- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Monday, 03 February 2020 20:16
- Hits: 397
หมอต่างชาติทึ่งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยสุดล้ำ พัฒนาไม่หยุดยั้ง
แพทย์พม่าประทับใจระบบอีรีเฟอร์รอล ลดภาระงานโรงพยาบาล ช่วยคนไข้สะดวก แพทย์แอฟริกาใต้เผยกำลังพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามรอยไทย ด้านแพทย์อินโดฯ ชมระบบหลักประกันสุขภาพไทยพัฒนาต่อเนื่องคงเส้นคงวา ระบุติดตามพัฒนาการมาตั้งแต่เริ่มโครงการ แม้จะเปลี่ยนกี่รัฐบาลก็ยังก้าวต่อไปอย่างต่อเนื่อง
ที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช คณะผู้เข้าร่วมประชุมการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2563 จำนวนกว่า 30 คนจากหลากหลายประเทศเดินทางไปศึกษาดูงาน แหล่งดูงานที่ 5 ด้านการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิที่มีเครือข่ายผู้ให้บริการทางสุขภาพที่เป็นคลินิกเอกชนร่วมทำงานเป็นเครือข่ายเดียวกันกับโรงพยาบาลรัฐ การดำเนินการระบบการส่งต่อผู้ป่วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Referral) และการใช้แอปพลิเคชันมือถือ BAH Connect เพิ่มความสะดวกแก่คนไข้ ในการเชื่อมโยงข้อมูลส่วนตัว การนัดหมายกับสถานพยาบาล และการส่งต่อในเครือข่าย
นายแพทย์ โบวี่ มาง เลียน (Dr.Bowi Mang Lian) จากหน่วยติดตามการดำเนินงานแผนงานสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา ประเทศพม่า กล่าวว่า สิ่งที่ประทับใจที่สุดในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทยคือ การที่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยมีความเชื่อมั่นตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะให้การดูแลสุขภาพของประชาชนไทยทุก ๆ คนที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมและระบบสวัสดิการการรักษพยาบาลข้าราชการได้ และก็พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้จริง ๆ
สำหรับ การพัฒนาระบบเครือข่ายการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิที่เกิดมาจากการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างโรงพยาบาลที่ให้บริการในระดับตติยภูมิอย่างโรงพยาบาลภูมิพลฯ และสถานพยาบาลปฐมภูมิต่าง ๆ ในเครือข่าย ก็เป็นสิ่งที่น่าประทับใจอย่างมากเช่นกัน เพราะถ้าหากว่าไม่สามารถสร้างระบบแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจกันนี้ได้ตั้งแต่ต้นแล้ว การพัฒนาเครือข่ายนี้ไม่มีทางจะสำเร็จได้เลย อีกทั้งพบว่าระบบเครือข่ายฯ นี้ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องมารอคิวพบแพทย์ที่โรงพยาบาลลงไปได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ และยิ่งเมื่อมีการนำระบบส่งต่อผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์และนำแอปพลิเคชันมือถือมาประยุกต์ใช้ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของเครือข่ายฯ ยิ่งพบว่าเป็นประโยชน์ ต่อทั้งตัวโรงพยาบาลเองที่สามารถลดภาระงานของบุคลากรได้ด้วยการลดทอนภาระทางงานเอกสาร ขณะที่คนไข้ก็สะดวกมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกล ๆ และเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ส่วนคลินิกในเครือข่ายก็ได้ประโยชน์จากระบบการส่งตัวแบบไม่ต้องใช้กระดาษนี้อย่างมากเช่นกัน
“นับว่าเป็นความสำเร็จในการสร้างการสื่อสาร 2 ทาง จริง ๆ แล้วก็ 3 ทางด้วยซ้ำไป ทั้งโรงพยาบาล คนไข้ และคลินิก ในเครือข่าย” นายแพทย์ โบวี่ มาง เลียน กล่าว และว่าหากระบบการส่งต่อแบบอีรีเฟอร์รอลนี้สามารถดำเนินการได้ทั้งระบบทั่วประเทศจะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในงานและความสะดวกสบายกับทุกฝ่ายเป็นอย่างยิ่ง
“ประเทศพม่าก็อยากจะพัฒนาระบบการส่งต่อให้ประสบความสำเร็จแบบนี้เช่นกัน แต่ด้วยยังไม่พร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ก็อาจจะเริ่มจากการนำแบบอย่างเครือข่ายฯ จากประเทศไทยไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาในการส่งต่อผู้ป่วยของตัวเอง โดยจะทำในลักษณะที่ใช้เอกสารที่เป็นกระดาษไปก่อน” นายแพทย์ โบวี่ มาง เลียน กล่าว
ด้านนายแพทย์ โทบิล มเบนกาชี (Dr.Thobile Mbengashe) จากกรมอนามัย ของจังหวัดอีสเทิร์นเคป ประเทศแอฟริกาใต้ ระบุว่า การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทยถือว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก ๆ สำหรับตน และถือว่าประเทศไทยเป็นตัวอย่างสำคัญในการไปให้ถึงจุดหมายเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย
“การที่ประเทศไทยสามารถทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ครอบคลุมประชากรเป้าหมายได้ถึง 99% เป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก ๆ และยิ่งไปกว่านั้นการที่ประเทศไทยซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเพียงระดับกลางสามารถสร้างผลลัพธ์ ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ดีกว่าอีกหลายประเทศที่มีรายได้เยอะกว่าก็น่าทึ่งมากด้วยเช่นกัน” นายแพทย์ โทบิล กล่าว
ความสำเร็จนี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สุงสุดได้ในด้านการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังจะดูได้จากที่ว่าประเทศไทยใช้งบประมาณด้านนี้คิดเป็นเพียงแค่ 4% ของจีดีพีเท่านั้น ทว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นสูงทั้งในด้าน คุณภาพของบริการ การเข้าถึงบริการ และอายุคาดเฉลี่ยของประชากร
“นับตั้งแต่เริ่มต้นมาในปี พ.ศ.2545 ประเทศไทยได้สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาด้วยความพยายามและการทำงานหนักและไม่ย่อท้อ เหมือนการสร้างบ้านด้วยอิฐทีละก้อน ๆ จนมาถึงวันนี้ได้” นายแพทย์ โทบิล กล่าว และว่า แอฟริกาใต้มีประชากรราว 56 ล้านคนและกำลังอยู่ในขั้นพัฒนาระบบประกันสุขภาพให้ได้เหมือนอย่างของประเทศไทยเช่นกัน
ขณะที่นายแพทย์ฮัสบูลละห์ ทาบรานี่ (Dr Hasbullah Thabrany) จากโครงการกิจกรรมการคลังสุขภาพ ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ตนได้ติดตามพัฒนาการเรื่องการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทยมาตั้งแต่เริ่มต้น จึงเห็นมาโดยตลอดถึงความมีสเถียรภาพของงาน และมีความคงเส้นคงวามาโดยตลอด ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไรก็ตาม
“ทุกปีที่มีการจัดการประชุม มีคนมาร่วมจากทั่วโลก ประเทศไทยและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของโครงการฯ โดยตลอด และมีนวัฒกรรมใหม่ ๆ ออกมาให้เห็นในทุก ๆ ปี จุดนี้คือเรื่องที่น่าทึ่ง เพราะเป็นเหมือนการให้คำมั่นไม่ใช่เฉพาะกับคนไทยแต่กับคนทั่วโลก ว่าระบบนี้จะพัฒนาต่อไปไม่หยุด ” นายแพทย์ฮัสบูลละห์ กล่าว
พลอากาศตรี ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ผู้อำนายการโรงพยาบาลภูมิพลฯ กล่าวว่าระบบเครือข่ายดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิช่วยให้โรงพยาบาลสามารถลดความคับคั่งของจำนวนคนไข้ที่แผนกผู้ป่วยนอกได้ จากเดิมวันละราว 600 คน ลดมาเหลือเพียงประมาณ 80 คนต่อวันโดยเฉลี่ยในปัจจุบัน ขณะที่ระบบอีรีเฟอร์รอลช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็นในส่วนของคนไข้ ซึ่งลดได้มากถึง 10 ล้านบาทต่อปี เมื่อคำนวณจากจำนวนการส่งต่อในเขตกรุงเทพมหานครทั้งหมด 1 ล้านครั้งในแต่ปีคูณด้วยค่าเดินทางคิดเป็นคนละ 100 บาทต่อครั้ง อีกทั้งยังประหยัดเวลาในการรอขั้นตอนทางเอกสารที่คิดรวม ๆ กันแล้วนับได้มากถึง 13.13 ปี ในแต่ละปี เมื่อคำนวณจากเวลาที่แต่ละคนต้องรอโดยเฉลี่ย 77 นาทีต่อครั้ง
หมอระดับโลกยก'หลักประกันสุขภาพ' ไทยเทียบชั้น “ญี่ปุ่น” ดีที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
ประธาน China Medical Board ชี้จุดแข็งระบบ “บัตรทอง” คือสามารถสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนได้ ยกนิ้วฝีมือหมอ - พยาบาล ทำให้ระบบมั่นคงมา 17 ปี
ในการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี พ.ศ.2563 ศ.นพ.ลินคอล์น เชน (Lincoln chen) ประธาน China Medical Board ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระหว่างประเทศ และอดีตศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้สัมภาษณ์ว่า จากการเข้าร่วมประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (Prince Mahidol Award Conference 2020) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ม.ค. – 2 ก.พ. 2563 ทำให้เห็นศักยภาพของไทย ในการดึงผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รัฐบาล เอ็นจีโอ มาร่วมกันสะท้อนมุมมองที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และยกระดับเรื่องนี้ เป็นประเด็นระดับโลก ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ “อำนาจอ่อน” หรือ Soft Power เรียงร้อยองคาพยพทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันวาระนี้ ให้เป็นที่พูดถึงทั่วโลกอย่างน่าสนใจ
สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทย ประสบความสำเร็จในการผลักดันวาระนี้
ศ.นพ.ลินคอล์น กล่าวว่า หนีไม่พ้นการที่ไทย สามารถเริ่มต้นนโยบาย “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ขึ้นได้เมื่อ 17 ปีก่อน ตั้งแต่ยังเป็นประเทศรายได้ปานกลาง - ต่ำ โดยเป็นตัวอย่างให้ทั่วโลกได้เห็นว่า ประเทศที่กำลังพัฒนา และไม่ได้ร่ำรวยมาก ก็สามารถเริ่มต้นนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบเดียวกันนี้ได้ โดยใช้งบประมาณไม่มากนัก และไทยยังเป็นตัวอย่างให้เห็นอีกว่า สามารถใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่า มีการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์มากขึ้นเรื่อย ๆ และไทย ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ให้เริ่มต้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของตัวเองขึ้น แบบเดียวกับไทย
“ในระดับโลก เมื่อพูดถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประสบความสำเร็จ คนมักจะพูดถึง 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และไทย โดยไทย แม้จะเริ่มต้นช้ากว่าประเทศอื่น ๆ แต่ก็สามารถสร้างระบบได้อย่างยั่งยืน และจากที่เดินทางมายังประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าหลังมีระบบบัตรทอง ระบบสุขภาพของไทย ก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทิ้งห่างประเทศเพื่อนบ้านรอบด้านไปไกล” ศ.นพ.ลินคอล์นกล่าว
ศ.นพ.ลินคอล์น กล่าวอีกว่า จุดแข็งของระบบสุขภาพไทย ได้แก่ การที่ไทย สร้างระบบผลิตแพทย์โดยยึดโยงกับพื้นที่ชนบท โดยกำหนดไว้ชัดเจนให้นักศึกษาแพทย์ที่เรียนจบต้องไปใช้ทุนในต่างจังหวัด 2-3 ปี ทำให้พวกเขาได้เห็นพื้นที่จริง และเห็นปัญหาของระบบสาธารณสุขจริง เพราะฉะนั้น เมื่อมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้น เพื่อยกระดับชีวิตคนในพื้นที่ชนบท แพทย์จึงพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้คนในชนบท ได้เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น
“นอกจากนี้ ระบบการผลิตพยาบาลของไทยเอง ภาครัฐก็ค่อนข้างให้ความสำคัญ โดยไทยมีจำนวนพยาบาลสัดส่วนเยอะเป็นลำดับต้น ๆ ของภูมิภาค และสามารถกระจายพยาบาลได้ดีกว่าประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน ขณะเดียวกัน สังคมไทยก็ค่อนข้างให้เกียรติ และให้เครดิตพยาบาลมากกว่าประเทศอื่น ๆ อาจเป็นเพราะสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระอัยยิกาของพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันเอง เคยเป็นพยาบาลมาก่อน” ศ.นพ.ลินคอล์นกล่าว
อย่างไรก็ตาม ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในไทย ยังคงมีความท้าทายสำคัญหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผู้สูงอายุ ปัญหาจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งโดยส่วนตัว เห็นว่าไทย จะต้องเตรียมรับมือโดยการฝึกบุคลากรทางการแพทย์ให้พร้อมต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ให้มากขึ้น และลงทุนกับระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยยึดชุมชนเป็นฐานในการจัดการปัญหา ซึ่งจากระบบสุขภาพที่แข็งแรง เชื่อว่าไทยจะสามารถผ่านไปได้ด้วยดี
ประธาน China Medical Board กล่าวอีกว่า เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals ที่ให้ทุกประเทศสมาชิกสหประชาชาติบรรลุเป้าหมาย มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายในปี 2573 ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา มีทิศทาง มีนโยบายไปอีกอย่าง คือมุ่งเน้นการเติบโตของภาคเอกชน แทนที่จะสร้างระบบสวัสดิการแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้คนเข้าถึงระบบบริการได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ถือเป็นโอกาสดี ที่องค์กรสหประชาชาติ หยิบยกประเด็นนี้มากำหนดเป็นเป้าหมาย เพราะทำให้ทุกองคาพยพ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศอย่าง ธนาคารโลก องค์การอนามัยโลก กำหนดทิศทางวาระระดับโลกมุ่งไปสู่การดูแลสุขภาพของประชากรทุกคนบนโลกนี้อย่างเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงบริการ ให้ได้มากที่สุด
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web