป้องกันควบคุมโรค ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีคนไทยที่เมืองอู่ฮั่น มีอาการของโรคหรือเจ็บป่วย และขณะนี้เมืองอู่ฮั่นได้ปิดสนามบินจะต้องใช้ไฟลท์บินพิเศษ ซึ่งได้เตรียมการไว้แล้ว ทันทีที่ทางการจีนขออนุญาตก็จะไปรับทันที

      สำหรับ กระแสข่าวเรื่องการติดเชื้อเพิ่มเติมในคนไทยนั้น ขอให้รับฟังข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขแหล่งเดียว เพื่อป้องกันความสับสน ลดความตื่นตระหนก แต่ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุข จะดำเนินการอย่างเต็มความสามารถเพื่อปกป้องคนไทย ไม่ปิดบังข้อมูล ถ้ามีรายใหม่จะแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการ และวันพรุ่งนี้ จะประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี เพื่อกำหนดทิศทาง และมาตรการในการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ตลอดจนกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและผู้ได้รับผลกระทบ เช่น เรื่องการยกเลิก Visa on arrival ซึ่งเป็นการมาขอวีซ่าที่เมืองไทยสำหรับวีซ่าที่ออกจากสถานทูตโดยตรง หรือ E Visa อาจจะกำหนดมาตรการเพิ่มเติม ทั้งนี้ จะต้องให้คณะกรรมการฯ ร่วมกันพิจารณาก่อนเสนอรัฐบาล ส่วนเรื่องเฟคนิวส์นั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลฯ เฝ้าระวังและตอบโต้อย่างทันท่วงที ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ขอความร่วมมืออย่าโพสต์ อย่าแชร์ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือข้อมูลที่ไม่มั่นใจ เพราะจะทำให้สังคมเกิดความตื่นตระหนก  ขอให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์

     นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ประเทศจีนได้พยายามให้นักท่องเที่ยวเลื่อนหรือยกเลิกการเดินทางมาไทย ขณะนี้ไม่มีทัวร์และไม่มีเที่ยวบินจากเมืองอู่ฮั่นแล้ว เมื่อวานนี้ได้ไปตรวจที่สนามบินเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวจากจีนหายไปมากกว่า 80%  ส่วนที่สนามบินสุวรรณภูมิก็ได้แยกจุดจอดทุกเที่ยวบินที่มาจากจีน มีการตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้นโดยด่านควบคุมโรคถึง 3 ชั้น ขั้นตอนของการควบคุมโรคก็เข้มเต็มที่ และทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้เข้ามาช่วยคัดกรองเพิ่มอีกครั้งในระหว่างการตรวจพาสปอร์ต

 

กรมสุขภาพจิต เตือนระวังข่าวปลอมเรื่องเชื้อไวรัสโคโรนา

     กรมสุขภาพจิต ได้ทำการติดตามและประเมินข้อมูลข่าวสารที่มีการเผยแพร่ทางช่องทางต่างๆ และพบข่าวลือและข่าวปลอมเรื่องเชื้อไวรัสโคโรนาได้รับการเผยแพร่เป็นจำนวนมาก ประชาชนควรใช้วิจารณญาณทุกครั้งในการเสพข่าวต่างๆ โดยเฉพาะข่าวบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งเรื่องเชื้อไวรัสโคโรนานั้นทุกคนต้องตระหนักแต่ไม่ตื่นตระหนก

       นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวถึง กรณีการพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ใน 10 ประเทศทั่วโลก และก่อให้เกิดความวิตกกังวลต่อประชาชนไทยว่า ขณะนี้บุคลากรด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกำลังปฎิบัติงานอย่างสุดความสามารถ เพื่อป้องกันการระบาดในประเทศไทยและเพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของเชื้อสายพันธ์ใหม่ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด เช่น เชื้อไวรัสโรคซาร์ส (SARS) และโรคเมอร์ส (MERS) ทั้งยังได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในศักยภาพการควบคุมการระบาดของโรคต่างๆ

      ทั้งนี้กรมสุขภาพจิต ได้ทำการติดตามและประเมินข้อมูลข่าวสารที่มีการเผยแพร่ทางช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะในช่องทางโซเชียลมีเดีย พบข้อมูลที่จัดอยู่ในประเภทข่าวลือและข่าวปลอมได้รับการเผยแพร่เป็นจำนวนมาก ทั้งข่าวลือเกี่ยวกับการระบาดภายในประเทศ และข่าวปลอมเกี่ยวกับวิธีการรักษารูปแบบต่างๆที่ผิดเพี้ยนไปจากคำแนะนำที่ถูกต้องของผู้เชี่ยวชาญ โดยการกระจายตัวของข่าวลือและข่าวปลอมในวงกว้างลักษณะนี้จะส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่สามารถปฎิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เกิดความกลัวและวิตกกังวลอย่างรุนแรง และเบียดบังพื้นที่การนำเสนอข่าวจริงที่เป็นประโยชน์ในการดูแลตัวเองของประชาชน

      นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ประชาชนต้องใช้วิจารณญานทุกครั้งในการเสพข่าวต่างๆ โดยเฉพาะบนโลกโซเชียลที่บางครั้งไม่สามารถยืนยันแหล่งที่มาของข่าวได้ชัดเจน พิจารณาความน่าเชื่อถือของบัญชีผู้ใช้งานที่เผยแพร่ข่าวนั้น พิจารณาเนื้อหาของข่าวอย่างละเอียดรอบคอบโดยเปรียบเทียบเนื้อหากับข่าวจากแหล่งอื่นที่น่าเชื่อถือ ไม่อ่านเฉพาะเพียงพาดหัวข่าว ตรวจสอบแหล่งข่าวที่ถูกอ้างถึง และสอบถามผู้เชี่ยวชาญหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเข้าใจและสามารถยืนยันเนื้อหาที่ปรากฎในข่าวได้ กรมสุขภาพจิตขอเน้นย้ำแนวทาง“ตระหนักแต่ไม่ตระหนก” คือ ประชาชนต้อง“ตระหนัก”ถึงสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา โดยหมั่นล้างมือให้สะอาด ปิดปากและจมูกเวลาไอจาม หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีอาการ ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนเสมอ สวมอุปกรณ์ป้องกันเมื่อสัมผัสสัตว์ป่าหรือสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม แต่ “ไม่ตระหนก”จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ลดการเสพข่าวที่มาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือซึ่งอาจสร้างความตื่นตระหนก ไม่ส่งต่อและไม่แชร์ข้อความที่ดูเกินจริงและไม่ได้รับการยืนยัน และควรติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขทางช่องทางต่างๆอย่างใกล้ชิด หากมีข้อสงสัย สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากเกิดความเครียดหรือวิตกกังวลอย่างมาก สามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

กรมสุขภาพจิต แนะใช้หลัก 3 ประการ ดูแลสุขภาพกาย-ใจ ในช่วงภาวะวิกฤตไวรัสโคโรนา

      กรมสุขภาพจิต แนะใช้หลัก 3 ประการ คือ I am, I have และ I can ในการดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพใจ ช่วงภาวะวิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เน้นความตระหนักในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รู้วิธีจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีความรู้สามารถป้องกันตัวเองและสามารถแนะนำต่อผู้อื่นได้

    นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์ในขณะนี้เกี่ยวกับการพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือไวรัสปอดอักเสบอู่ฮั่น ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดมาจากประเทศจีน จนกระทั่งเข้ามาในประเทศไทยและอีกบางประเทศ ซึ่งมีข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ มากมายหลากหลายช่องทาง ทั้งข่าวจริง ข่าวปลอม ข่าวลือ โดยเฉพาะในช่องทางโซเชียลมีเดีย ทำให้ดูเสมือนว่า สถานการณ์เริ่มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความสับสน อลหม่าน ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก ตกใจ ตามมาด้วยความกลัว เครียด และวิตกกังวล กรมสุขภาพจิต จึงขอแนะนำหลักทางจิตวิทยา ในการปรับตัวช่วงภาวะวิกฤต เพื่อเราจะได้อยู่อย่างตระหนัก ไม่ตื่นตระหนก หากเรามีความตระหนก จะทำให้ขาดสติ ไม่สามารถจัดการอะไรได้ แต่ถ้าเรามีสติ จะทำให้เราเกิดความตระหนักในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สามารถจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้งสามารถป้องกันตัวเองและสามารถแนะนำต่อผู้อื่นได้ โดยประยุกต์ใช้หลัก 3 ประการ เพื่อดูแลสุขภาพกายและใจ ดังนี้

  1. I am คือ ตัวเรา พิจารณาโดยใช้สติว่า เราเองเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงดีหรือไม่ เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เช่น ชรา ป่วย มีโรคเรื้อรัง เป็นโรคที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เราทำงานหรือมีกิจวัตรประจำวันที่เสี่ยงกับโรคนี้หรือไม่ เราสามารถหาความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ได้หรือไม่ เรามีคนที่คอยช่วยเหลือเราหรือไม่
  2. I have คือ เรามีอะไรอยู่บ้าง เราอยู่ในประเทศที่มีการควบคุมโรคที่ดีมากประเทศหนึ่งของโลก เรามีการให้ข้อมูลที่เป็นหลักเชื่อถือได้จากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับโรคที่คล้ายกัน คือ เชื้อไวรัสโรคซาร์ส (SARS) และโรคเมอร์ส (MERS) ซึ่งประเทศไทยได้ผ่านเหตุการณ์นี้ ด้วยหลักการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข โดยประเทศไทยมีระบบควบคุม กักกัน แยกโรคที่ดี และมีการดำเนินงานตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีการให้ความรู้ในการดูแล ป้องกันตนเอง มีระบบการรักษาที่ดีมาก สำหรับในประเทศไทยยังไม่พบผู้เสียชีวิต
  3. I can คือ เราสามารถทำอะไรได้บ้าง เราเองต้องรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด แต่หากจำเป็นต้องเดินทางไป ควรต้องป้องกันตัวเอง โดยใส่หน้ากากอนามัย ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำทุกครั้ง ถ้าเราเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องนี้ดีแล้ว ก็สามารถจะแนะนำความรู้ต่อเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้ และที่สำคัญต้องติดตามข่าวสารที่เชื่อถือได้จากหน่วยงานราชการสม่ำเสมอ แต่ไม่ให้มากจนเกิดความเครียด แนะนำให้ฟังเช้า และเย็น ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่สร้างหรือแชร์ข่าวปลอม โดยให้ช่วยกันแก้ไข เพื่อตัวเราและสังคมจะก้าวผ่านเรื่องนี้ไปได้อีกครั้ง

      ทั้งนี้ เราต้อง “ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก” สังคมต้องการการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากเกิดความเครียดหรือวิตกกังวล สามารถโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมงได้เช่นเดียวกัน อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

สธ. เพิ่มการคัดกรองคนไทยที่ทำงานสัมผัส ใกล้ชิดกับคนจีน

      ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มการคัดกรองคนไทยที่มีอาชีพสัมผัสใกล้ชิดกับคนจีน อาทิ ไกด์ พนักงานโรงแรม คนขับรถแท็กซี่ หากมีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ให้โทรปรึกษาสายด่วน 1422 เพื่อเข้าระบบป้องกันควบคุมโรค

      ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เพื่อให้การเฝ้าระวังควบคุมป้องกัน มีความครอบคลุม กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มการคัดกรองคนไทยที่มีอาชีพทำงานสัมผัสใกล้ชิดกับคนจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย อาทิ ไกด์ พนักงานโรงแรม คนขับรถแท็กซี่ เจ้าหน้าที่สนามบิน ทำให้ช่วงนี้จำนวนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ต้องเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น โดยวานนี้ (29 มกราคม 2563) มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์รายใหม่ 44 ราย จนถึงวันนี้มีผู้ป่วยสะสม 202 ราย มีทั้งที่คัดกรองได้ที่ด่าน ขอเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยตนเองและได้รับแจ้งจากที่พัก โรงแรม มัคคุเทศก์ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก การเพิ่มจำนวนแสดงถึงประสิทธิภาพของการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันของไทย ทั้งนี้การที่จะประกาศว่าผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค เป็นผู้ป่วยยืนยัน จะประกอบด้วย 1. มีประวัติการเดินทางจากประเทศระบาด (จีน) 2. มีอาการระบบทางเดินหายใจ ไข้  ไอ จาม น้ำมูก 3. ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจาก 2 แห่ง ยืนยันตรงกัน 4. ผ่านการพิจารณาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 

       “ณ วันนี้ ยังไม่มีผู้ป่วยยืนยันเพิ่มเติม หากได้ผลการตรวจยืนยัน เราจะรีบแจ้งให้ทราบทันที ไม่มีปิดบังข้อมูล ซึ่งผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย เราได้ติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยทุกราย เข้ามาอยู่ในระบบตามมาตรฐานระดับสากล ประเทศไทยยังไม่พบการระบาด ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก ให้ติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ใช้ชีวิตประจำวันปกติ แต่ให้เพิ่มการระมัดระวัง ”

       นายแพทย์สุขุม กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้มีการบูรณาการการทำงาน จากบุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งทหาร ตำรวจ ช่วยให้การคัดกรองมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น คนจีนทุกคนที่เดินทางเข้าประเทศ ต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิ สิ่งสำคัญประชาชนควรปฏิบัติตัวเหมือนเป็นโรคหวัดทั่วไป คือต้องทำให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย โดยประชาชนทั่วไปแนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้า ซักทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ได้อีก ส่วนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่ใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ สวมให้ถูกวิธี นำด้านสีเขียวหรือด้านที่มีความมันไว้ด้านนอก

      ขณะนี้ ได้พัฒนาห้องปฏิบัติการรับรองเพิ่มจากเดิม 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลราชวิถี และห้องปฏิบัติการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพิ่มเติมจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทำให้ขณะนี้มีห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรอง 4 แห่ง นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ยังได้พัฒนาเครือข่ายศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่งทั่วประเทศ รองรับการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อปอดอักเสบจากโคโรนาไวรัส 2019 ในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง เป็นมาตรฐานเดียวกัน เชื่อถือได้ ไม่จำเป็นต้องส่งมายังส่วนกลางทั้งหมด

 

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมให้กำลังเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรค ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

          พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรค ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขอให้ประชาชนมั่นใจมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค เป็นไปตามหลักการสากล ขอความร่วมมือประชาชนติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข อย่าเชื่อ อย่าแชร์ ข่าวลวง

    ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ เยี่ยมชมการปฏิบัติงานด่านควบคุมโรคท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยเยี่ยมชมขั้นตอนการดำเนินงานคัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่ระบาดของโลก ด้วยเครื่องวัดไข้อัตโนมัติระบบอินฟราเรด (Infrared Thermo Scan) ร่วมกับการใช้ CCTV ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทำงาน 24 ชั่วโมง ที่คัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศทุกคน

    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขอให้ประชาชน ติดตามสถานการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะมีการแถลงสรุปเหตุการณ์ ประจำวันทุกวันอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญประชาชนควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข คือกินร้อน ช้อน กลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และออกกำลังกายให้สุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ หากปฏิบัติเป็นประจำก็สามารถช่วยลด ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่  2019

      “ด้านการจัดการกับข่าวลวง (Fake News) คนที่สร้างข่าวลวงไม่มีความรักชาติ สร้างความเดือดร้อน กดดันให้เจ้าหน้าที่คนทำงาน ประชาชนอย่าหลงเชื่อ ขอให้รับฟังการแถลงข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น” นายอนุทินกล่าว

     นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค รวมทั้งการรักษาพยาบาล ตามมาตรฐานโลก ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากจีน เข้ามาในระบบการรักษาของเรา ขณะนี้ มี 14 ราย รักษาหายกลับบ้านไปแล้ว 5 คน ที่เหลืออาการดี รอให้ตรวจไม่พบเชื้อก็จะอนุญาตกลับบ้าน ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ ขณะนี้เราได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ทหาร เข้ามาช่วยทำงาน แม้จะไม่ใช่บุคลากรด้านสาธารณสุข สิ่งที่เราจะดำเนินการต่อขอความร่วมมือประชาชน ช่วยดูแลรักษาความสะอาดบ้านเมือง พื้นที่สาธารณะ ซึ่งความร่วมมือจากประชาชน เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการป้องกันควบคุมโรค

 

อนุทิน บิณฑบาต ข่าวลือ ข่าวปลอม ทำสังคมสับสน ขอให้ฟังข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก

    รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอร้องสังคมหยุดส่งต่อข่าวลือ ข่าวปลอม ทำให้สังคมเกิดความตื่นกระหนก สับสน ช่วงสถานการณ์ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ขอให้ฟังข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก และให้กำลังใจแพทย์ พยาบาล ต่อสู้สถานการณ์เพื่อปกป้องสุขภาพคนไทย

    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงที่สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิต สุขภาพของคนไทย ขอความร่วมมือหยุดสร้างข่าว ส่งต่อข่าวลือ ข่าวปลอม ทำให้เกิดความสับสน ความตื่นตระหนกในสังคม  ทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความกดดันในการทำงาน การกระจายข่าวสามารถทำได้แต่ขอให้เป็นข่าวที่ถูกต้อง มีมูลความจริง ควรให้กำลังใจ แพทย์ พยาบาล ไม่ให้ท้อถอยสู้กับสถานการณ์และทำงานอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องสุขภาพคนไทย

     นายอนุทิน กล่าวต่อว่า โรคระบาด ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่สามารถบังคับการระบาดได้ สิ่งที่ทำได้คือเมื่อระบาดแล้วสามารถรับมือ นำผู้ติดเชื้อมารักษาให้หายและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ธรรมชาติของคนจะสร้างภูมิคุ้มกันมาสู้ เมื่อวงจรของเชื้อหมดไปตามอายุขัยจะกลายเป็นโรคประจำท้องถิ่น

    “กระทรวงสาธารณสุขจะแถลงสถานการณ์ให้ประชาชนทราบมากที่สุด ซึ่งจะเป็นวิธีหนึ่งที่แก้ข่าวปลอม ขอให้เชื่อถือข้อมูลของรัฐ รัฐโกหกใครไม่ได้ รัฐต้องพูดความจริงเท่านั้น และไม่มีเหตุผลอื่นนอกจากทำให้บ้านเมืองเกิดปกติสุขให้เร็วที่สุด” นายอนุทินกล่าว

 

นักระบาดวิทยาฮ่องกง มั่นใจไทยรับมือ “ไวรัสอู่ฮั่น” ได้ดี

     คณบดีแพทย์ฯ มหาวิทยาลัยฮ่องกงชี้จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยยังไม่มาก สะท้อนระบบเฝ้าระวังทำได้ดี ย้ำ “ข่าวปลอม” น่ากลัวไม่แพ้การระบาดของโรค

        วันที่ 30 ม.ค.63 ที่โรงแรมเซนทารา แอท เซนทรัลเวิลด์ นพ.กาเบรียล เหลียง (Gabriel Leung) คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง และผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ระหว่างการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี พ.ศ.2563 ว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากจีนแผ่นดินใหญ่ต้องทำก็คือ สร้างความมั่นใจให้ได้ว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้ามาในไทย อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะยังคงมีการเดินทางข้ามระหว่างประเทศต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีการปิดการเชื่อมต่อ

      “ผมได้บอกกับท่านรองนายกฯ ว่า หลังจากนี้ อาจมีการพบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศต่อไป สิ่งสำคัญก็คือ ต้องควบคุมการติดต่อ ไม่ให้มีการติดเชื้อต่อไปยังคนไทย หรือมีการติดเชื้อระหว่างคนสู่คนภายในประเทศ เพราะฉะนั้น ระบบการควบคุม - กักกันโรค ต้องทำต่อไป และต้องทำให้ดีที่สุด จากมาตรการขณะนี้ เชื่อว่าไทย สามารถทำได้ดี เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ยังถือว่าไม่มากนัก” นพ.กาเบรียลระบุ

      ทั้งนี้ นพ.กาเบรียล ได้เสนอแนะให้สร้างระบบตรวจผู้มีโอกาสติดเชื้อ และเข้มข้นขึ้นในการตรวจอาการผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ แม้ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ ก็ควรจะแยกตัวไว้กักกันโรค และตรวจหาเชื้อโคโรนาไวรัสอย่างต่อเนื่องทุกวัน

       “โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ต่างจากโรคซาร์สชัดเจน เพราะผู้ติดเชื้อซาร์ส จะไม่แพร่เชื้อต่อ จนกว่าจะพบไข้สูง และจะใช้เวลาฟักตัว 7 วัน หลังจากติดเชื้อ ถ้าโรคนี้เป็นเหมือนซาร์ส จะเป็นเรื่องง่ายในการควบคุม เพราะแพทย์จะรู้แน่นอน หากผู้ติดเชื้อรู้สึกว่าอาการไม่ดี แต่หากโคโรนาไวรัส 2019 เป็นเหมือนไข้หวัด จะควบคุมได้ยากมาก เพราะผู้ป่วยไม่ได้แสดงอาการที่ชัดเจน เมื่อใดก็ตามที่เขาเริ่มเจ็บคอ ก็หมายความว่า โรคนี้พร้อมจะแพร่เชื้อต่อแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในการควบคุมให้อยู่มือ เพราะฉะนั้น จึงต้องแยกห้องกักกัน - ควบคุมโรคให้มิดชิด และต้องตรวจเชื้อไวรัสอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน” นพ.กาเบรียลกล่าว

       คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ของคนทำเรื่องระบาดวิทยา มักจะเจอการระบาดเพียง 1 ครั้งในช่วงชีวิต แต่สำหรับเขาถือว่าโชคดี เพราะได้เจอมากถึง 5 ครั้งแล้ว เริ่มตั้งแต่โรคซาร์ส ในปี 2546 โรคไข้หวัดนก H5N1 ในปี 2547 โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ปี 2552 โรคไข้หวัดนก H7N9 ในเซี่ยงไฮ้และพื้นที่รอบ ๆ เมื่อปี 2556 และหากนับโรคโคโรนาไวรัส 2019 ก็ถือว่าเป็นครั้งที่ 5 แล้ว

       “อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับการเกิดโรคระบาดในอดีต ครั้งนี้ถือว่าดีกว่ามาก เพราะสามารถตรวจเชื้อได้ค่อนข้างเร็ว และสามารถลดจำนวนผู้ที่ป่วยหนักได้รวดเร็วกว่า ดีกว่า” นพ.กาเบรียลกล่าว

      นพ.กาเบรียล กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีอนุทิน ได้พูดอยู่คำหนึ่งว่า การต่อสู้กับโคโรนาไวรัส 2019 ไม่ได้มีศัตรูคือ “การระบาด” ของโรคเท่านั้น แต่ยังต้องสู้กับ “ข่าวปลอม” และโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้การควบคุมโรค เป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น และกลายเป็น “ความท้าทาย” ที่ควบคู่ไปกับการควบคุมการแพร่ระบาด

     สำหรับ คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป คือต้อง “ตื่นตัว” อยู่เสมอ เพราะการแพร่ระบาดสามารถเกิดขึ้นตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ปกป้องตัวเอง ไม่ให้อยู่ในภาวะเสี่ยงของการติดเชื้อ และทำใจให้สงบ นอกจากนี้ยังควร “มีสติ” ในการรับข้อมูลข่าวสาร ใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลทั้งจากสื่อ และจากโซเชียลมีเดีย รวมถึงเชื่อมั่นในกลุ่มคนที่อุทิศตัวตลอดชีวิต ในการทำให้ประเทศนี้ปลอดโรค

      “สิ่งที่ควรทำ อันดับแรกก็คือ ล้างมือสม่ำเสมอ และหากจะต้องไปในที่ที่ผู้คนพลุกพล่าน ก็ใส่หน้ากากอนามัย และที่สำคัญคือห้ามจับมือ ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าการระบาดของโรคจะสิ้นสุด” นพ.กาเบรียล กล่าว

 

สธ. เตรียมความพร้อมบุคลากรทางการแพทย์ฯ ทั่วประเทศ รับมือสถานการณ์โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

     กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานควบคุมโรคในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ เกิดความเข้าใจ เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยโรคดังกล่าว เป็นไปตามมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ

    นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า จากสถานการณ์ของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรคมีการเปลี่ยนแปลงและมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานหลักในการวางแผนรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศยกระดับการแจ้งเตือนโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นระดับ 3 พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่

     สำหรับ การเตรียมความพร้อมดังกล่าว ให้เป็นไปตามระบบมาตรฐานที่ใช้สำหรับโรคติดต่ออุบัติใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ในครั้งนี้กรมควบคุมโรค ได้จัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เพื่อสื่อสารแนวทางการสอบสวนผู้ป่วย (Patient under investigation : PUI) การดูแลรักษาผู้ป่วย และการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานควบคุมโรคในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ ให้เกิดความเข้าใจ เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสที่มาจากต่างประเทศ เพิ่มการเฝ้าระวังที่โรงพยาบาล สนับสนุนการเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ โดยครอบคลุมระบบบริการสาธารณสุขทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนแหล่งท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

      นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้รับผิดชอบงานควบคุมโรคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้อำนวยการ ผู้รับผิดชอบงานระบาดวิทยาและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินของสำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง รวมทั้งสิ้น 350 คน ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดประชุมวิชาการ เรื่อง โรคไวรัสตับอักเสบซี

     กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จัดประชุมวิชาการ เรื่อง HCV: from molecular virology to viral eradication โดยศาสตราจารย์ ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์  ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 สาขาการแพทย์ เป็นวิทยากร

     นายแพทย์สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ร่วมกับสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จัดงานประชุมวิชาการ เรื่อง HCV: from molecular virology to viral eradication โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ หัวหน้าภาควิชาโรคติดเชื้อ อณูไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก และหัวหน้าหน่วยไวรัสที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง สถาบันวิจัยมะเร็งแห่งเยอรมนี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ มีผลงานที่โดดเด่นคือการศึกษาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus หรือ HCV) นำไปสู่องค์ความรู้ในการพัฒนายาต้านไวรัสตับอักเสบซีรุ่นใหม่ ที่เรียกว่า ดีเอเอ (DAA : Direct Acting Antiviral) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง มีความจำเพาะและปลอดภัย สามารถรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรังให้หายได้ถึงร้อยละ 95 โดยมีผลข้างเคียงน้อยลง

      นอกจากนั้น กรมควบคุมโรค ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการด้านการป้องกันควบคุมโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ครั้งที่ 1/2563 คู่ขนานกับการประชุมดังกล่าว ซึ่งมีมติเห็นชอบต่อแนวทางการกำจัดการติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบซี และการทบทวนหลักเกณฑ์การรักษาด้วยยา Sofosbuvir/Velpatasvir เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาไวรัสตับอักเสบซี ได้มากขึ้น ซึ่งกรมควบคุมโรค และสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย ได้กำหนดแนวทางร่วมกัน เพื่อลดขั้นตอนการรักษา และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสุขภาพ

      นายแพทย์สมบัติ กล่าวอีกว่า ในวันเดียวกัน กรมควบคุมโรค และภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการวิจัยท้าทายไทย'คนไทยไม่เป็นไวรัสตับอักเสบ'โดยในแผนงาน'การกำจัดไวรัสตับอักเสบจากประเทศไทย' กรมควบคุมโรค ในฐานะหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการป้องกันควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบ และดำเนินงานอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในการป้องกันควบคุมไวรัสตับอักเสบมาอย่างต่อเนื่อง ได้ร่วมกันดำเนินโครงการวิจัยท้าทายไทย'คนไทย ไม่เป็นไวรัสตับอักเสบ' โดยคาดหวังว่า การวิจัยครั้งนี้จะสามารถได้ข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ และโมเดลที่สามารถขยายผลทั่วประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมาย กำจัดไวรัสตับอักเสบ ภายในปี พ.ศ. 2573 ต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!