- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Monday, 23 December 2019 14:26
- Hits: 573
สธ. พร้อมดูแลประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่
กระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 เพิ่มเจ้าหน้าที่มากขึ้นจากเดิม 120-130 เปอร์เซ็นต์ ผู้ปฏิบัติการฉุกเฉิน 164,470 คน เข้มมาตรการตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ อสม.รณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน ร่วมด่านชุมชน ด่านครอบครัวใช้มาตรการกฎหมายดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุวิวาทในโรงพยาบาลทุกราย
ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดร.สาธิต ปิตเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีทุกกรม พล.ต.ท. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ผู้แทนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกันแถลงข่าว ‘สธ.ใส่ใจคนไทย เที่ยวปีใหม่ปลอดภัย’
นายอนุทินกล่าวว่า ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2563 กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์ ‘ขับรถดี มีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร’ ตามนโยบายรัฐบาลในการสร้างความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระชาติ โดยร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก จัดทำโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์” สนับสนุนมาตรการป้องปรามผู้ดื่มแล้วขับ ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ เน้นในกลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ และตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่กรณีที่เหตุนั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต เพื่อให้เกิดการดำเนินคดีกับผู้ที่ขับขี่รถในขณะเมาสุราทุกราย
เนื่องจากสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา เกือบครึ่งมาจากการดื่มแล้วขับ ผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด (50 mg%) สูงถึงร้อยละ 58 พบเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 20 mg% สูงถึงร้อยละ 44 และเข้มข้นการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ให้ความสำคัญกับการไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้ที่มีอาการเมาสุรา และการไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กฎหมายกำหนด รวมให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น การตั้งด่านชุมชน ด่านครอบครัว
นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับการศูนย์Emergency Operation Center : EOC) ที่ส่วนกลางและระดับจังหวัด เป็นศูนย์ประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมความพร้อมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMS) ของโรงพยาบาลและเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทุกระดับ มีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 8,336 หน่วย รถปฏิบัติการฉุกเฉิน 21,878 คัน และผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินรวม 164,470 คน เพิ่มบุคลากรมากขึ้นจากเดิม 120-130 เปอร์เซ็นต์ เตรียมพร้อมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู อุปกรณ์ต่างๆ ระบบส่งต่อ รวมทั้งจัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ/ จุดบริการอยู่ห่างกันมาก กรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)
“ช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปี บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขได้อุทิศตน ทุ่มเท และเต็มใจทำงานให้ประชาชน วันหยุดที่คนส่วนใหญ่หยุด เจ้าหน้าที่ได้เสียสละทำงานรับปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น ขอให้ประชาชนช่วยกันลดอุบัติเหตุ ดื่มไม่ขับ ขับขี่ตามกฎจราจร”นายอนุทินกล่าว
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อสม.ล้านคนเป็นผู้ที่อยู่ในชุมชน ใกล้ชิดประชาชน จะรู้พื้นที่ที่มีจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง สภาพถนน และกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในแต่ละบ้าน จะช่วยรณรงค์ลดอุบัติเหตุให้คนในครอบครัวและชุมชน ดื่มไม่ขับ สวมหมวกกันน็อค ไม่ขับรถเร็ว ให้ความรู้แบบเข้าถึงทุกบ้าน ใช้หอกระจายข่าวเผยแพร่ข้อมูล เรื่องการห้ามขายสุราในสถานที่และเวลาห้ามขาย ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และเป็นแบบอย่างที่ดีเรื่องพฤติกรรมความปลอดภัย
ด้านนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วง 7 วันเทศกาลปีใหม่ปีที่ผ่านมา มีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาล 28,297 ราย เฉลี่ยวันละ 4,042 ราย เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติร้อยละ 57.40 ซึ่งช่วงปกติเฉลี่ยวันละ 2,320 ราย สำหรับการป้องกันเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาล ได้ให้ทุกจังหวัดประสานตำรวจท้องที่ตรวจตราความเรียบร้อยเป็นระยะๆ และให้รีบแจ้งเหตุกรณีมีผู้เข้ารับการรักษาจากเหตุทะเลาะวิวาท ส่งเจ้าหน้าที่และกำลังพลให้เพียงพอต่อการระงับเหตุ เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน โดยจะดำเนินคดีผู้ก่อเหตุขั้นเด็ดขาดเพื่อเป็นตัวอย่างแก่สังคม
ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ตั้งแต่ช่วงก่อนเทศกาล และร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมายตลอดช่วงเทศกาลโดยเฉพาะการขายสุราให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้ที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ การขายสุราในเวลาที่ห้ามขาย คือหลัง 24.00 - 11.00 น. และ 14.00 - 17.00 น. การเร่ขาย การโฆษณาหรือส่งเสริมการขาย (ลด แลก แจก แถม) ห้ามดื่มและจำหน่ายในบริเวณกำหนดเช่น ปั๊มน้ำมัน ทางเท้า วัด สถานที่ราชการ โรงเรียน เป็นต้น
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุและ ผู้ขับขี่บาดเจ็บรุนแรงไม่สามารถเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจได้ เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลจะทำการเจาะเลือด และส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไปยังห้องปฏิบัติการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และส่วนภูมิภาคที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จังหวัดพิษณุโลก นครสวรรค์ สมุทรสงคราม ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี สงขลา และตรัง ซึ่งควรส่งภายใน 4 ชั่วโมง เพื่อได้ค่าที่ใกล้เคียงกับการเกิดอุบัติเหตุ
โดยทำการตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่อง GAS Chromatography (GC/GC Headspace) ให้ผลที่เที่ยงตรงและแม่นยำ ได้รับการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO 15189 สำหรับช่วง 7 วันอันตรายจะดำเนินการตรวจวิเคราะห์ให้แล้วเสร็จภายใน 48 ชั่วโมง
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web